Infographic


Content by

Suphisara Isaranugul

ELECT Open Data Award 2021 เปิดข้อมูลแบบนี้.. เอารางวัลไปเลยจ้า!

🏆 บนตู้โชว์มีโล่มีถ้วยรางวัลเต็มชั้นรึยังนะ? เห็นหน่วยงานอื่นให้รางวัลกันเยอะนัก ELECT ขอจัดให้บ้าง!

แต่บังเอิญไม่ได้เป็นผู้ทรงฯ อะไร นอกจากเป็นกลุ่มประชาชนผู้เสียภาษีและผู้ใช้ข้อมูล เราเลยขอสถาปนารางวัลเกียรติยศ “ELECT Open Data Award 2021” เป็นของแทนใจให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ทีม ELECT และ Punch Up อาศัยข้อมูลทำงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา


“การเปิดเผยข้อมูล” อย่างละเอียด ครบถ้วน และตรงไปตรงมา เป็นพื้นของพื้นฐานที่สุดแล้ว สำหรับการบริหารองค์กรหรือประเทศอย่างโปร่งใส และถ้าจะอัพเลเวลความน่ารักน่าหยิกแก้มขึ้นมาให้อีกนิด การเปิดเผยข้อมูลนั้นควรอยู่ใน “รูปแบบที่เหมาะสม” สามารถอ่านด้วยคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อให้เอาไปใช้งานต่อได้โดยไม่เป็นภาระ

แต่เนื่องจากเราเป็นเพียงประชาชนกลุ่มจิ๋วๆ ไม่กี่คนในประเทศนี้ เราเลยอยากชวนเพื่อนๆ ประชาชนคนอื่นๆ ที่เคยผ่านประสบการณ์หัวร้อน น้ำตาไหล หรือปลื้มปริ่มใจ ในการใช้หรือขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ ร่วมกันเสนอชื่อหน่วยงานที่สมควรได้รับ พร้อมชุดข้อมูลที่ใช้และเหตุผล ไว้ในคอมเมนต์ได้ (..อันไหนโดนใจ เดี๋ยวเราจะให้ช่างฝีมือของเราปั้นถ้วยรางวัลมาเติมให้ 😎)

สำหรับใครที่อยากได้ “รัฐเปิดเผย” หรืออยากค้นหาไอเดียว่าจะทำยังไงกับข้อมูลเปิดของรัฐดี มาเจอกันได้ที่ http://bit.ly/actelect สมัครได้ถึง 5 กรกฎาคม นี้เท่านั้นนะ!

 

#1 รางวัล (เกือบ) ป๊อปปูล่าร์ โหวต


หน่วยงาน : กรมควบคุมโรค 

ชุดข้อมูล : รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและสถารณการ์วัคซีนโควิด-19 

งานที่ใช้ข้อมูลนี้ : https://theactive.net/dataviz/covid19 และ https://www.facebook.com/hashtag/datacovid19series 

ตั้งแต่วันที่โควิด-19 มาเคาะประตูบ้าน ต้องบอกมีสายตาเปี่ยมความหวังบางๆ ส่งไปให้กรมควบคุมโรค เมื่อเห็นชุดข้อมูล “รายงานผู้ป่วยยืนยันประจำวัน” ที่เปิดผ่านเว็บไซต์ของ DGA (https://data.go.th/dataset/covid-19-daily) และเห็นว่ามีผู้นำไปพัฒนาเป็นสื่อหรือเครื่องมืออื่นๆ ต่ออีกมากมาย นั่นเพราะเป็นข้อมูลที่เปิดทั้งในรูปแบบที่ดูบนเว็บได้ ดาวน์โหลด csv ได้ และมี Open API ให้ด้วย แต่สายตาแห่งความหวังนั้นก็วูบลง เมื่อเราพยายามมองหาข้อมูล “วัคซีนโควิด-19” ที่พบเพียงรายงานวันต่อวัน (https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/pages/รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19) แถมเป็นไฟล์รูปภาพ ทำให้ไม่เห็นข้อมูลทั้งภาพรวมและความต่อเนื่อง และเอามาใช้งานต่อได้ยากอีก ทีม ELECT จึงขอยกรางวัล ป๊อปปูล่าร์ โหวต ให้ แต่ดึงกลับครึ่งนึง โทษฐานที่ป๊อปไม่สุด!

 

#2 รางวัล คืนนิ้วล็อคให้ประชาชน


หน่วยงาน : รัฐสภาไทย

ชุดข้อมูล : บันทึกการประชุม, บันทึกการออกเสียงลงคะแนน, รายงานการประชุม

งานที่ใช้ข้อมูลนี้ : https://theyworkforus.elect.in.th และ https://elect.in.th/parliament-listening 

เรียนทั่นประธานที่เคารพ จุดนี้ขอไม่พิมพ์ยาว ต้องรักษานิ้วไว้กรอกข้อมูลของรัฐสภาที่เป็น PDF ลงตารางเพื่อนำไปใช้ในโลกดิจิทัล แต่ทีมงานอยากบอกว่าเป็นความปลื้มปริ่มที่ได้เห็นเว็บไซต์รัฐสภาโฉมใหม่ (https://web.parliament.go.th) แต่พอคลิกเข้าไปในส่วนที่ใช้งานบ่อยๆ คือส่วน ”บันทึกและรายงานการประชุม” รวมถึง “บันทึกการออกเสียงลงคะแนน” กลับพบหน้าตา PDF ที่คุ้นเคย รวมถึงข้อมูลที่อัพเดทล่าสุดเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว สิ่งที่ทีมงานทำมาตลอดและคงต้องทำต่อไป ก็คือการเปลี่ยนข้อมูลของรัฐสภาให้อยู่ในรูปแบบ Digital Format เพื่อให้เราและประชาชนคนอื่นตรวจสอบการทำงานของรัฐสภา หรือนำไปสร้างเครื่องมืออื่นๆ ต่อได้ ทั่นประธานที่เคารพ น้ำตาจะไหล.. ไม่รู้จะพูดอย่างไร เอาเป็นว่าขอมอบรางวัล “คืนนิ้วล็อคให้ประชาชน” ไว้ให้แล้วกัน!

 

#3 รางวัล 94% ฟอร์เอฟเว่อออออออร์


หน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ชุดข้อมูล : ข้อมูลการแบ่งเขตการเลือกตั้ง 2550-2562 และข้อมูลผลการเลือกตั้ง 2562

งานที่ใช้ข้อมูลนี้  https://past-election-map.elect.in.th , https://elect.thematter.co 

เรียกได้ว่าเป็นคู่สร้างคู่สมกับคนทำข้อมูลเลือกตั้ง นับตั้งแต่งานแรกๆ ของ ELECT ที่ทำแผนที่รายงานผลการเลือกตั้งผ่านข้อมูลจากระบบ Rapid Report เล่นมาให้ความหวังเราด้วยการส่งข้อมูลผ่าน API แต่แล้วก็หักอกกันแบบน่าเจ็บใจ ด้วยการหยุดส่งคะแนนรายหน่วยที่ 94% และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เปิดเผย (อยากได้ ไปขอรายหน่วยเอาเอง) 

อกหักซ้ำสอง ตอนคิดอยากช่วยลองทำ “แผนที่แบ่งเขตเลือกตั้งพร้อมผลคะแนนย้อนหลังของประเทศไทย” (เห็นยังไม่เคยมีใครทำ) แต่ต้องใช้เวลาร่วมปี ผ่านด่านการถอด PDF ของ กกต. ที่ประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (ratchakitcha.soc.go.th) ไปให้ได้ รวมถึงโทรถามส่วนที่ไม่เข้าใจกับผู้รับผิดชอบ ก่อนจะไม่ค่อยได้คำตอบอะไร (อ่านเพิ่มได้ใน https://elect.in.th/election-map-behind-the-scene) แถมข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหมด ยังใช้วิธีการเขียนบรรยายด้วยตัวอักษร เล่นเอาทีมทำข้อมูลต้องจินตนาการตามจนเมื่อยสมอง ถ้าพอมีอะไรให้ยังรักกันอยู่ได้ ก็สถิติการเลือกตตั้งที่เก็บไว้ในไฟล์ CSV (https://data.go.th/organization/election_commission_of_thailand) ว่าแต่.. ทำไมไม่ทำแบบนี้ให้หมดนะ 🤔 เพราะล่าสุด เลือกตั้งท้องถิ่น ก็ฟอร์ม PDF ดีไม่มีตก(https://www.ect.go.th/ect_th/news_all.php?cid=256) เหมือนจะรักแต่ไม่เต็มร้อย เหมือนจะให้แต่ไม่ให้แบบนี้ เอาไป.. รางวัล 94% ฟอร์เอฟเว่อออออออร์

#4 รางวัล ความหวังของหมู่บ้าน


หน่วยงาน : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ชุดข้อมูล : https://info.dla.go.th/onepage/info01.jsp 

งานที่ใช้ข้อมูลนี้ : https://elect.in.th/political-network 

ถ้าพูดถึงเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องบอกว่าเซอร์ไพรส์มากๆ ตอนที่พยายามค้นหาข้อมูลนักการเมืองท้องถิ่น แล้วไปเจอกับเว็บไซต์ฐานข้อมูลของ อปท. เดิมทีในลิงก์นี้ http://infov1.dla.go.th/public/surveyInfo.do (ซึ่งตอนนี้เข้าไม่ได้แล้ว) มีรายชื่อและรายละเอียดเกี่ยวการบริหารงานของหน่วยงาน อปท. ทั้งหมด ในช่วงปี 2555-2562 ล่าสุด หลังผ่านการเลือกตั้ง อบจ. และ อบต. แล้ว ก็มีการอัพเดทข้อมูลบนระบบข้อมูลกลาง อปท. ที่ดูใช้ง่ายและเข้าใจง่าย (แต่น่าเสียดายที่ไม่เก็บข้อมูลย้อนหลังไว้) แม้ตอนนี้ การดึงข้อมูลจากเว็บนี้ออกมาใช้อาจยังไม่ง่ายสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ทางเทคนิค เพราะยังไม่มีการจัดข้อมูลให้ดาวน์โหลดในรูปแบบ CSV หรือ Open API แต่เราก็คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าชื่นชม สำหรับความตั้งใจในการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงหวังว่าจะมีการอัพเดทข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ช่วยเป็นความหวังของหมู่บ้านเเราทีเถอะนะ!

 

#5 รางวัล น้อยใจ! น้อยใจ! น้อยใจ!

 

หน่วยงาน : คณะรัฐมนตรี

ชุดข้อมูล : https://resolution.soc.go.th และ https://www.thaigov.go.th 

งานที่ใช้ข้อมูลนี้ : coming soon

สารภาพความในใจตรงนี้เลยว่า นอกจากเป็นเอฟซีรัฐสภาแล้ว ยังเป็นเอฟซีรัฐบาลด้วยนะ 🤟เพราะตามดูตามอ่าน มติ ครม. อย่างต่อเนื่องมาตลอดสองปี ตอนแรกก็หลงดีใจอยู่หรอก ที่สำนักเลขาฯ มีหน้าเว็บให้ค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีด้วย (https://resolution.soc.go.th) อยากรู้เรื่องไหนก็เสิร์ชได้เลย แต่พออยากอ่านรายละเอียด กดไปเจอเอกสารราชการที่แค่ภาษาก็อ่านยากแล้ว ยังอยู่ในรูปแบบ PDF สแกน ที่ขอกด Ctrl + F เสิร์ชเฉพาะส่วนที่อยากรู้ก็ไม่ได้ น้อยใจนะเนี่ย.. น้อยใจ! แต่พลังติ่งไม่หยุดแค่นั้น ตามไปเจอเว็บของรัฐบาลไทย (https://www.thaigov.go.th) ที่มีสรุปประชุมแต่ละวีคมาให้ (ทำไมไม่รวมเป็นเว็บเดียวกันนะ น่าคิส) ก็ต้องมานั่งอ่านคำเข้าใจยากๆ งงๆ ว่า ขุ่นพี่คุยอะไรกันนะคะ? .. มันน่าน้อยใจไหมล่ะ! ความหวังสุดท้าย อ่านเองไม่ได้ รอฟังนายกฯ แถลงละกัน รู้เรื่องไหมล่ะ? อืมมมมมมมมมมมมมมม.. น้อยใจนะเนี่ย

ปล. รอชมผลงานของพวกเราจากความน้อยใจในฐานะติ่งรัฐบาลของเรา เร็วๆ นี้นะ (ขอเวลาอีกไม่นานนน)

 

#6 รางวัล วับๆ แวมๆ แห่งชาติ

 

หน่วยงาน : คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

ชุดข้อมูล : https://asset.nacc.go.th/dcs-app/disclosure.jsf 

งานที่ใช้ข้อมูลนี้ : https://theyworkforus.elect.in.th

อย่างหนึ่งที่ไม่เข้าใจเสมอมาและตลอดไป คือเรื่องของ “การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ ไม่เข้าใจต่อแรก คือของระยะเวลาการปิดประกาศบนเว็บไซต์ที่่ให้คงอยู่เพียง 180 วัน หลังจากนั้น ต้องทำหนังสือไปขอดูข้อมูลที่สำนักงาน (ซึ่งก็ไม่ได้รับประกันว่าจะให้ดู) ความไม่เข้าใจคือขุ่นพี่จะรีบปิดไปไหนคะ? หากผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นยังคงอยู่ในระบบการเมืองต่อไป เหตุใดจึงหยุดการเปิดพื้นที่ให้ตรวจสอบแค่เพียงระยะเวลานั้น ไม่เข้าใจต่อสอง คือเงื่อนไขที่รัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งบางคนไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จุดนี้ก็จะงงๆ ปนน่าคิสนะว่า เอ๊.. ทำไมคนนี้ไม่ต้องเปิดนะทำไม อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลที่มีเงื่อนไขและเต็มไปด้วยข้อยกเว้น ก็ไม่ต่างไปกับการไม่เปิดเผยข้อมูล เปิดๆ แบบปิดๆ ขนาดนี้ เอารางวัลนี้ไปเลยจ้า

 

#7 รางวัล อนาคต (ข้อมูล) ของชาติ

 

หน่วยงาน : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.)

ชุดข้อมูล : https://data.go.th 

ต้องบอกว่าหลายๆ ครั้งที่ทีมเราทดท้อใจกับการหาข้อมูลเพื่อเริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่ หรือต้องพูดเรื่อง Open Data ซ้ำๆ ในประเทศนี้ เว็บไซต์ Open Government Data ของ สพร. เป็นเหมือนความหวังเล็กๆ สำหรับพวกเราเสมอ เราได้นำข้อมูลหลายๆ ชุดที่เปิดในเว็บไซต์นี้ มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารประเด็นสังคมในหลายๆ งานที่เราทำ แม้ต้องบอกว่าชุดข้อมูลยังไม่เยอะมาก เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยงานทั้งหมดที่ประเทศเรามี รวมถึงข้อมูลหลายชุดอาจต้องการการปรับปรุง แต่ที่ดีที่ชอบ คืออย่างน้อยก็มีการคัดเลือกลักษณะของชุดข้อมูลที่เหมาะสมในการนำขึ้นเผยแพร่มาให้แล้ว (สพร. ชี้แจงไว้ด้วย อ่านได้ที่ https://data.go.th/pages/about-open-data) ไม่ใช่สักแต่ว่าเปิดเฉยๆ  ไม่เขียนยาว.. เดี๋ยวหาว่าอวย แต่เชื่อว่าสิ่งที่ สพร. ทำอยู่และทำต่อไปจนกลายเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐของประเทศได้จริง ความหวังที่เราจะมีรัฐบาลที่โปร่งใสก็คงค่อยๆ ชัดขึ้น (มั้ง) ยังไง.. ฝากอนาคต (ข้อมูล) ของชาติไว้ด้วย

 

เปิด.. เพื่อเปลี่ยน สำหรับเราทุกคน

รางวัลแทนใจเหล่านี้ เราปั้นขึ้นมาจากปลายเมาส์ เพื่ออยากให้ตั้งบนชั้นไว้เตือนใจพวกเราทุกคน ทั้งในฐานะคนทำงานภาครัฐและประชาชนว่า “ข้อมูลเปิด” (Open Data) เป็นสิ่งที่พวกเราต้องเรียกร้อง ทั้งเพื่อรัฐ เพื่อเรา และเพื่อประเทศ

GovLab เคยทำการศึกษาพลังของ Open Data ที่เปลี่ยนหลายๆ สิ่งบนโลกมาแล้ว โดยบอกว่า Open Data สามารถ..

  1. พัฒนาการทำงานภาครัฐ : การเปิดข้อมูล จริงๆ แล้วเป็นประโยชน์กับภาครัฐเอง เพราะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านความจริงใจและโปร่งใส รวมถึงหลายครั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามาช่วยพัฒนาบริการภาครัฐได้ ผ่านการแสดงความคิดเห็น หรือหาคนมาช่วยทำงานให้รัฐก็ยังได้ด้วย
  2. เพิ่มอำนาจให้ประชาชน : ข้อมูลเปิดทำให้ประชาชนสามารถเรียกร้องหรือถกเถียงสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น ตัดสินใจเลือกสิ่งต่างๆ ให้ชีวิตตนหรือสังคมรอบข้างบนพื้นฐานของข้อมูล ได้รับบทบาทและทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. สร้างโอกาสใหม่ให้สังคม : ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมา ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคประชาชน ช่วยคิดช่วยสร้างนวัตกรรมหรือเครื่องมือใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงอาจช่วยเพิ่มการจ้างงานได้
  4. แก้ปัญหาประเทศอย่างมีเหตุผล : ข้อมูลเปิดทำให้ประชาชนและผู้กำหนดนโยบายแก้ปัญหาและกำหนดมาตรการต่างๆ บนพื้นฐานของข้อมูลมากขึ้น มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่ให้ประเทศต้องเสียงบและเสียเวลากับสิ่งที่เปล่าประโยชน์

 

ดังนั้น ไม่ใช่แค่การเปิดเผยเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างเดียว แต่ “ข้อมูลเปิด” ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศไทย ‘เมคเซนส์’ และเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่าที่เป็นในวันนี้