Infographic


Content by

Suphisara Isaranugul

Civic Tech #ถ้าอยากเห็นการเมืองดี นี่คือสิ่งที่คุณทำได้!

“เราอยู่ในประเทศที่อยากได้อะไรก็ต้องทำกันเอง” เป็นประโยคที่ชาว ELECT พูดเล่น (แต่คิดจริง) กันอยู่บ่อยๆ ส่วนหนึ่งก็คือเรารอรัฐไม่ไหว และบ่นอย่างเดียวก็ดูไม่ได้อะไรขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งก็คือเราตระหนักว่า ในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศ เราเองก็มีส่วนต้องช่วยลงมือเพื่อสร้างสังคมและประเทศในแบบที่เราอยากให้เป็น 

เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดคำถามกันว่า “ทำไมประเทศนี้ไม่มี … สักที (วะ) ?” เมื่อนั้น เรามักจะจบด้วยการลองลงมือทำ และนั่นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น ‘Civic Tech’ หรือเทคโนโลยีภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแบบของ ELECT


ว่าแต่.. Civic Tech คืออะไรนะ? ถ้าเราไม่ใช่คนสาย Tech เราทำได้ด้วยหรอ? มีโปรเจกต์แบบไหนบ้าง? แล้วมันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม? มา! จะเล่าให้ฟัง และอยากชวนเปลี่ยนคำบ่นคำด่า พาความโกรธ
ความคับข้องใจ มาเป็นพลังช่วยกันคิดช่วยกันทำในงาน #ACTkathon2021 งานที่ทีม ELECT เองก็ขอแวะไปช่วยทุกคนคิดด้วย 

ดูรายละเอียดและสมัครได้ถึง 5 ก.ค. 64 ที่นี่เลย 👉🏻 https://actkathon.actai.co

ปล. เราอยากให้มี Civic Tech เยอะๆ ในประเทศนี้ มาช่วยสร้างกันนะ (ตอนนี้ทั้งเหงา ทั้งทำงานไม่ทันด้วยจ้า)

Civic Tech คืออะไร?

‘Civic Technology’ คือเทคโนโลยีที่ ‘ประชาชน’ พัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อสร้าง ‘การมีส่วนร่วม’ ของประชาชนในการทำงานของรัฐ โดยสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 3 ระดับ

  • ระดับ #1 คือการใช้เทคโนโลยีเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นได้ง่าย สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ หรือใช้ประกอบตัดสินใจเลือกบางอย่างได้อย่างถูกต้อง
  • ระดับ #2 คือการสร้างแพลตฟอร์ม/พื้นที่ที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งข้อมูล เพื่อให้นำไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพของรัฐได้
  • ระดับ#3 คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของรัฐ อย่างการร่วมโหวตนโยบาย การตัดสินผลจัดซื้อจัดจ้าง หรือการออกกฎหมายต่างๆ

เมื่อ “รัฐมีหน้าที่รับฟังความเห็นของประชาชน” เพื่อนำไปแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ตรงจุด เทคโนโลยีจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นได้ และกิจกรรมอย่าง ‘Hackathon’ ที่มีการระดมสมองเพื่อใช้เทคโนโลยีสร้างหาทางออกให้กับปัญหา หลายครั้งก็เป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Civic Tech ที่น่าสนใจ

ถึงตรงนี้.. หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าประชาชนต้องการ ‘การมีส่วนร่วม’ เราต้องลงมือทำกันเองขนาดนี้เลยเหรอ? คำตอบคือใช่! แม้รัฐจะมีทรัพยากรและหน้าที่จากภาษีที่เราจ่ายมากแค่ไหน แต่ตราบใดที่ประเทศเป็นของเรา ไม่ใช่ของรัฐ หน้าที่ในการลงมือทำเพื่อสร้างสังคมและประเทศแบบที่เราฝัน ส่วนหนึ่งก็ยังเป็นหน้าที่ของ ‘ประชาชน’ อยู่ด้วย

ปล. เคล็ดลับ Hackathon อย่างหนึ่งที่หลายๆ ประเทศบอกคือ มันไม่ใช่เรื่องของโปรแกรมเมอร์หรือคนสายเทคฯ เท่านั้น แต่ Hackathon ที่มีประชาชนที่สนใจ มีภาคประชาสังคม นักธุรกิจ เจ้าของทุน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการมาร่วมด้วย จะช่วยให้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมา มีโอกาสตอบโจทย์ ตรงใจ และถูกเอาไปใช้งานจริงได้มากขึ้น

เทรนด์ของ Civic Tech เป็นแบบไหน? มีอะไรน่าสนใจบ้าง?

The Impacts of Civic Technology Conference (TICTeC) ที่จัดขึ้นเพื่ออัพเดทความเป็นไปในวงการ Civic Tech ทุกปีนั้น เคยมีการวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดขึ้น รวมถึงวิเคราะห์เทรนด์ของโปรเจกต์ Civc Tech ทั่วโลกพบว่า

  • 2000s เป็นทศวรรษแห่งการเริ่มต้นของ Civic Tech แม้จะมีโปรเจกต์ยิบๆ ย่อยๆ มาก่อนหน้านั้น แต่ในช่วงปีนั้น เราได้เห็นตัวอย่างของการทดลองใช้เทคโนโลยีสร้างเป็นเครื่องมือแบบใหม่ๆตัวอย่างโปรเจกต์ที่น่าสนใจในยุคบุกเบิก เช่น
    • TheyWorkForYou (2004) แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรในสหราชอาณาจักร ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐบาลและรัฐสภาเข้าถึงและเข้าใจง่ายขึ้น พร้อมสร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและติดต่อสมาชิกรัฐสภาได้ง่ายขึ้น
    • Sunlight Foundation (2006) องค์กรไม่แสวงหากำไรใน US ที่ได้แรงบันดาลใจจาก TheyWorkForYou แล้วสร้างแพลตฟอร์มคล้ายๆ กันอย่าง OpenCongress และ Congresspedia พร้อมโปรเจกต์สนุกๆ อีกมากมาย เช่น Politwoops รวมทวิตที่นักการเมืองลบทิ้ง น่าเสียดายที่ปิดตัวลงไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา
    • Ushahidi (2007) แพลตฟอร์ม Crowdsourcing ที่เกิดขึ้นตอนที่การเลือกตั้งในเคนย่าวุ่นวายและรัฐล้มเหลวในการสื่อสาร จนพัฒนามาเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้จับตาการเลือกตั้งหรือจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤตได้
    • Code for America (2009) โปรแกรมเฟ้นหาคนมีความสามารถไปทำงานให้กับรัฐ เพื่อเป้าหมายที่ว่าจะช่วยพัฒนาบริการภาครัฐให้ตอบโจทย์โดนใจประชาชนได้อย่างไร และนั่นนำไปสู่การเกิด Barcamp อีกมากมายตามมาในปีนั้น
  • 2013 เป็นปีที่เรียกได้ว่าเกิด ‘Big Bang Moment’ ของวงการ Civic Tech เมื่อมีรายงานของ Knight Foundation ออกมา (https://knightfoundation.org/features/civictech) ว่ามีการลงทุนหรือการขยายตัวของวงการนี้ที่ไหนบ้าง ทำให้คำว่า ‘Civic’ เริ่มใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นในบริษัทเทคโนโลยีเพื่อสังคม เกิดคอมมูนิตี้มากมายตามมา และใช้เวลาพัฒนากันราว 2-3 ปีทำให้ 2015-2016 เป็นปีที่มีโปรเจกต์เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด
  • แม้ในช่วงปี 2019-2020 อัตราการเติบโตของ Civic Tech จะชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจทำให้ขาดแคลนแหล่งเงินทุน แต่อัพเดทล่าสุดจากข้อมูลตอนนี้ มีโปรเจกต์ที่ยังดำเนินการอยู่ทั่วโลกทั้งสิ้น 1,577 โปรเจกต์
  • เทรนด์ที่มีการคาดการณ์ไว้สำหรับอนาคตของ Civic Tech คือเทคโนโลยีที่เอามาใช้ในโปรเจกต์จะล้ำขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดคือมีการใช้โดรน AR/VR บล็อกเชน หรือ AI มาช่วยในการทำโปรเจกต์แล้ว ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น
    • Holopolis HiFi (2017) โปรเจกต์จำลองด้วย HiFi VR สร้างโลกเสมือแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถล็อกอินเข้าไปรับรู้ประสบการณ์ ทดลองทางเลือกต่างๆ เพื่อร่วมออกแบบนโยบายสาธารณะ
    • Flying High (2018) โปรเจกต์ที่นักวิจัย นักเทคโนโลยี และรัฐบาลอังกฤษ ใช้โดรนเพื่อร่วมมือกันเก็บความต้องการของประชาชน เพื่อนำไปใช้ในออกแบบเมืองและนโยบายของเมือง ในแบบที่ประชาชนต้องการจริงๆ

อย่างไรก็ตาม แม้โลกจะผ่านยุคทองของ Civic Tech มาแล้ว แต่ความต้องการเทคโนโลยีของประชาชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อประชาชน ก็ยังมีอยู่มากในประเทศไทย และคงจะดีถ้าเรามาช่วยกันสร้าง Big Bang Moment ของ Civic Tech ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้บ้าง

Civic Tech ในไทย มีใครทำอะไรอยู่บ้าง?

Civic Tech ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่จริงๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศมาหลายสิบปีแล้ว (ช้าไหมล่ะเรา 🥺) ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น

  • ELECT (https://elect.in.th) ใช่ เราเอง! เป็นโปรเจ็กต์ที่ริเริ่มขึ้นมาตอนช่วงก่อนเลือกตั้ง 62 แรกเริ่มเดิมที เราต้องการที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยเราพยายามผสมผสานเทคโนโลยี งานสื่อสารเล่าเรื่อง และการออกแบบข้อมูล สร้างเป็น Data Visualization& Communication หรือเครื่องมือรูปแบบต่างๆ ให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพื่อให้การตัดสินใจเลือกหรือถกเถียงเกี่ยวกับผู้แทน นโยบาย หรือประเด็นทางการเมืองใดๆ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูล หลังการเลือกตั้งทั่วไป เราก็ได้หันมาโฟกัสกับประเด็นอื่นๆ อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา ประเด็นถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น เพราะคำว่า elect (v.) สำหรับ ELECT ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเลือกสังคมและการเมืองแบบที่เราอยากให้เป็นด้วย
  • Vote62 (https://vote62.com) เป็นอีกหนึ่ง Civic Tech ที่เกิดขึ้นมาในช่วงเลือกตั้ง 62 ทำหน้าที่เป็นช่องทางให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กกต. โดยเปิดให้ช่วยกันระดมข้อมูล (crowdsourcing) ภาพถ่ายกระดานนับคะแนนระดับหน่วยส่งเข้ามาในระบบ และช่วยกันตรวจดูความผิดปกติในภาพ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งครั้งนั้น หลังจากการเลือกตั้ง 62 เว็บไซต์นี้ยังเปิดให้สืบค้นคะแนนย้อนหลัง แถมในการเลือกตั้งซ่อมและการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 63-64 ก็ยังเปิดให้ประชาชนร่วมจับตาและตรวจสอบบันทึกการนับคะแนนที่ส่งเข้ามาด้วย
  • Cofact (cofact.org) Collaborative Fact Checking เดิมทีเกิดขึ้นจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวัน ที่เชื่อในเรื่องพลังของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร ด้วยการมีพื้นที่กลางในการให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริง ปัจจุบัน Cofact ได้นำมาปรับและเปิดใช้ในประเทศไทยแล้ว โดยเป็นการผสานการผลักดันการใช้เทคโนโลยีกับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นได้
  • ACT AI (https://actai.co) เครื่องมือที่องค์กรภาคประชาชนสร้างขึ้นมา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยมีฐานข้อมูล ระบบวิเคราะห์ และการแสดงผลชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกิจกรรมใหญ่ที่ดำเนินโดยรัฐ แต่ยากสำหรับประชาชนที่จะเข้าใจข้อมูลได้ และช่วยตรวจสอบเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้

โปรเจกต์เหล่านี้เป็นแค่ไอเดียเริ่มต้นให้เห็นว่า Civic Tech กำลังทำงานกับประเทศนี้อย่างไร หากใครรู้จักโปรเจกต์อื่นๆ เพิ่มเติม ช่วยไปเพิ่มข้อมูลใน https://civictech.guide ให้ชาว Civic Tech ทั่วโลกรับรู้กันหน่อย และจริงๆ แล้ว ยังมีประเด็นและปัญหาอีกมากที่ Civic Tech จะช่วยแก้ไขได้

เริ่มต้น Civic Tech วันนี้ ต้องเริ่มตรงไหน?

แม้ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการลงมือทำหรือสร้าง Civic Tech แต่ขอชี้เป้าให้กับใครที่สนใจจะทำอะไรแบบ ELECT หรือโปรเจกต์ต่างๆ ที่แนะนำไปแล้ว อยากให้เข้าไปดูในเว็บไซต์นี้ 👉🏻 https://civictech.guide

Civic Tech Field Guide เป็นเว็บไซต์ที่พยายามรวมเอาโปรเจกต์ Civic Tech จากทุกประเทศทั่วโลก เพื่อให้เห็นว่ามีใครทำอะไรอยู่และทำแบบไหน โดยแบ่งเป็น 6 หมวดหลักและ 72 ประเด็นย่อย เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา รวมถึงสามารถแบ่งปันเครื่องมือ ทรัพยากร ความรู้ ไปจนถึงความเป็นคอมมูนิตี้บางๆ อย่างการรวมอีเวนต์ งานสัมนา งานรางวัล และแหล่งทุนมาให้ เรียกได้ว่า ครบ จบหลักสูตรสำหรับคนที่คิดจะเข้าสู่วงการ

ที่น่าสนใจคือ เว็บไซต์นี้ยังมีส่วน ‘Graveyard’ ที่รวบรวมเอาโปรเจ็กต์ที่ลมหายตายจาก เพื่อเป็นความรู้และบทเรียนให้กับคนที่จะริเริ่มลองทำว่า แบบนี้ไม่เวิร์ค เพราะแบบนี้นะ ลองคิดให้ต่างดูไหม?

 

แต่นอกจากองค์ความรู้ต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องของวิธีคิด

ขั้นแรก.. อยากชวนให้ลองคิดว่า เราจะเปลี่ยนการบ่น 1 ประโยค (หรือ 1 ทวีต)  ให้เป็น 1 ทางออกได้ไหม เราจะแก้มันได้ด้วยวิธีไหนบ้าง คือการเยี่ยมชมปัญหาด้วยแนวคิดที่ว่าเราต้องหาทางแก้มัน นั่นเป็นวิธีคิดเริ่มแรกของการสร้าง Civic Tech 

ขั้นต่อมา.. ก็แค่หาเพื่อน แล้วลองทำ ไหนๆ ก็ไหนๆ ชวนเลยละกัน! มาลองคิดสร้างด้วยกันในงาน #ACTkathon2021 ดูรายละเอียดและสมัครได้ถึง 5 ก.ค. 64 ที่นี่เลย 👉🏻 https://actkathon.actai.co

อ้างอิง