Timeline
Summary
About
ศาลรัฐธรรมนูญ
กับการเมือง
นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญถูกจัดตั้งขึ้น มีหลายครั้งที่การวินิจฉัยของศาลสร้างผลลัพธ์สำคัญต่อการเมืองไทย และมีหลายเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการวินิจฉัยของศาลในการสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมือง นำมาซึ่งแนวโน้มของผลลัพธ์บางอย่างที่น่าสนใจ
ทำความรู้จัก “ศาลรัฐธรรมนูญกับการเมือง” ผ่านตัวอย่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์สำคัญทางการเมือง เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมือง และผลงานของตุลาการรัฐธรรมนูญแต่ละคน ว่ามีส่วนสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองอย่างไรบ้าง
นับตั้งแต่ถูกจัดตั้งเป็นองค์กรตุลาการตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการวินิจฉัยคดีไปมากกว่า 350 เรื่อง ซึ่งหลายเรื่องสร้างผลลัพธ์สำคัญต่อการเมืองไทย
ตัวอย่าง "22 การวินิจฉัย" ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์สำคัญต่อการเมืองไทย ถูกคัดเลือกมาเพื่อตีแผ่รายละเอียดต่าง ๆ เช่น การวินิจฉัยนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลใด ผลโหวตขององค์คณะตุลาการเป็นอย่างไร และสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองอย่างไร รวมถึงส่งผลดีหรือผลเสียต่อรัฐบาลที่มีอำนาจในยุคนั้น

สามารถแบ่งกลุ่มรัฐบาลได้ 2 กลุ่ม

รัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
(สมัยที่ 1 พ.ศ. 2544 - 2548
สมัยที่ 2 พ.ศ. 2548 - 2549)
รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
(พ.ศ. 2551)
รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
(พ.ศ. 2551)
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
(พ.ศ. 2554 - 2557)
รัฐบาลสายอำนาจเก่า และทหาร
รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์
รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์
(พ.ศ. 2549 - 2551)
รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
(พ.ศ. 2551 - 2554)
รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
(สมัยที่ 1 พ.ศ. 2557 - 2562
สมัยที่ 2 พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)
นอกจากนี้ ตัวอย่าง "6 เหตุการณ์สำคัญ" ถูกคัดเลือกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อการสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ
เริ่ม!

ยุคของรัฐบาลทักษิณ สมัยที่ 1

2540

11 ตุลาคม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับ

คำอธิบายเพิ่มเติม

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ให้อยู่ในฐานะองค์กรตุลาการตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คน รวมเป็นจำนวน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้พิพากษาศาลฎีกา 5 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 3 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ จะมีบทบาทการสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองในช่วงที่ฝั่งการเมืองสายทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจ ได้แก่ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 และสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2
2544

3 สิงหาคม

วินิจฉัยว่าทักษิณ ชินวัตร ไม่หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณี
"คดีซุกหุ้น"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 ส่งผลให้ทักษิณ ชินวัตร สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1 ของตนเองได้อย่างครบวาระ นำไปสู่การได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ด้วยชัยชนะอย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
2546

1 พฤษภาคม

วินิจฉัยว่า กฎหมายซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจแก่บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะ ไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2546 ส่งผลให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี แก่บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สามารถมีผลใช้บังคับได้
2549

16 กุมภาพันธ์

วินิจฉัยไม่รับคำร้องของ 28 สว. ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2549 ซึ่งด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากที่ว่า คำร้องไม่ชัดเจนในประเด็นแห่งคดี ส่งผลให้ทักษิณ ชินวัตร รอดพ้นการหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
2549

25 เมษายน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษา ในวาระถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549

คำอธิบายเพิ่มเติม

พระราชดำรัสส่วนหนึ่งที่มีใจความว่า “ต้องขอร้องฝ่ายศาลให้ช่วยกันเถิด เวลานี้ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา และศาลอื่นๆ ประชาชนบอกว่า ศาลดียังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ เพราะได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณากฎหมายที่ต้องศึกษาดีๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้”

ซึ่งอาจถือเป็นหนึ่งใน "จุดเปลี่ยน" ของศาลรัฐธรรมนูญในการสร้างผลลัพธ์ทางการเมือง ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน
2549

8 พฤษภาคม

วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นโมฆะ

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้คือหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ส่งผลให้การเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยกำลังได้เปรียบ กลายเป็นโมฆะ และต้องรอจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยในท้ายที่สุด การเลือกตั้งก็ไม่สามารถจัดขึ้นใหม่ได้ เพราะเกิดการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ขึ้นเสียก่อน
2549

19 กันยายน

คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหาร

คำอธิบายเพิ่มเติม

การรัฐประหารครั้งนี้ นำไปสู่การยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 และจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา ด้วยผลแห่งมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ จะมีบทบาทในการสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นรัฐบาลจากฝั่งการเมืองสายอำนาจเก่า และทหาร
2550

30 พฤษภาคม

วินิจฉัยยกคำร้องที่ขอให้ศาลสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้คือหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1-2/2550 ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งประกาศใช้โดยคณะรัฐประหาร ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการถูกยุบพรรคด้วยสาเหตุตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
2550

30 พฤษภาคม

วินิจฉัยให้มีคําสั่งยุบพรรคไทยรักไทย จากกรณี
"จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้คือหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งประกาศใช้โดยคณะรัฐประหาร ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบด้วยสาเหตุตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541

และในคำวินิจฉัยเดียวกัน คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังได้มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ซึ่งเป็นประกาศจากคณะรัฐประหารที่สร้างผลย้อนหลังอันเป็นโทษอีกด้วย
2550

24 สิงหาคม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีผลใช้บังคับ

คำอธิบายเพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญกลับมาในฐานะองค์กรตุลาการตามรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน รวม 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง จำนวน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง จำนวน 2 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ จะมีบทบาทการสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองในช่วงที่ฝั่งการเมืองสายทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจ ได้แก่ สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงในช่วงที่ฝั่งการเมืองสายอำนาจเก่า และทหาร มีอำนาจ ได้แก่ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
2551

9 กันยายน

วินิจฉัยให้สมัคร สุนทรเวช หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณี
"เป็นพิธีกรรายการทีวี"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 ทำให้สมัคร สุนทรเวช หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียงเพราะการทำหน้าที่พิธีกรรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ให้กับบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เข้านิยาม "ลูกจ้าง" ตามการตีความมาตรา 267 ของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยที่มองว่า นิยามของคำว่า "ลูกจ้าง" ในมาตรา 267 ต้องเป็นไปตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
2551

2 ธันวาคม

วินิจฉัยให้มีคําสั่งยุบพรรคพลังประชาชน จากกรณี "ทุจริตการเลือกตั้ง"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้คือหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2551 ส่งผลให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบด้วยสาเหตุฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550

และในคำวินิจฉัยเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน รวมจำนวน 37 คน เป็นระยะเวลา 5 ปีอีกด้วย ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ส่งผลให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2553

29 พฤศจิกายน

วินิจฉัยยกคำร้องที่ขอให้ศาลสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2553 ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการถูกยุบพรรค ด้วยสาเหตุการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาท อย่างผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2553

9 ธันวาคม

วินิจฉัยยกคำร้องที่ขอให้ศาลสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2553 ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการถูกยุบพรรค ด้วยสาเหตุการรับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 258 ล้านบาท เนื่องจากตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2556

20 พฤศจิกายน

วินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15 - 18/2556 ส่งผลให้ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า เป็นกระบวนการที่ขัดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
2557

12 มีนาคม

วินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ตกไป

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 ส่งผลให้ความพยายามในการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... เพื่อหางบประมาณในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากตุลาการทั้งหมดวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายนี้มีข้อความอันเป็นสาระสำคัญที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
2557

21 มีนาคม

วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เป็นโมฆะ

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากที่ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียว โดยสาเหตุก็มาจากการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน และขัดขวางการเปิดหน่วยเลือกตั้งในหลายท้องที่
2557

7 พฤษภาคม

วินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณี
"โยกย้ายข้าราชการ"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้คือหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยที่ว่า การใช้อำนาจโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ให้พ้นจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และในคำวินิจฉัยเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าว สิ้นสุดลง ด้วยเช่นกัน
2557

22 พฤษภาคม

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร

คำอธิบายเพิ่มเติม

การรัฐประหารครั้งนี้ นำไปสู่การออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2557 เพื่อให้มีการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ว่างตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งทำให้ได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมา 2 คน ด้วยการคัดเลือกและรับรองโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 24/2560 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุครบกำหนดวาระ 9 ปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ

ซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคัดเลือกและต่ออายุนี้ จะมีบทบาทการสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองในช่วงที่ฝั่งการเมืองสายอำนาจเก่า และทหาร มีอำนาจ ได้แก่ สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 1 และสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2
2559

29 มิถุนายน

วินิจฉัยให้มาตรา 61 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2559 ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าว ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกลั่นแกล้งและปิดปากประชาชน ไม่ให้แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ได้อย่างเสรี ซึ่งล้วนเป็นการวางกลไกและกระบวนการเพื่อการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1 ซึ่งมาจากการทำรัฐประหาร
2560

6 เมษายน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับ

คำอธิบายเพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ที่ตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 2 คน

ซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่ได้รับการคัดเลือกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเข้ามาร่วมมีบทบาทการสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองในช่วงที่ฝั่งการเมืองสายอำนาจเก่า และทหาร มีอำนาจ ได้แก่ สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2
2562

7 มีนาคม

วินิจฉัยให้มีคําสั่งมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากกรณี "เสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้คือหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยว่า การเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560

และในคำวินิจฉัยเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีมติ 6 ต่อ 3 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเป็นระยะเวลา 10 ปี (โดยที่ตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ) รวมถึงมีมติเอกฉันท์ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคห้ามจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคพรรคอื่น หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี

การวินิจฉัยครั้งนี้ส่งผลให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ สร้างความเสียหายให้แก่พรรคการเมืองสายทักษิณ ชินวัตร ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นอย่างมาก
2562

8 พฤษภาคม

วินิจฉัยว่า สูตรคำนวณ สส. ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2562 ส่งผลให้สูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้ในการคำนวณผลการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 สามารถใช้ได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งสร้างผลสนับสนุนให้กับการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
2562

18 กันยายน

วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณี "ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช."

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2562 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยที่ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เพราะเป็นตำแหน่งที่ได้มาจากการทำรัฐประหาร ซึ่งการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่อง และถือเป็นการใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ อีกทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานใด และมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดพ้นการหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2562

20 พฤศจิกายน

วินิจฉัยให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลุดจากตำแหน่ง สส. จากกรณี "คดีถือหุ้นสื่อ"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากที่ว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วีลัค-มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หลุดจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2563

21 กุมภาพันธ์

วินิจฉัยให้มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี
"กู้ยืมเงินหัวหน้าพรรค"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้คือหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้นโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากที่ว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 191.2 ล้านบาท จากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นการกระทำอันฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

และในคำวินิจฉัยเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีมติเสียงข้างมาก 5 เสียง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี (โดยที่ตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนอีก 2 เสียง ไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้) รวมถึงมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคห้ามจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคพรรคอื่น หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี

การวินิจฉัยครั้งนี้ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ส่งผลเสียต่อฝ่ายค้านของสภาผู้แทนราษฎร และทำให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กุมความได้เปรียบในสภาผู้แทนราษฎรได้มากยิ่งขึ้น
2563

2 ธันวาคม

วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณี "คดีบ้านพักหลวง"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 29/2563 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะการพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุราชการไปแล้ว เป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ. 2548 และไม่ถือเป็นพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดพ้นการหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
2564

5 พฤษภาคม

วินิจฉัยว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่หลุดจากตำแหน่ง สส. และรัฐมนตรี ในกรณี "คดียาเสพติดที่ออสเตรเลีย"

คำอธิบายเพิ่มเติม

การวินิจฉัยนี้เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 ด้วยเหตุผลประกอบการวินิจฉัยว่า การต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ถือเป็น "การต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด" ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ต้องเป็นคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ส่งผลให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า นักการเมืองคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ รอดพ้นจากการหลุดตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลลงมติรายบุคคลของตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองเช่นกัน โดยคณะตุลาการแต่ละชุดก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป

ผลบวกต่อรัฐบาล

ผลลบต่อรัฐบาล

เหตุการณ์

ดูรายชื่อ
คดี
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
จากตัวอย่างข้อมูลทั้งหมด สะท้อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองหลายครั้งในรอบระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา และหลายเหตุการณ์สำคัญมีส่วนเชื่อมโยงกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ อย่างเช่น
1. การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าโอนอ่อนต่อรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตรที่มีอำนาจในเวลานั้นเกินไป หลายการวินิจฉัยสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองที่เป็นผลบวกกับรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร เช่น
วินิจฉัยให้ทักษิณ ชินวัตร รอดจากการหลุดตำแหน่ง 2 ครั้ง
วินิจฉัยให้กฎหมายที่ออกในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่ถูกขัดขวาง
2. พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องหน้าที่ของศาล เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549
ผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองจากศาลรัฐธรรมนูญต่อรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนแปลงไป เริ่มจาก
วินิจฉัยให้การเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยกำลังได้เปรียบ กลายเป็นโมฆะ
รวมถึงผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองจากคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญที่มารัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ซึ่ง
วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย แต่วินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
3. การกลับมาของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองที่เป็นผลบวกต่อรัฐบาลสายอำนาจเก่า และทหาร ที่มีอำนาจในเวลานั้น เช่น
วินิจฉัยให้พรรคประชาธิปัตย์ รอดจากการถูกยุบพรรค 2 ครั้ง
รวมถึงสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองที่เป็นผลลบต่อรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร ที่มีอำนาจในช่วงนั้น เช่น
วินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน + สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วินิจฉัยให้สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วินิจฉัยให้กฎหมายที่จะออกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกขัดขวาง
วินิจฉัยให้การเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยกำลังได้เปรียบ กลายเป็นโมฆะ
4. การทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ด้วยการต่ออายุตุลาการรัฐธรรมนูญบางส่วน และการคัดเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญหน้าใหม่ ด้วยผลจากประกาศและคำสั่งของ คสช. รวมถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้แนวโน้มการสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองที่เป็นผลบวกต่อรัฐบาลสายอำนาจเก่า และทหาร ที่มีอำนาจในเวลานั้น ยังคงต่อเนื่อง เช่น
วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่
วินิจฉัยให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดจากการหลุดตำแหน่ง 2 ครั้ง
วินิจฉัยให้ธรรมนัส พรหมเผ่า รอดจากการหลุดตำแหน่ง
วินิจฉัยให้กฎหมายที่ออกในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ถูกขัดขวาง
จากผลลงมติรายบุคคลของตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งมีส่วนร่วมกับการวินิจฉัยที่สร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
(คลิกที่รูปเพื่อดูผลการลงมติ)
1. กลุ่ม "โหวตดีต่อรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร"
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 - 2549 มีตุลาการ 6 คน ลงมติทั้งหมดเป็นผลบวกต่อรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร ที่มีอำนาจในช่วงนั้น
2. กลุ่ม "โหวตดีต่อรัฐบาลสายอำนาจเก่า และทหาร"
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน สามารถแบ่งประเภทการลงมติของตุลาการ ได้ 3 ประเภท
2.1 มีตุลาการ 16 คน ลงมติทั้งหมดเป็นผลบวกต่อรัฐบาลสายอำนาจเก่า และทหาร ขณะมีอำนาจ
2.2 มีตุลาการ 1 คน ลงมติทั้งหมดเป็นผลลบต่อรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร ขณะมีอำนาจ
2.3 มีตุลาการ 4 คน ลงมติทั้งหมดเป็นผลบวกต่อรัฐบาลสายอำนาจเก่า และทหาร ขณะมีอำนาจ และเป็นผลลบต่อรัฐบาลสายทักษิณ ชินวัตร ขณะมีอำนาจ
ผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและการลงมติของตุลาการรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์หรือโทษทางการเมืองแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในประเทศไทย เหตุการณ์สำคัญบางอย่างส่งผลต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญในการสร้างผลลัพธ์สำคัญทางการเมืองด้วยเช่นกัน
button_up