Article


Content by

Surachai Kraipet

จาก .pdf สู่ Visualization : เบื้องหลังแผนที่เขตเลือกตั้งย้อนหลังของไทย

“แผนที่เขตเลือกตั้งย้อนหลังของไทย” data visualization ชิ้นล่าสุดจากทีมงาน ELECT ที่แสดงเขตเลือกตั้งพร้อมผลการเลือกตั้งทั้งประเทศ โดยย้อนหลังตามประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทยแบบแบ่งเขต 4 ครั้งล่าสุด (ปี 2562 ปี 2557 ปี 2554 และปี 2550) พร้อมลูกเล่นอย่างการแสดงข้อมูลรายจังหวัดโดยเปรียบเทียบตามการเลือกตั้งแต่ละปีได้อีก

 

ถึงแม้ข้อมูลชุดนี้จะลอยตัวบนโลกออนไลน์อยู่แล้ว แต่แน่นอนว่านี่เป็น visualization ชิ้นแรก ที่หยิบข้อมูลนี้มาเล่าให้เห็นเป็นภาพ เล่าด้วยความฝัน ความหวัง และความขับข้องใจต่อความสามารถของภาคราชการไทยในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

รพี สุวีรานนท์ (รพี) พิชญา โชนะโต (ทราย) และ ดลภาค สุวรรณปัญญา (โฟน) ส่วนหนึ่งของทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังของงานชิ้นนี้ได้ร่วมกันปลุกปั้นจนกลายเป็น “แผนที่เขตเลือกตั้งย้อนหลัง” อย่างที่เราได้เห็น ได้ใช้ประโยชน์ และแสดงถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Open Government Data ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในการเมืองไทย

ต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์ทีมงานบางส่วนที่จะช่วยฉายภาพให้เห็นเบื้องหลังการทำงาน ตั้งแต่เริ่มก่อตัวจนกลายเป็นชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์ ไปจนถึงคำบอกเล่าของพวกเขาถึงความรู้สึก และความหวังของพวกเขาที่มีกับงานชิ้นนี้

Q. ทำไมต้องเป็น ‘แผนที่เขตการเลือกตั้ง’ ทีมเห็น “อะไร” ถึงเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลชุดนี้?

 

คุณรพี: ตอนที่ทำโครงการ ELECT ช่วงแรก ๆ โครงการนี้เกิดมาเพื่ออยากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนตระหนักและมีความรู้เพื่อจะไปเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2562) เมื่อช่วงนั้นผ่านไป ภารกิจเรื่องการเลือกตั้งหรือที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่จบ เพราะจริง ๆ ก็มีข้อมูลที่คนยังไม่รู้หรือไม่ก็ลืมว่ามันสำคัญ อย่างเช่น ข้อมูลของกกต. หรือของหน่วยงานอื่น ๆ ที่มันเข้าถึงยาก ข้อมูลชุดหนึ่งก็คือผลการเลือกตั้ง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นข้อมูลที่ดีและสำคัญ คิดว่าทุกคนควรเข้าถึงได้

คุณโฟน: การเลือกตั้งที่ผ่านมา (ปี 2562) เห็นข่าวว่ามีพรรคหนึ่งออกมาบ่นว่าเขตเลือกตั้งมันเปลี่ยน แล้วก็รูปที่เขาเอามาให้ดูมันเป็นรูปภาพระบายสี ผมก็ตกใจว่า อ้าว ยังใช้ระบบระบายสีอยู่หรอ ไม่มีความแม่นยำเลย ก็เลยไปดูเมืองนอก ปรากฏว่าเมืองนอกก็มีประเด็นนี้เหมือนกัน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ในของโลกประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องที่ถ้าเกิดไม่มีการตรวจสอบก็ไม่มีใครรู้หรอกว่ามีสิ่งนี้ ก็คือการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม 

คุณทราย: งานนี้มีประเด็นที่อยากให้เห็นก็คือ ทำไมเลือกตั้ง 4 ครั้ง ต้องเป็น 4 แบบ ประเทศมันก็ประเทศเดิม คนมันก็ไม่ได้เพิ่มเยอะ ทำไมต้องมาทำแบบนี้บ่อย ๆ อยากให้เห็นว่าแบบเส้นมันเปลี่ยนไปทุกปีได้ยังไง เกิดอะไรขึ้น

 

Q. ขั้นตอนของงานนี้เป็นยังไง? เราสนุก รู้สึกท้าทาย หรือชอบงานชิ้นนี้ตรงไหน?

 

คุณโฟน: เราทำหน้าที่ในการแปลงข้อมูลจากไฟล์ pdf เป็นข้อความ กลายเป็นข้อมูลบนไฟล์ excel ที่สามารถจัดการได้ และนำข้อมูลจาก excel เข้าโปรแกรมเพื่อเปลี่ยนเป็นรูปร่างของพื้นที่ต่างๆ หากพื้นที่ไหนไม่มี ก็จะต้องเขียนโปรแกรมหาอีกทีนึง แล้วค่อยจัดกลุ่มตามเงื่อนไขและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง พอทำออกมา ก็พบว่ามีบางจังหวัดพื้นที่ไม่ครบบ้างหรือไม่ก็ทับซ้อนกัน นั่นเป็นเพราะมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องย้อนกลับไปที่ excel ของเราอีกครั้ง การแก้ไขข้อมูลเรื่องพื้นที่ใน excel ก็จะยากระดับนึง ยากต่อมาก็คือ ต่อให้เงื่อนไขถูกต้องหมดแล้ว ก็จะไปเจอเงื่อนไขที่ทับซ้อนกันเอง ขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด หรือบางเคส ผมก็ต้องโทรไปยืนยันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง ถามว่าสนุกไหม? จริง ๆ แล้วก็สนุกครับ มันก็ได้เห็นกระบวนการของข้อมูลแผนที่ว่าใครอยู่ตรงไหนของวงการนี้ แล้วมันยังไม่มีใครทำ

 

เมื่อขีดเส้นแผนที่ตามเอกสารการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ตาม กกต. ก็พบว่ามีหลายพื้นที่ที่เกิดการไม่ลงรอยพอดีกัน

 

คุณทราย: เราช่วยทำให้ข้อมูลกลายเป็นภาพ โดยที่มี requirement มาแล้วว่าอยากเห็นอะไร แล้วเราก็แสดงออกมาตามนั้น งานนี้ก็ท้าทายตรงที่ว่า เรามีข้อมูลที่ต้องการแสดงผล จึงต้องออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนดูให้มากที่สุด ก็รู้สึกว่าท้าทาย เพราะว่าไม่เคยทำงานประมาณนี้เหมือนกัน ก็จะรู้สึกหวั่นใจตลอดเวลาว่าแสดงผลถูกต้องหรือยัง ไม่รู้เหมือนกันว่าคนดูจะกดปุ่มไหนแล้วจะได้ผลแบบที่มันไม่ตรงตามที่ตั้งใจไว้ไหม แต่ทีมงานคนอื่นๆ รวมถึง developer ก็ช่วยเหลือและช่วยทดสอบให้ สนุกตรงไหนหรอ? คือมันท้าทายตรงที่ว่า เราคิดว่าเราก็เข้าใจแล้ว พอไปดูข้อมูลก็จะพบว่า มีข้อยกเว้นบางอย่างเกิดขึ้น หรือมีโอกาสที่เราคิดจะไปเอง เช่น เรื่องจุดที่เพิ่งโผล่มา (ตอนทำผลการเลือกตั้งปี 50 ที่ 1 เขต มี ส.ส. มากกว่า 1 คน) เราก็รู้สึกท้าทาย เพราะปกติแล้ว งานเราจะเน้นให้คนทั่วไปเข้าใจ ก็จะง่าย ๆ และเป็นข้อมูลที่สรุปมาแล้ว แต่งานนี้เป็นงานเชิงลึกขึ้น แล้วก็ใช้ความถูกต้องของข้อมูลเป็นสำคัญ บวกกับมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง เลยคิดว่ามันท้าทาย

ตัวอย่างแนวคิดในการนำเสนอผลการเลือกตั้งแบบหนึ่งเขต มีผู้ชนะหลายคน

 

คุณรพี: เป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นในแง่เป็น web application โดยทำร่วมกับน้องๆ ทีม developer คือตัวไอเดียมันคงมีวิธีสร้างได้หลายแบบ จริง ๆ ต้องขอบคุณทีมมากว่า ขอบคุณทั้งเรารวมถึงคนช่วยด้าน data คนช่วยด้านประสานงานข้อมูล และทีมดีไซน์ สิ่งที่ผมทำคือเอาทั้งหมด (ข้อมูลและแบบ visualization) ปั้นขึ้นมาให้เป็นงานได้ แล้วก็ช่วยแนะนำในต่างๆ เช่น ข้อจำกัด (limitation) วิธีการทางเทคโนโลยีว่ามันทำได้ถึงไหนประมาณนี้ เพราะเวลาและทรัพยากรจำกัดด้วย

ความยากคือ เราจะต้องสร้างสมดุลระหว่างให้คนเห็นภาพใหญ่กับเห็นภาพที่พอเหมาะพอดีในการตัดสินใจวางแผนเลือกตั้ง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือประชาชนก็แล้วแต่ ขนาดพื้นที่เท่าไหนหรือประสบการณ์แบบไหนที่มันจะดีที่สุด แล้วก็อยากจะให้มัน smooth สิ่งที่ทำออกมาก็คือทำให้ visulization มันเชื่อมโยงทั้งภาพใหญ่คือภาพระดับประเทศ ภาพย่อยระดับ region คือภูมิภาค แล้วก็ภาพละเอียดก็คือจังหวัด เจาะเข้าไปจังหวัดนั้น ๆ

เข้าไปหน้าแรก เราเห็นประเทศไทยทั้งหมด แล้วเห็นว่าแถวนี้มันสีนี้เข้มข้น ก็กดเข้าไปดู ภาพมันก็ซูมเข้าไป แล้วเราก็เลือกที่จะดูเฉพาะจังหวัดนั้น การที่ซูมเข้าซูมออกแล้วก็กดเพิ่มขึ้นมาเปรียบเทียบเป็น compare view ได้ ก็รู้สึกว่าเป็นการใช้งานที่ดี แล้วก็ท้าทาย และชอบขอบดำเวลาแบ่งเขตจังหวัด หมายถึงว่า เวลาที่มันเปรียบเทียบ 4 ปีแล้วขอบมันน่ารักอ่ะ (หัวเราะ)

 

Q. แล้วคิดว่า data visualization นี้จะเป็นประโยชน์กับใคร ในแง่ไหนบ้าง?

 

คุณรพี: สำคัญสุดเราว่า ข้อมูลชุดนี้ทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างชัดเจน เห็นภาพ และจับต้องได้มากขึ้น แต่เดิม ทุกครั้งเราก็จะได้ยินข่าวว่าการเมืองยุคนี้ แถวนี้ต้องพรรคนี้เท่านั้น มันแบบ “เค้าว่ากันว่า” แต่มนุษย์เราถ้าเกิดไม่เห็นภาพ แค่ฟังเขาพูดมา ก็จะนึกอีกแบบนึง แต่พอเห็นภาพแล้ว ความคิดจะชัดเจนขึ้น แล้วคุยได้แบบ objective (อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง) มากขึ้น แทนที่จะ subjective (เป็นความคิดส่วนตัว) มาก ๆ

อย่างที่สองก็คือ น่าจะช่วยลดเวลาในการหาข้อมูล แต่เดิมอาจจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือหลายวันในการ extract ข้อมูลตรงนี้ ตอนนี้มันอยู่ตรงหน้าและใช้งานได้รวดเร็ว อีกอย่างนึง เรื่องของ data ก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลชุดนี้มีอยู่แล้วมานานมากแล้ว แต่ไม่เคยมีใครเอามาทำอะไรตรงนี้เลย แต่สิ่งนี้จะง่ายขึ้นเยอะ หรืองานแบบนี้จะเกิดขึ้นได้อีกหลายด้านมาก ถ้าข้อมูลมันเปิดขึ้น และมีลักษณะเป็น machine-readable มากขึ้น และรัฐมองเห็นคุณค่าของมันว่ายิ่งเปิด ยิ่งมีประโยชน์ต่อประชาชน ประชาชนสามารถพลิกดูแง่มุมที่เขาสนใจได้ และเป็นการตั้งคำถามถึงคนที่เกี่ยวข้องว่าจริง ๆ แล้วเขาควรสนับสนุนให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นหรือเปล่า

คุณโฟน: เป็นข้อมูลให้นักวิจัยเอาไปศึกษาต่อ พรรคการเมืองก็ได้ใช้ นักการเมืองก็ได้ใช้ นักวิจัยทางรัฐศาสตร์ในอนาคตได้ใช้แน่นอน และยังน่าคิดด้วยว่าการแบ่งเขตมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ แค่ดูรูปทรงก็เห็นแล้วว่า พื้นที่ที่โดนแบ่งเยอะๆ คือกรุงเทพฯ เพราะอ้างอิงตามจำนวนประชากร ซึ่งก็น่าคิดว่า เรามีพื้นที่ใหญ่ เรามีทรัพยากรเยอะ แต่ว่าทรัพยากรที่ไม่ใช่ประชาชนเนี่ยเขาไม่นับ เขานับเฉพาะคนในการแบ่งสรรปันส่วน ถ้าคนน้อยก็เอาสส.ไปตามจำนวนคนแล้วกัน

 

Q. งานนี้จะพัฒนาไปในแบบไหนได้อีกไหม?

 

คุณรพี: ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นข้อมูลการเลือกตั้งย้อนหลังมากกว่านี้ ไม่ได้ติดอะไรนอกจากเรื่องข้อมูล ถ้ามีคนรวบรวมข้อมูลให้ได้อยากทำทั้งหมดเลย เพียงแต่ความน่าสนใจและความท้าทายก็คือว่า เลือกตั้งในอดีตมันคงมีกฎหมายที่ท้าทาย ทำให้เราคิดว่าจะนำเสนอข้อมูลตรงนี้ยังไง

คุณโฟน: อยากให้มีการวิเคราะห์ว่ารูปทรงพื้นที่มีความสัมพันธ์กับการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเป็นธรรมไหม หรือจะเอามาวิเคราะห์กับจำนวนประชากรก็ได้ บางทีมันก็มีผล เพราะการตัดแบ่งประชากรทำให้เห็นว่าขนาดทางเศรษฐกิจของแต่ละเขตเทศบาล เขตตำบล หรือเขตอำเภอ มีปริมาณมากน้อยแค่ไหนถึงนำไปสู่การตัดสินใจเลือกจัดกลุ่มให้มาอยู่ด้วยกัน

 

Q. คิดว่าการเมืองไทยจะพัฒนาด้านการเปิดเผยข้อมูลหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ยังไงอีกบ้าง?

 

คุณโฟน: เราจะอยู่กันเหมือนบางระจันโมเดล นั่นคือโมเดลที่เราไม่สามารถพึ่งพารัฐได้ ในความเป็นจริง รัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในประเด็นนี้ได้ เพราะแค่เรื่องที่รัฐเปิดข้อมูลแล้วหาวิธีการสื่อสารกับประชาชน มันยังติดขัดด้วยขั้นตอนที่รัฐกำหนดขึ้นมาเอง ดังนั้น ตัวร้ายของ Civic Tech ก็คือความเป็นราชการ นั่นคือ ปัญหาของกฎระเบียบที่มากเกินไปแต่ขาดผลของการบังคับใช้ ทำให้เราบ้าขั้นตอนและลืมว่าเรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่ นี่คืออุปสรรคของ Civic Tech ที่ขวางทางไปสู่ Open Government Data ถ้ายังมีตัวร้ายนี้ในการบริหารภาครัฐ Civic Tech จะไม่มีทางเกิดขึ้น

 

 

คุณทราย: ส่วนตัวคิดว่าคนไทยสนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่เราช่วยทำเครื่องมือที่ทำให้เขามีข้อมูลได้ค้นหา เราว่าน้อยคนมากที่ดู pdf คิดมโนภาพ แล้วเข้าใจได้เองว่า อ๋อ ประเทศไทยเป็นแบบนี้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีทำให้คนสามารถทำงานด้านนี้ได้ง่ายขึ้นด้วย งานนี้ก็เป็นแง่มุมนึง และเรารู้สึกว่างานนี้ยังพัฒนาต่อไปได้ เพราะคิดว่าคนมันสนใจอยู่แล้ว แต่พอข้อมูลที่มีอยู่เข้าถึงยากมาก เราเลยทำได้แค่ฟังที่คนอื่นเค้าสรุปมาแล้วก็เชื่อตามนั้น แต่เมื่อมันมีข้อมูลอย่างนี้ มันก็ทำให้คนที่แบบว่าไม่มีประสบการณ์อย่างเราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ทำแผนที่ออกมาได้ ขณะเดียวกัน คนดูก็สามารถดูได้โดยที่ไม่รู้สึกเป็นข้อมูลที่เข้าใจยากจนเกินไปหรือไม่เข้าใจเลย

 

คุณรพี: open data ทำให้คนมีความรู้และความเข้าใจมากขึ้น ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว ขณะที่มนุษย์ตัดสินใจก็อาจจะอยู่ที่อารมณ์มากกว่าเหตุผล นั่นคือ ใช้เหตุผลเป็นข้ออ้างบังหน้าอารมณ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรจะหยุดนำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริง กับงานนี้ ก็หวังว่าคนดูจะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่ว่าคิดว่าเป็นประโยชน์ของตัวเอง แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด ไม่ได้เข้าใจภาพรวม เรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญของคนไทยก็คืออาจจะอยากให้เห็นภาพรวมแบบความเปลี่ยนแปลงในรอบหลาย ๆ ปีมากกว่านี้ จริง ๆ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันนะ ที่คุณบอกว่าเลือกตั้งคราวก่อน ๆ 10 ปีที่แล้ว มันไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว จบไปแล้ว แต่มันไม่ใช่ เพราะตัวละครการเมืองทุกคนก็ยังเล่นอยู่ และ open data จะทำให้ประชาชนเข้าใจหรือค้นพบสิ่งที่เกิดขึ้นได้เร็วกว่านื้และมากกว่านี้

ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (active citizen) ก็คิดว่ามีคนอยากจะเห็นข้อมูลหลาย ๆ อย่าง มีคนมีไอเดียอีกมาก แต่ว่าก็ไม่ค่อยได้ลงมือกัน จริง ๆ ทุกอย่างมันสามารถเริ่มด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องไปรอใคร

 

ก็เป็นโจทย์ต่อไปว่า เราจะทำยังไงให้คนกล้าออกมาใช้พลังที่มีอยู่ขับเคลื่อนสังคมได้มากกว่านี้ งานนี้ก็เป็นตัวอย่างนึงว่า ทำได้จริง ๆ นะ

 

Interviewed by Surachai Kaipet