รัฐประหารไม่เป็นความผิด อภิสิทธิ์ทางรัฐธรรมนูญ
แม้การรัฐประหาร (coup d’état) ในทางสากล จะถือเป็นการใช้กำลังทางการทหารล้มรัฐบาลอย่างฉับพลัน เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำฝ่ายบริหาร และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ก่อการรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่การกระทำตามวิถีทางการเมืองทางแนวคิดประชาธิปไตย และถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศไทย ที่การรัฐประหารล้วนได้รับอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดมาตลอด โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมความผิดแก่การทำรัฐประหารในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของประเทศไทย
ELECT จะพาไปดูรายละเอียดเรื่องการใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทยเพื่อสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า มีพัฒนาการอย่างไร และบทบัญญัติเหล่านี้สร้างปัญหาทางแนวคิดและหลักการต่าง ๆ อย่างไร
“อภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การทำรัฐประหารในรัฐธรรมนูญไทยเกิดขึ้นมาโดยตลอด”
บทบัญญัติแรกในรัฐธรรมนูญไทยที่ได้สร้างผลนิรโทษกรรมแก่การทำรัฐประหารอย่างชัดเจน คือ “มาตรา 21 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515” ที่สร้างผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำของคณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรัฐประหารในอดีต ตั้งแต่วันที่มีการทำรัฐประหารจนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงผู้ปฏิบัติตามคณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรัฐประหาร
การสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญช่วงแรก ๆ จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลนิรโทษกรรมต่อเฉพาะคณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นหลัก ดังที่ปรากฏใน “มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519” “มาตรา 32 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520” และ “มาตรา 32 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534” ซึ่งสร้างผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำของหัวหน้าคณะรัฐประหารและคณะรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นในอดีตก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงผู้ปฏิบัติตามคณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรัฐประหาร
รวมถึงมีบทบัญญัติที่เริ่มขยายขอบเขตผลนิรโทษกรรมไปถึงคําสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหารตามอำนาจในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และคุ้มครองไปถึงบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ปฏิบัติการตามคณะรัฐประหารหรือหัวหน้าคณะรัฐประหาร ดังที่ปรากฏใน “มาตรา 222 แห่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534” ซึ่งถือเป็นการนิรโทษกรรมความรับผิดของคณะรัฐประหารทั้งในระดับผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก
“อภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ มีพัฒนาการอย่างมากช่วงหลังปี พ.ศ. 2540”
ด้วยความตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชน จนเกิดการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับหนึ่ง จึงทำให้อำนาจของทหารในทางการเมืองเริ่มถูกลดทอนลงไป ฝ่ายทหารจึงพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมในการกลับเข้าสู่อำนาจการปกครองประเทศผ่านการสร้างความชอบธรรมของการรัฐประหารด้วยผลของกฎหมาย
การสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญไทย ช่วงหลังปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีรายละเอียดที่ถูกออกแบบมาเพื่อยกเว้นความรับผิดให้แก่การทำรัฐประหารทั้งระบบอย่างครบวงจร ตั้งแต่ระดับผู้สั่งการ ผู้รับคำสั่ง ไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติการ
ซึ่งเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่สร้างผลนิรโทษกรรมครอบคลุมถึงการกระทำทั้งหลายเพื่อการทำรัฐประหารของหัวหน้าคณะรัฐประหารและคณะรัฐประหาร และการกระทำองคาพยพทั้งหลายที่เกี่ยวเนื่องกับการทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ ทั้งที่ได้กระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งขยายไปถึงก่อนวันก่อนการทำรัฐประหารด้วย ดังที่ปรากฏใน “มาตรา 36 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549” และ “มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557”
รวมถึงมีบทบัญญัติที่รับรองความต่อเนื่องของผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำของคณะรัฐประหาร และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของคณะรัฐประหารทั้งปวงที่ได้รับการรับรองความชอบด้วยกฎหมายไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน รวมถึงการกระทำเกี่ยวเนื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ดังที่ปรากฏใน “มาตรา 309 แห่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”
“บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือพัฒนาการด้านอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารอย่างที่สุด”
“มาตรา 279 แห่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ถือเป็นบทบัญญัติที่มีพัฒนาการอย่างมาก เนื่องจากเป็นการรวมเอากลไกใหม่ที่สร้างผลนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งมีผลตั้งแต่อดีตต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต รวมถึงการรับรองความต่อเนื่องของผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำของคณะรัฐประหาร และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของคณะรัฐประหารทั้งปวงมารวมอยู่ในมาตราเดียวกัน
ดังที่ปรากฏในวรรคหนึ่งของมาตรา 279 ที่สร้างและรับรองความต่อเนื่องของผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหาร และหัวหน้าคณะรัฐประหารในอดีตก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิบัติตามคณะรัฐประหาร และหัวหน้าคณะรัฐประหาร และสร้างผลนิรโทษกรรมล่วงหน้าการกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นไปตามอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมถึงการปฏิบัติตามการกระทำทั้งหลายเหล่านั้นด้วย และวรรคสองของมาตรา 279 ที่รับรองความต่อเนื่องของผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำของคณะรัฐประหารทั้งปวงที่ได้ถูกรับรองความชอบด้วยกฎหมายไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของคณะรัฐประหารทั้งปวง
“ปัญหาทางแนวคิดและหลักการของอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ”
การสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อการสร้างความชอบธรรมของการเข้าแทรกแซงการเมืองโดยฝ่ายทหารให้ฝังลึกลงไปในระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย โดยสร้างกลไกทางรัฐธรรมนูญเพื่อยกเว้นความรับผิดแก่คณะผู้ก่อการรัฐประหาร รวมถึงสร้างช่องทางการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งกลไกเหล่านี้ถือเป็นการสร้างความเสื่อมถอยทางการเมือง (Political Decay) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงยังขัดต่อหลักคิดและหลักการของกฎหมายต่าง ๆ หลายประการ
อภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดไม่ถือเป็นการนิรโทษกรรมทางการเมืองตามหลักการสากล
แนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง (Political Purpose) ด้วยบทบัญญัติทางกฎหมายตามบริบททั่วไป มีขึ้นเพื่อสร้างความสงบสุขในสังคมภายหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ เช่น สงครามกลางเมือง การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยต้องมุ่งเน้นไปที่การยกเว้นความรับผิดให้กับประชาชน ซึ่งเป็นผู้เคลื่อนไหวตามการถูกครอบงำโดยอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลานั้น ๆ และจะไม่ทำการยกเว้นความรับผิดให้กับตัวการหรือคนที่ใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงในการสร้างกลไกทางการเมืองให้ประชาชนเคลื่อนไหวตามที่ตนเองต้องการ รวมไปถึงจะต้องมีการจำกัดขอบเขตการนิรโทษกรรมไม่ให้ไปถึงความผิดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
แต่การนิรโทษกรรมทางการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่กลับถูกใช้ในบริบทของการยกเว้นความรับผิดให้กับผู้ก่อการรัฐประหาร อันถือได้ว่าเป็นการ “กบฏ” ต่อรัฐและการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงนิรโทษกรรมให้กับการกระทำต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงทั้งการรัฐประหารและการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร ซึ่งการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งนี้เป็นการใช้แนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมืองอย่างผิด ๆ ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการยุติความขัดแย้งอย่างแท้จริง ซ้ำยังทำให้แนวโน้มของการละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
อภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดคือการขัดต่อแนวคิดและหลักการทางกฎหมาย
การที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสร้างผลให้คณะรัฐประหารซึ่งเข้ามาใช้อำนาจปกครองประเทศด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ได้รับการนิรโทษกรรมและสามารถรอดพ้นจากความรับผิดทั้งปวงไปได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง และเป็นการทำลายคุณค่าพื้นฐานทางหลักกฎหมาย เนื่องจากเป็นความพยายามในการทำให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้นกลายเป็นความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งความชอบด้วยกฎหมายนี้มิใช่ความชอบด้วยกฎหมายที่แท้จริง รวมถึงเป็นการขัดต่อแนวคิดและหลักการทางกฎหมายต่าง ๆ เช่น
– แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการปกครองและกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการจัดโครงสร้างการบริหารของรัฐสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การจำกัดอำนาจผู้ปกครอง และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสร้างพันธะแก่รัฐในการจะต้องรับรองและคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และจะต้องมีการสร้างระบบควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ซึ่งการสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรับรองและคุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริง เพราะจะทำให้การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยบรรดาการกระทำต่าง ๆ ของคณะรัฐประหาร กลายเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงทำให้การใช้อำนาจดังกล่าวถูกทำให้พ้นจากการตรวจสอบของประชาชน ซึ่งย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลไกการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
– หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ที่มีประเด็นหลักในเรื่องการแบ่งอำนาจรัฐออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งอำนาจแต่ละประเภทจะต้องถูกใช้โดยองค์กรที่ต่างกัน กล่าวคือ รัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ และทั้ง 3 องค์กรต้องสามารถควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันและกัน (check and balance) เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ ซึ่งการสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหาร ย่อมเป็นการรับรองว่าคณะรัฐประหารที่ถือครองอำนาจฝ่ายบริหารในขณะนั้น สามารถที่จะใช้อำนาจทุกรูปแบบ ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้เกิดการตัดอำนาจในการถ่วงดุลและตรวจสอบโดยองค์กรอื่น ๆ โดยเฉพาะศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการที่ควรมีอำนาจในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติและบริหาร กลับไม่มีอำนาจตรวจสอบในเรื่องนี้
– หลักนิติรัฐ (Legal State) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้รัฐต้องยอมอยู่ใต้ระบบกฎหมายในความสัมพันธ์กับปัจเจกชน ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดการกระทำของรัฐต่อปัจเจกชน 2 ประเภท ได้แก่ กฎเกณฑ์ที่กำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และกฎเกณฑ์ที่กำหนดวิธีการและมาตรการซึ่งรัฐหรือหน่วยงานรัฐสามารถใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด เพื่อเป็นการจำกัดอำนาจของรัฐในการใช้กฎเกณฑ์ทั้ง 2 ประเภทนี้ภายใต้ระบบกฎหมาย เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันและแก้ไขการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหาร ย่อมเป็นผลให้ไม่อาจมีประชาชนผู้ใดสามารถเอาผิดคณะรัฐประหารได้ และทำให้ไม่สามารถจำกัดอำนาจของรัฐด้วยหลักการพื้นฐานและคุณค่าทางกฎหมายต่าง ๆ ได้
“อภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ คือความน่าละอายทางประชาธิปไตย”
กล่าวโดยสรุป บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบเพื่อสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารของประเทศไทยมีพัฒนาการมาโดยตลอด ซึ่งทุกบทบัญญัติล้วนมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกเว้นความรับผิดและรับรองความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหาร ซึ่งขัดต่อแนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมืองอย่างสากล รวมถึงเป็นการใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างขัดต่อแนวคิดพื้นฐานทางกฎหมายที่รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดซึ่งต้องถูกใช้เป็นหลักประกันพื้นฐานทางสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่การรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นการทรยศต่อประชาชนผู้ควรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริง เพราะเป็นการนำเอาสิ่งที่ขัดต่อคุณค่าพื้นฐานทางประชาธิปไตยมารับรองให้เกิดผลแห่งความชอบด้วยกฎหมายขึ้นมา ซึ่งเป็นความน่าละอายที่เกิดขึ้นจริง และย่อมทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างแน่นอน
เขียนโดย สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
ชำนาญ จันทร์เรือง, “ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ”, สืบค้นจาก http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=982
สถาบันพระปกเกล้า, “นิรโทษกรรม”, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นิรโทษกรรม
สุกิจ สัมฤทธิ์ผ่อง , “บทความเรื่อง กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม” , สืบค้นจาก http://web.krisdika.go.th/pdfPage.jsp?type=act&actCode=175
เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน ว่าด้วย รัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2557)
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 2 การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน – เอกชนและพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550)
จุฑามาศ ตั้งวงค์, “ข้อจำกัดอำนาจในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
ภาพประกอบ:
จากโครงการของ ELECT ชื่อว่า Reconstitution ฐานข้อมูลรัฐธรรมนูญไทยออนไลน์ ในหมวดอำนาจคณะรัฐประหาร หัวข้อการสร้างอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิดแก่คณะรัฐประหาร (https://recon.elect.in.th/categories/junta_authority/topics/8)