I love you, I hate you ชวนดูโปรเจกต์ที่สุดในใจชาว ELECT
สองปีกว่าแล้ว.. ที่เว็บไซต์ https://elect.in.th เริ่มต้นมา ต้องบอกว่าเรามีสมาชิกมากหน้าหลายตาแวะเวียนกันมาช่วยปั้นโปรเจกต์และเครื่องมือต่างๆ บ้างมาเพราะหงุดหงิดใจกับประเทศนี้ บางมาเพราะมีข้อมูล/ไอเดียอยากลองของ
ราว 40 โปรเจกต์ที่เราลองเล่นลองทำกันขึ้นมา (ถ้าเป็นงานลูกค้า เขาคงคิดว่าเราร้อนเงิน!) เราเลยชวนทีมงานและอาสาสมัครบางคน มาลองเลือกโปรเจกต์ที่ตัวเองเคยทำ แล้วรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียด (Love-Hate) 1 งาน ให้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า อะไรที่ทำให้ใจฟู และอะไรที่ทำให้หัวร้อนน้ำตาไหลในโปรเจกต์นั้น พร้อมแบ่งปันความฝันที่พวกเขาอยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ ..เผื่อจะมีคนมาช่วยสานฝันให้เป็นจริง!
สำหรับใครที่หงุดหงิดกับประเทศนี้ ใครที่อยากลองของ หรือใครที่อ่านความในใจของชาว ELECT ในโพสต์นี้แล้ว รู้สึก เฮ้ย! เอาด้วยว่ะ มา.. มาเจอกันที่งาน #ACTkathon สมัครได้ถึงแค่ 18 กรกฎานี้เท่านั้น ให้ไว! http://bit.ly/actelect
💬 จั๊ก – น้ำใส ศุภวงศ์ (Designer)
🖤 อีกนานแค่ไหน กว่าคนไทยจะได้เลือกตั้ง (https://elect.in.th/election-timeline)
🗓 2 ธันวาคม 2561
Q1 : ทำไมถึงทั้งรักทั้งเกลียดโปรเจกต์นี้?
“เป็นงานแรกที่ได้ทำงานแนว Storytelling บนเว็บไซต์ โดยมีความรู้เรื่อง Digital Design เป็น ศูนย์ เลยมีทั้งความรู้สึกตื่นเต้นกับไอเดียที่คิดได้ (ซึ่งมารู้ในภายหลังว่าไม่ได้ใหม่อะไรเลย แต่เนื่องจากดูงานมาน้อย เลยไม่รู้) และความกังวลว่าของจริงที่ออกมาจะหน้าตาเป็นยังไง ต้องสื่อสารกับ Developer ยังไงให้เข้าใจตรงกัน ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง
งานนี้เลือกคอนเซ็ปต์ให้คนอ่านหงุดหงิดกับความยาวนานของการรอเลือกตั้งผ่านการไถ แต่เราเองก็ได้รับความหงุดหงิดนั้นไปด้วยระหว่างทำงานนี้ เพราะยิ่งต่อเวลา ก็ยิ่งต้องทำรูปเยอะขึ้นๆ จนโมโหประยุทธ์มาก!
ถ้าได้ทำโปรเจกต์นี้อีกครั้ง คงจะใช้คอนเซ็ปต์เดิม แต่อาจจะมีลูกเล่นระหว่างทางมากขึ้น และ Responsive กับหน้าจอมากกว่านี้”
Q2 : อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจสร้าง Civic Tech ขึ้นในประเทศนี้อีก?
“ดีค่ะ มาช่วยกันหาวิธีใช้ข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลรู้ว่า สิ่งที่ตัวเองมี มันทำประโยชน์ได้มากขนาดไหนถ้าเก็บดีๆ และเปิดให้ใช้ได้ง่ายๆ หรือถ้าเจ้าของอิดออด อย่างน้อยก็ทำให้สาธารณะรู้ว่าต้องช่วยกันกดดันให้เปิดออกมา”
Q3 : ความฝันของคุณในฐานะคนทำงาน ELECT/Civic Tech คืออะไร?
“อยากได้ข้อมูลที่เก็บดี เก็บละเอียด จะได้เอาไปทำอะไรได้เยอะๆ แบบประเทศเจริญทำกัน”
💬 เต้อ – ธสฤษฏ์ บุญศิริ (Developer)
🖤 ย้อนดูแบ่งเขตเลือกตั้งในอดีตของประเทศไทย (https://past-election-map.elect.in.th)
🗓 27 เมษายน 2563
Q1 : ทำไมถึงทั้งรักทั้งเกลียดโปรเจกต์นี้?
“เป็นครั้งแรกที่ทำงานกับข้อมูลแบบ Geographic บวกกับตอนนั้นพึ่งทำเว็บได้ไม่นาน เลยค่อนข้างยาก และใช้เวลาทำเยอะมากๆ ถ้าต้องทำอีกครั้งคิดว่าน่าจะใช้เวลาน้อยลง และเว็บน่าจะเร็วขึ้นและใช้กับมือถือรุ่นเก่าๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนเข้าถึงมากขึ้นด้วย”
Q2 : อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจสร้าง Civic Tech ขึ้นในประเทศนี้อีก?
“รู้สึกว่า Civic Tech ในไทยยังมีอะไรให้พัฒนาเพิ่มขึ้นอีกเยอะเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เอาไอเดียที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาประยุกต์กับสังคมไทย บวกกับความถนัดของแต่ละคนเพื่อให้เกิดเป็น Civic Tech ในแบบของเราเองได้”
Q3 : ความฝันของคุณในฐานะคนทำงาน ELECT/Civic Tech คืออะไร?
“อยากทำ Generative Data Visualization ที่ออกมาเป็นวิดีโอแบบ Motion Graphics เช่น อาจจะเอาข้อมูล ส.ส. แต่ละคนใน They Work for Us มาทำเป็นวิดีโอ แล้วโพสต์ทุกวัน (แบบ algo.tv) คิดว่าเหมาะสำหรับคนที่ขี้เกียจเข้ามา Explore ข้อมูลเองในเว็บเอง เราก็ทำแบบนี้ให้ไปขึ้นตาม Social Media Feed ของเขาเลย แถมได้โปรโมทเพจ ELECT ให้มีคนรู้จักมากขึ้นไปในตัวด้วย”
💬 สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย (Data Storyteller)
🖤 Civil Movement 2020 (https://elect.in.th/civil-movement-2020)
🗓 15 กุมภาพันธ์ 2564
Q1 : ทำไมถึงทั้งรักทั้งเกลียดโปรเจกต์นี้?
“งานนี้คืองานแรก ๆ ที่ผมได้เข้ามาร่วมทำตอนที่เข้าทำงานกับ ELECT ซึ่งงานนี้มีความท้าทายในหลายด้าน หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องข้อมูลเหตุการณ์ทางการเมือง การชุมนุมและความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย และไม่ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ หรือจัดกลุ่มความสัมพันธ์เอาไว้อย่างดีเท่าที่ควร ฐานข้อมูลที่รวมข้อมูลไว้ได้ดีที่สุดอย่าง https://www.mobdatathailand.org/ ก็มีข้อจำกัดตรงที่อาจมีการกรอกข้อมูลบางส่วนไม่ครบ ทำให้ข้อมูลหลายอย่างต้องถูกทำการค้นหาเอง ไม่ว่าจะเป็นการ Search ข้อมูลทางออนไลน์ การติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์
นอกจากความท้าทายข้างต้นแล้ว ถ้าจะให้อธิบายผลลัพธ์ของงานนี้ ก็อาจจะประมาณว่า “เราสามารถสร้างงานที่ดี แต่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่” คือเรารวบรวมข้อมูลเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวได้เยอะมาก ทำให้รู้ว่าในช่วงปี 2020 (พ.ศ. 2563) มีการแสดงพลังและความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเยอะมาก ๆ แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ในท้ายที่สุดความเคลื่อนไหวก็อาจไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่ควรจะเป็น และยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงกับโครงสร้างต่าง ๆ อันไม่เป็นธรรมของรัฐได้ (แต่เอาล่ะ อย่างน้อยเพดานบางอย่างก็ได้ทลายลงด้วยความกล้าหาญของหลาย ๆ คนแล้ว และผมเชื่อว่า เวลาและความศรัทธาเพื่อประชาธิปไตย จะอยู่ข้างเราเสมอ)
ถ้าจะให้ทำงานนี้ หรืองานแนว ๆ นี้อีกครั้ง อาจจะเน้นไปที่การค้นหาและรวมข้อมูลให้ได้ว่า มีใครหรือกลุ่มไหนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบ้าง รวมถึงจัดกลุ่มข้อเรียกร้องหรือความต้องการของกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่ามีเรื่องใดบ้าง เช่น เพศ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ศาสนา สวัสดิการรัฐ ฯลฯ เพื่อไม่ให้เป็นการทิ้งใครหรือแนวคิดใดไว้เบื้องหลัง เพราะการเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ ต้องทำไปพร้อมกัน ควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นกัน”
Q2 : อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจสร้าง Civic Tech ขึ้นในประเทศนี้อีก?
“เราอยู่กับรัฐที่ไม่ Open หรือเปิดกว้างกับอะไรเท่าไหร่ แม้แต่เรื่องความคิดเห็นของประชาชน หลายครั้งรัฐยังไม่รับฟัง ซ้ำยังมองว่าคนที่ออกมาพูดหรือเรียกร้องความยุติธรรม เป็นพวกตัวปัญหาต่อความมั่นคงอยู่เลยครับ ซึ่งระบบราชการที่ยืดยาดและแนวคิดของรัฐที่มักจะบริหารจัดการแบบใช้อำนาจหรือความมั่นคง นำสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก็มักจะทำให้เสียงของประชาชนถูกเมินเฉยไปได้ง่ายดาย และนำมาซึ่งการที่รัฐรู้สึกว่า ไม่อยากทำให้ประชาชนกลายเป็น Active Citizen เพราะกลัวว่า หากรัฐทำให้ประชาชนมีความรู้หรือเครื่องมือต่าง ๆ มากเกินไป รัฐจะไม่สามารถควบคุมประชาชนได้ดังเดิม ซึ่งการคิดแบบนี้ ก็สะท้อนออกมาเป็นนโยบายและทางปฏิบัติต่าง ๆ อย่างเช่น การไม่ทำให้ข้อมูลข่าวสารของรัฐถูกเปิดเผยและเข้าถึงได้โดยง่ายอย่างที่ควรจะเป็นตามหลักการคุ้มครองสิทธิรับรู้ (Right to know)
ดังนั้น ถ้ามีคนที่ต้องการจะมาร่วมสู้เพื่อทำให้ความรู้และเครื่องมือของประชาชนในเรื่องนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ๆ ครับ เพราะหากเราเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ ไปควบคู่กับการแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องในปริมาณที่มากพอให้รัฐเห็นความสำคัญและปรับตัว ก็จะเป็นการกดดันให้รัฐจำต้องปรับปรุงและแก้ไขในเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพ”
Q3 : ความฝันของคุณในฐานะคนทำงาน ELECT/Civic Tech คืออะไร?
“จริง ๆ อยากทำแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันครับ รายละเอียดของข้อมูลก็อย่างเช่น กลุ่มชื่ออะไร ก่อตั้งมาเมื่อไหร่ มีสมาชิกกี่คน เรียกร้องเรื่องอะไรเป็นหลัก เคยเคลื่อนไหวมากี่ครั้ง ที่ไหน เมื่อไหร่บ้าง หลังการเคลื่อนไหวต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ฯลฯ ที่อยากทำเรื่องนี้ ก็เพราะอยากจะให้มันเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์การเมือง ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมามีพลังของประชาชนเกิดขึ้นมามากเพียงใด รวมถึงเพื่อเป็นการกางข้อมูลให้เห็นว่า ในตอนนี้มีกลุ่มเคลื่อนไหวใดอยู่บ้าง และเรียกร้องประเด็นอะไรบ้าง เพื่อที่อาจเป็นประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยต่อไปครับ”
💬 วรุตม์ อุดมรัตน์ (Project Coordinator)
🖤 Re-constitution (https://recon.elect.in.th)
🗓 24 ธันวาคม 2563
Q1 : ทำไมถึงทั้งรักทั้งเกลียดโปรเจกต์นี้?
“โปรเจกต์ที่เกิดจากไอเดียฟุ้งๆ ในหัวตอนที่ a day ถามหัวข้อโปรเจกต์ที่อยากทำในธีม Redesign Nation เพื่อนำมาลงนิตยสาร ซึ่งตอนนั้นกระแสแก้รัฐธรรมนูญกำลังมาแรง เลยคิดว่า เอาวะ มาลอง Redesign วิธีอ่านรัฐธรรมนูญกันใหม่ไหม? เพราะหลายคนแค่อ่านประโยคแรกในรัฐธรรมนูญก็มึนหัวแล้ว (รวมถึงตัวเองด้วย) เลยลองจัดวางวิธีอ่านรัฐธรรมนูญใหม่ให้เข้าถึงง่ายตามใจคนอ่านขึ้น
ความวายป่วงเข้ามาเมื่อเราเริ่มเห็นความซับซ้อนของรัฐธรรมนูญที่แต่ละฉบับร่างมาแบบโครงสร้างแทบไม่เหมือนกัน อย่างที่รู้กันว่าบ้านเรามีรัฐประหารเยอะ บางฉบับไม่ได้จัดหมวดหมู่ไว้ด้วยซ้ำ เลยต้องมานั่งไล่อ่านและลองนิยามหมวดต่างๆ กันดูในเนื้อหาว่ามาตราไหนควรอยู่หมวดอะไร ซึ่งใช้เวลาเยอะมากๆ
สุดท้ายโปรเจกต์นี้ก็กลายมาเป็นโปรเจกต์ระยะยาวที่ใช้เวลาหลักปีในการกรอกข้อมูลจนครบ 555 ยังไงฝากโปรเจกต์ด้วยครับ ยังอัพเดตข้อมูลอยู่เรื่อยๆ อยากให้ทุกคนเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ”
Q2 : อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจสร้าง Civic Tech ขึ้นในประเทศนี้อีก?
“อยากชวนทุกคนให้เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์ทางออกให้ประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนที่อ่านอยู่ อยากทำอะไรบางอย่างแหละ ในยุคที่บ้านเมืองของเราลงแดง (คำเก่าไปไหม)
บางทีเราอาจไม่มีทักษะ แต่สำหรับเราการทำงานร่วมกันระหว่างทักษะที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้าง Civic Tech ที่ยั่งยืน อย่าง ELECT ก็เป็น Civic tech ที่ยั่งยืนไม่ได้ถ้าขาด Data Storyteller & Designer หรือ Developer คนใดคนหนึ่ง”
Q3 : ความฝันของคุณในฐานะคนทำงาน ELECT/Civic Tech คืออะไร?
“อยากทำงานเชิงข้อมูลประวัติศาสตร์การเมือง หรือเศรษฐกิจที่ละเอียดขึ้น ตอนนี้ประเด็นที่ ELECT เน้นจะมีความร่วมสมัย แต่จริงๆ แล้วถ้าลองย้อนอดีตดูจะพบว่าข้อมูลประวัติศาสตร์ของบ้านเราก็ยังกระจัดกระจาย ถ้าเราพอหาวิธีที่จะรวบรวม หาเครื่องมือมาเล่าข้อมูลให้ออกมาครบถ้วน น่าสนใจขึ้นด้วย Visualization ต่างๆ ก็คงจะดี หรือใครอยากเอาไอเดียนี้ไปทำของตัวเองก็ได้นะ”
💬 ภูริพันธุ์ รุจิขจร (Data Specialist & Developer)
🖤 เดินหน้า … ประชาธิปไตยไทย? (https://couphistory.elect.in.th) และ Before the Coup (https://coupevents.elect.in.th/)
🗓 พฤษภาคม – มิถุนายน 2563
Q1 : ทำไมถึงทั้งรักทั้งเกลียดโปรเจกต์นี้?
“ส่วนตัวแล้วรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดงานประเภท Timeline ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าพัฒนาไม่ยาก ทำได้เร็ว ใส่ลูกเล่นได้เยอะ อีกใจหนึ่งก็รู้สึกว่ามันเรื่อย ๆ เรียง ๆ แต่ก็ต้องทำบ่อย ส่วนหนึ่งก็เพราะเชื่อมโยงข้อมูลให้ลึกไปกว่านี้ไม่ได้ ถ้าไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาการพัฒนาและทรัพยากรอื่น ๆ ก็อยากถอยกลับมาคิดว่าเราจะใช้ข้อมูลมิติอื่นหรือเล่าด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่เป็นเส้นตรงตามเวลาได้ไหม“
Q2 : อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจสร้าง Civic Tech ขึ้นในประเทศนี้อีก?
“มาช่วยกันทำข้อมูลให้เป็นระบบเถอะ เริ่มจากออกแบบรูปแบบข้อมูลให้มันเป็นระเบียบ พร้อมเอาไปใช้งาน และผลักดันให้ข้อมูลโดนป้อนจากผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน เช่น เขาป้อนข้อมูลในที่หนึ่ง สามารถนำมาเผยแพร่ให้เราใช้ต่อ แล้วก็นำไปสร้างเป็นรายงานของราชการก็ได้ด้วย เป็นต้น แต่ความยากก็คือต้องขอความร่วมมือจากทางฝั่งราชการด้วยนี่แหละ”
Q3 : ความฝันของคุณในฐานะคนทำงาน ELECT/Civic Tech คืออะไร?