Infographic


Content by

Suphisara Isaranugul

💸ทำไม ELECT ไม่ทำเรื่องงบ?

อยากแงะงบฯ ประเทศไทย? อะไรที่ควรรู้ก่อนลงมือทำ

จากที่มีประเด็นดุเดือดที่ผ่านมาเกี่ยวกับ ‘งบประมาณแผ่นดินปี 65’ กว่า 3.1 ล้านล้านบาท แล้วงบยังเทไปส่วนกลาโหมมากกว่าสาธารณสุขไปอีกกก!! ทั้งๆที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อยู่ ณ ตอนนี้  ประเด็นนี้ได้จุดให้วงกว้าง และหลากหลายคนสนใจเรื่องเหล่านี้อีกครั้ง

ปฎิเสธไม่ได้ว่าความจริงแล้วงบฯ เป็นเรื่องที่เรา.. ในฐานะประชาชนค่อนข้างเข้าใจยากมากๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขที่น่าปวดหัว การจัดสรรงบและกระบวนการต่างๆ  แต่เชื่อว่าสิ่งที่ค้างในใจประชาชนอย่างเราๆ ว่าเอาภาษีเราไปทุกปี เอาไปทำอะไร? แล้วที่เอาเรื่องที่เอาไปทำสมควรแล้วไหม? ที่ออกนโยบาย ทำโครงการนู้นนี่มา ได้ประโยชน์คุ้มค่าไหมนะ?

เลยมีหลากหลายเสียงไม่ว่าจะบอกกล่าวโดยตรง หรือทางอินบ็อกซ์ทั้ง Facebook และ Twitter ได้เสนอและอยากให้ทาง ELECT ทำงานเกี่ยวกับเรื่อง ‘งบประมาณแผ่นดิน’ 

 

ใช่! เราก็อยากได้และเคยอยากลองทำ แต่ขอเปิดอกเปิดใจคุยกันตรงนี้ ว่ายังมีปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ มีอุปสรรคที่เรายังคิดไม่ตก เลยอยากขอระดมไอเดียหรือหาทางออกจากประชาชนผู้เสียภาษีคนอื่นๆ มาช่วยกันทำ โดยจะขอแชร์สิ่งที่เราลองหาลองคิดกันมาให้ฟัง

 

ส่วนใครมีไอเดียเด็ดๆ โดนๆ เกี่ยวกับงานเรื่องงบฯ ไปแจมกันได้ที่ #ACTkathon2021 โลดดด

 

ข้อควรรู้.. ก่อนก้าวสู่วงการแงะงบฯ

 

ปัญหา-อุปสรรค อะไรบ้างที่เราเคยเจอ และคุณต้องเจอ เมื่อก้าวเข้าสู่วงการพยายามเข้าใจงบประมาณฯ ในรัฐไทย (ไม่ได้ขู่ แต่เตือนไว้ให้รับมือจ้า) 

ข้อแรก เอกสารอยู่ในรูปแบบ pdf เป็นปัญหาคลาสสิค ที่เอกสารของรัฐ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าทาง ELECT ก็เคยพยายาม Digitize งบฯ มาแล้วตั้งแต่ของปี 2564 แต่พออยู่ในเอกสารแบบนี้ส่งผลให้เราเสียเวลาและเสียทั้งกำลังคน ในการแงะข้อมูลออกมาจาก pdf ซึ่งข้อมูลที่ได้เป็นภาพรวม ภาพกว้าง ไม่ได้เห็นกระบวนการ ทำให้การวิเคราะห์เอาไปทำต่อนั้นค่อนข้างยาก 

ข้อสอง ศัพท์เทคนิค คำศัพท์เกี่ยวกับงบ ไม่ว่าจะเป็น “งบประมาณรายจ่ายข้ามปี” “เงินนอกงบประมาณ”
“เงินจัดสรร” เหมือนจะแปลตรงตัว อ่านดูแล้วบางคำอาจจะเข้าใจได้เลย แต่พออ่านคำอธิบายกลับชวน
งงกว่าเดิมตกลงเราเข้าใจภาษาไทยถูกใช่ไหม การที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเห็นภาพว่าแล้วคำเหล่านี้ คือส่วนไหนของงบประมาณ? แล้วใช้ตอนไหน? อาศัยแค่ค้นหาและอ่านคำอธิบายอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องไปค้นหาบริบทและคำอธิบายของแต่ละบรรทัดนั้นเพิ่มเติม (บางทีค้นแล้วยังไม่เข้าใจด้วยแหนะ)

ข้อสาม วิธีการบริหารงบประมาณ ตั้งแต่ขั้นตอนที่รัฐบาลต้องเริ่มเสนองบประมาณประจำปีต่อสภา ไปจนถึงขั้นตอนที่ให้รัฐมนตรีประกาศรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีที่สิ้นสุดนั้นๆ ในราชกิจจานุเบกษา ขั้นตอนในการทำงานเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำความเข้าใจยากเหมือนกัน เนื่องจากรายละเอียดลึกลงไปเราไม่รู้ว่าเอาไปใช้จ่ายในส่วนไหนและทำอะไรบ้าง? 

เพียงแค่กางงบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีออก ให้เห็นว่าใช้ในส่วนไหนบ้าง จึงยัง ‘ไม่เพียงพอ’ ที่จะทำให้เข้าใจและเห็นภาพการใช้จ่ายงบที่เกิดขึ้น และไม่เพียงแค่ปัญหา – อุปสรรค ที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้เราถึงกับสร้างงานเกี่ยวกับงบไม่ได้เลย แต่สิ่งสำคัญที่เรามอง คือ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้มากนัก ต่อให้เราเห็นภาพงบออกมาทุกปี เห็นการเพิ่ม-ลด งบประมาณในกระทรวงต่างๆ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นการเสนอความเห็นทางเดียว (นโยบายทางเดียว) ยิ่งเป็นโครงการใหญ่ๆ เราแทบไม่เห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย 

 

รู้จัก Participatory Budgeting สิ่งที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับงบประมาณแผ่นดินได้

 

พอมาถึงตรงนี้แล้ว…อย่าเพิ่งท้อไป เพราะยังมีทางที่เราทำเรื่องงบประมาณออกมาได้และสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับงบประมาณได้ และได้มีโครงการเกิดขึ้นจริงๆ (ในต่างประเทศ) แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางที่เรียกว่า Participatory Budgeting แล้วสิ่งนี้คืออะไร? เป็นแบบไหน? มา ! ลองดูแนวทางกัน

‘Participatory Budgeting’ คือ เครื่องมือในการเปิดให้ประชาชน ‘มีส่วนร่วม’ กับ ‘งบประมาณในการบริหารประเทศ’ โดยที่รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนช่วยในการบริหารงบประมาณ ด้วยการชี้ถึงปัญหาหลัก หรือแนวทางที่ควรนำงบประมาณไปใช้ในแบบที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตามการจะเป็น Participatory Budgeting ได้นั้น เงื่อนไขที่สำคัญ ‘ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ’ ด้วย

citizenlab ได้อธิบายเกี่ยวกับ 8 ขั้นตอนที่จะทำให้เราก้าวไปเป็นแบบนี้ได้ ดังนี้

 

  • ขั้นที่ 1 การวางรากฐาน (Lay the groundwork) เรื่องงบประมาณแผ่นดิน ขั้นแรกหน่วยงานรัฐเองต้องวางแผน ออกแบบ ในการกำหนดหรือเลือก ว่าจะให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบไหน ให้สอดคล้องกับบริบท และการบริหารของรัฐเรา  เพื่อผลลัพธ์จะได้ออกมามีประสิทธิภาพ

 

    • ออกแบบประเภทของการมีส่วนร่วม  ว่าต้องการให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ หรือแค่แสดงความคิดเห็น เป็นแค่การขอคำปรึกษา
    • กำหนดเป้าหมายของการมีส่วนร่วม  ว่าจะให้ประโยชน์อะไรกับประชาชนบ้าง? นอกจากแค่จัดสรรงบเพื่อจัดทำโครงการนั้นๆขึ้น
    • วิธีการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยรัฐต้องตัดสินใจว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร? รูปแบบใด? จะให้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือเวทีให้มีส่วนร่วม? หรือจะทั้งสองอย่าง? 
  • ขั้นที่ 2  ชี้แจงรายละเอียดให้ผู้เข้าร่วม (Inform participants) เมื่อรัฐวิเคราะห์และวางกรอบให้เข้ากับบริบทแล้ว รายละเอียดเหล่านั้นรัฐต้องทำหน้าที่ชี้แจงข้อมูล ขั้นตอน เกี่ยวกับระยะเวลา กระบวนการ และกฎ กติกาในการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจตรงกัน อีกทั้งรัฐเองเมื่อรับความเห็นของประชาชนแล้วจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ถึงจะชี้แจงผลลัพธ์ได้ 
  • ขั้นที่ 3 สร้างวิธีการหรือเครื่องมือรวบรวมข้อมูล (Collect citizen input) คือการจะทำยังไงให้เสียงของประชาชนส่งมาถึง เรียกว่าจะเลือกช่องทางไหน ที่จะสื่อสารได้อย่างกว้างขวาง ตอบโจทย์ประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่าย แล้วสามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครบถ้วน 
  • ขั้นที่ 4 วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ ต่อมาเมื่อรับความคิดเห็น ต้องเอามาวิเคราะห์ โดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่าข้อมูลใดที่เหมาะสม เป็นไปได้ กับการจัดทำโครงการหรือแผนงานให้ออกมาได้จริง ซึ่งการวิเคราะห์เหล่านี้ หน่วยงานรัฐต้องใช้การวัดผลที่สมเหตุสมผล และชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาได้ว่าทำไมถึงเลือกแบบนี้ 
  • ขั้นที่ 5 แบ่งรูปแบบการมีส่วนร่วมให้ชัดเจน จะได้ผลลัพธ์ออกมาตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่นั้น ต้องแบ่งแยกการให้แสดงความคิดเห็นให้ชัดเจนระหว่าง 
    • แสดงความคิดเห็นได้เรื่อยๆ สามารถเพิ่มความคิดเห็นได้ และมีระยะเวลาที่ยาวนานให้พิจารณา
    • การเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สามารถเลือกได้เพียงอย่างเดียว เลือกส่วนที่สำคัญที่สุด เพื่อจัดอันดับหรือคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด 
  • ขั้นที่ 6 ชี้แจงผลลัพธ์ที่ได้ และขั้นตอนต่อไป คือ การสื่อสาร เมื่อรวบรวมข้อมูลมาแล้ว วิเคราะห์แล้ว ต้องสื่อสารให้ประชาชนทุกคนทราบ ว่าสิ่งที่มีส่วนร่วมไป ได้มีส่วนร่วมจริงๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้อะไร และอะไรเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในงานนี้ และประชาชนสามารถรับรู้ได้อย่างทั่วถึง แจ้งเตือนผ่านเครื่องมือง่ายๆ เช่น อีเมล์ โซเซียลมีเดีย 
  • ขั้นที่ 7 แผนงาน โครงการ ได้รับงบอนุมัติและเกิดขึ้นจริง ขั้นตอนนี้สำคัญมาก หน่วยงานรัฐเองต้องมีทรัพยากร เงินทุนที่เพียงพอเพื่อทำโครงการที่ประชาชนเลือกได้ และเมื่อได้รับอนุมัติงบแล้ว หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผย ‘อย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ’ และขั้นตอนนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าความเห็นที่เราเสนอไปได้ใช้จริงๆ และเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารประเทศได้ 
  • ขั้นที่ 8 ทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การมีส่วนร่วมของประชาชนจะไม่ยั่งยืนเลย หากทำแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ขั้นตอนสุดท้ายคือ ต้องกำหนดทำรูปแบบ ขั้นตอนให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ชัดเจน 
    (เอาตรงนี้ระบุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงบเลย) และแก้ไข ปรับปรุง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เพิ่มขึ้นต่อไป อย่างต่อเนื่อง


อย่างที่บอกมาตั้งแต่ต้น ว่าเราต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐจริงๆ เพราะลำพังแค่การกางงบออกมาให้ดูคงไม่พอ! และให้ประชาชนเข้าใจการบริหารงบทุกอย่าง ก็คงต้องใช้เวลา แต่เราไม่ได้ผลักภาระทั้งหมดให้รัฐนะ พวกเราเองในฐานประชาชนเจ้าของประเทศก็ควรมีส่วนร่วมเข้าไปแสดงความคิดเห็น โหวต หรือชี้แจงปัญหาสำคัญอย่างกระตือรือร้นด้วย ซึ่งถ้ารัฐอยากสร้างความโปร่งใส เปิดเผย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ เรื่องที่ค่อนข้างท้าทายเช่น ขั้นที่ 3 เรื่องแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วม หลายองค์กร เช่น ELECT เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างได้นะ

แต่ถ้ายังไม่เห็นภาพ ว่าประชาชนอย่างเราจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร? จะทำได้จริงไหม? เรามีตัวอย่างจากต่างประเทศที่พวกเขาทำออกมาได้จริงๆ นะ แถมยังประสบผลสำเร็จด้วย….

 

แล้วประเทศอื่นๆ มี Participatory Budgeting แบบไหนกันบ้าง?

ความจริงมีหลายประเทศ หลายโครงการที่เกิดขึ้น มานานแล้ว (แล้วตอนนั้นเราไปอยู่ไหนกันนะ?) แล้วโครงการเหล่านี้สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนได้อย่างแท้จริง เราหยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาให้ดู ดังนี้

  • Peñalolen, Chile, launched a participatory budget to improve citizens’ quality of life  (https://www.citizenlab.co/theme/participatory-budgeting) เป็นการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการงบประมาณ ภายใต้โครงการ (ในชุมชนของฉัน ฉันตัดสินใจ!) โดยที่เทศบาลให้ประชาชน สามารถระบุความต้องการของชุมชน จัดอันดับความสำคัญ และเลือกแนวคิดที่ควรให้รับเงินจากเทศบาล โดยได้ทำแพลตฟอร์ม ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดโครงการซ้ำ และประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก
  • Govanhill, Glasgow (https://www.local.gov.uk/case-studies/govanhill-glasgow)
    ได้ดำเนินโครงการ ‘ความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ หรือ Equally Well ’ เป็นโครงการนำร่องในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในงบประมาณแผ่นดิน โดยมีแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ UK Poverty Program ของ Oxfam จากโครงการนี้พบว่า กระบวนนี้สะท้อนให้เห็นฝั่งประชาชนว่า ประชาชนตัดสินใจสนับสนุนโครงการที่ส่งผลกระทบส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และเพิ่มความโปร่งใสให้เกิดขึ้นกับรัฐอีกด้วย
  • Tower  Hamlets, ‘You Decide!’
    (https://www.local.gov.uk/case-studies/tower-hamlets-you-decide)
    เป็นโครงการชื่อว่า ‘คุณตัดสินใจ’ ได้รับเงิน 4.76 ล้านปอนด์ จากสภา Tower Hamlet และได้รับเพิ่มอีก 300,000 ปอนด์ โดย Primary Care Trust (PCT) และได้รวมกว่า 5 ล้านปอนด์ในช่วง 2 ปี โครงการนี้แบ่งออกเป็น 8 ส่วน มี LAP (ประกอบด้วย ผู้อยู่อาศัย ที่ปรึกษา และผู้ให้บริการ ช่วยกำหนดรูปแบบและตรวจสอบสิ่งที่สำคัญที่ควรจัดในชุมชนเป็นอันดับแรกๆ) ซึ่งทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม และหน่วยรัฐและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการผลิตโครงการที่ตรงความต้องการของชุมชนขึ้นมา
  • Porto Alegre, BrazilI
    (https://www.local.gov.uk/case-studies/case-study-porto-alegre-brazil)
    จุดเริ่มต้นเริ่มจาก เพื่อให้คนยากจนและผู้ที่มักถูกกีดกันทางการเมือง โดยใช้การประชุม 3 รูปแบบ ได้แก่ การชุมนุมในชุมชน การชุมนุมตามหัวข้อ และการประชุมประสานงานทั่วไป โดยได้รับความนิยม เนื่องจากผู้หญิง ผู้มรายได้ต่ำ ไม่ได้รับการศึกษา เข้ามามีบทบาทมาก และงบประมาณเหล่านี้ได้มาสู่ส่วนที่จำเป็นหรือเหมาะสมมากที่สุด

นี่เป็นแค่บางส่วนที่หยิบยกมาจากต่างประเทศมาเท่านั้น แต่เพียงแค่นี้ยังสะท้อนว่า ‘การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในงบประมาณ’  มันดีจริงๆนะ และเสียงของประชาชน ความต้องการที่เท้จริง ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาเพื่อแก้ไขปัญหาจริง (Bottom-up) อีกทั้งรัฐเพิ่มความโปร่งใส และได้ทำงานร่วมกับประชาชนจริงๆ การจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับความต้องการจริงๆ ไม่ใช่การกำหนดจากข้างบน (Top- down) ด้านเดียว เช่น จริงประชาชนอย่างได้คลอง แต่สร้างเขื่อน หรือ อยากได้ทางสัญจร ที่ส่องสว่าง ปลอดภัย แต่ดันสร้างเสาไฟสวยงาม จากที่สมควรได้เสาไฟส่องสว่าง 20 ต้น กลับได้เสาสวยงามเพียงไม่กี่ต้น!

และนี่ยังเป็นอีกหนึ่งกลไก ที่จะสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นได้จริงๆ นอกจากการอภิปรายของผู้แทนในสภาแล้ว ที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ ว่ารัฐเอาภาษีเราไปใช้ทำอะไร? คุ้มค่าไหม? เพราะการอภิปรายนี้ อาจเป็นแค่การประชุมนึงที่เกิดขึ้นและจบไปเท่านั้น นอกจากนี้มั่นใจได้ว่า ภาษีทุกบาททุกสตางค์ของเรา นำไปใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

มาเปลี่ยนงบฯ ไทยให้เป็น Participatory Budgeting กัน!

ปฎิเสธไม่ได้ว่า แค่เพียง ELECT อย่างเดียว เราคงทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยรัฐด้วย ถ้ารัฐอยากเพิ่มความโปร่งใสให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และอยากให้มีแผนงานโครงการที่กำหนดสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ก็ต้องมีส่วนทำให้เสียงของประชาชนไปถึง และมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทุกขั้นตอนด้วย 

รอให้ ELECT ทำหรอ? ไม่เอาน่า.. ถ้าคุณอยากได้อยากมี ก็มาช่วยกันทำสิ! ในงาน #ACTkathon2021 งานนี้ทีม ELECT เองก็ไปร่วมด้วยเหมือนกันนะ โดยช่วยคิด ช่วยแชร์ และเป็นกำลังใจให้หาไอเดียใหม่ที่จะพอเป็นประโยชน์กับทุกคนได้ เพื่อที่เราจะได้ช่วยกับสร้างการติดตามงบประมาณและการมีส่วนร่วม ให้เกิดขึ้นได้อย่างเเท้จริง

ดูรายละเอียดและสมัครได้ถึง 5 ก.ค. 64 ที่นี่เลย
👉🏻
http://bit.ly/actelect

ปล. มาร่วมแรง ร่วมใจ สร้างการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้กัน 😊


อ้างอิง