Article


Content by

Suphisara Isaranugul

HOW THEY LIVED : เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ของคนเดือนตุลาผ่านหนังสือ ภาพยนตร์ และเพลง

จากเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจวันที่ 6 ตุลา 2519 ภาพความทรงจำการปราบปรามด้วยความรุนแรงที่ติดตราตรึงใจใครหลายคน แต่ครั้งนี้อยากชวนทุกคนไปดู เหตุการณ์ เรื่องราวการต่อสู้ของคนเดือนตุลา ในช่วงปี 2516 – 2519  เรียกว่า ยุคทองของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการต่อต้าน ผ่านผลผลิตทางศิลปะ (ประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม) ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เพลง ภาพยนตร์ แล้วศิลปะเหล่านี้ได้สะท้อนเรื่องราว ประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างไร? ท่ามกลางวัฒนธรรมกระแสหลักที่ต่างผลิตผลงานและสร้างการครอบงำความคิด (HEGEMONY) ของคนในยุคนั้นเช่นกัน

 

ทำไมการต่อสู้ทางการเมืองผ่านศิลปะจึงน่าสนใจ?

ศิลปะเหล่านี้ เช่น ภาพยนตร์ เพลง และหนังสือ หากสร้างเพื่อสื่อสารความหมายให้เข้ากับชีวิตประจำวันและสถานการณ์เฉพาะบริบท เวลาในช่วงนั้นๆ ขยายออกไปวงกว้างในสังคม จะก่อเกิดประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมได้ ประกอบกับจุดเด่นน่าสนใจ คือ ศิลปะเป็นรูปแบบค่อนข้างใกล้ตัวและรูปแบบสวยงาม สุนทรีย์ ไม่ได้เป็นการบีบบังคับ ทำให้เข้าถึงได้ง่าย  ฉะนั้นหากมองเรื่องการต่อสู้ทางประชาธิปไตย ช่วงที่มีการแสดงออกทางความคิด และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือ ช่วงของคนตุลา (14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519)

ศิลปะของคนเดือนตุลาดูผ่านอะไรบ้าง?

เป็นการรวบรวมข้อมูลผ่านศิลปะ หนังสือ ภาพยนตร์ และเพลง ทั้งจากยุคของคนเดือนตุลา  (2516 -2519)  และที่ได้รับแรงบันดาลใจต่อมา ซึ่งพยายามรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด โดยเฉพาะเพลงที่จะไม่ค่อยมีเนื้อเพลงเท่าไหร่ จึงพยายามฟังและแกะออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเนื้อหาบางท่อน ซึ่งรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ แล้วนำมาศึกษาเรื่องราวของคนตุลา แบ่งเป็น

1. หนังสือในยุคนั้น : แบ่งเป็นหนังสือ 100 เล่มของคนตุลา และหนังสือต้องห้ามในยุคนั้น
2. ภาพยนตร์ : เป็นภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น (2516 -2519) และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือนำฉากเรื่องราวของคนเดือนตุลามาใส่
3. เพลง จากวงดนตรีในยุคนั้น : ได้แก่ วงกรรมาชน วงคาราวาน วงกงล้อรวมฆ้อน วงโคมฉาย วงฟ้าสาง วงต้นกล้า และเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคนเดือนตุลา

งานศิลปะของคนเดือนตุลาสะท้อนอะไร?

จากการรวบรวมผลผลิตศิลปะที่เกี่ยวข้องกับคนเดือนตุลา เหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา ผลงานทั้งเกิดจากคนเดือนตุลาเองและผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคนเดือนตุลา สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบจากทั้งสามศิลปะ คือ การสะท้อนประเด็น บริบทเหตุการณ์ของคนเดือนตุลา ผ่านข้อความสำคัญ (KEYWORD) เพื่อเล่าเรื่องเดียวกันออกมา

1.KEYWORD แรก คือ “คอมมิวนิสต์/สังคมนิยม/ทุนนิยม/มาร์กซิสม์/ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ/ลัทธิแก้,ลัทธิรีวิสชั่นนิสม์”

คำนี้ปรากฎบ่อยโดยเฉพาะในหนังสือทั้งหนังสือคนเดือนตุลาสามารถอ่านได้ และหนังสือต้องห้าม ได้แก่
“จีนคอมมิวนิสต์” , “ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ว่าด้วยทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์” , “บนเส้นทางไปสู่สังคมนิยมจีน” , “หลักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้น” และอย่างหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างเรื่อง “ฟ้าใสใจชื่นบาน” ที่ไม่ได้เล่าโดยตรง แต่สะท้อนแนวคิดผ่านเรื่องราวการเข้าป่า และความเชื่อในอุดมการณ์

แล้วคำว่า คอมมิวนิสต์/สังคมนิยม/ทุนนิยม/ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ/ลัทธิแก้,ลัทธิรีวิสชั่นนิสม์ คืออะไร?
Keyword เหล่านี้เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของนักคิดที่ชื่อว่า คาร์ล มาร์ก (Karl Marx) โดยแนวคิดนี้เรียกว่า มาร์กซิสม์ (Marxism) เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมือง จากที่ได้รับอิทธิพลแนวคิด
วิภาษวิธีประวัติศาสตร์ของเฮเกล มองการปะทะของคู่ตรงข้าม และส่งผลเกิดการผสมและสังเคราะห์สิ่งใหม่ขึ้นมา และเศรษฐศาสตร์การเมืองของอดัม สมิธ และอีกหลายแนวคิดผสมผสานเป็นอิทธิพลทำให้มาร์กเกิดแนวคิด มองจากประเด็น “แรงงานในระบบเศรษฐกิจ” พูดถึงการขูดรีดจากนายทุน จนไปสู่การสร้างความแปลกแยกทั้งการผลิต เกิดชนชั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดข้อขัดแย้งในสังคม  ฉะนั้นแล้ว แรงงานจะเป็นปัจจัยที่เป็นการปะทะ ลุกขึ้นสู้เพื่อต่อต้านความไม่ยุติธรรมของนายทุน และเกิดเป็นประวัติศาสตร์ทางสังคมใหม่ อย่างคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นอุดมการณ์สูงสุดที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของของสิ่งของและทรัพย์สินต่างๆ ไม่มีรัฐหรือรัฐบาล ส่วนสังคมนิยมลำดับรองลงมา โดยยังต้องมีรัฐจะครอบครองทรัพยากรพื้นฐานเกือบทั้งหมดไว้อยู่และทำหน้าที่คอยจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ต่อมาทุนนิยมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เป็นระบบที่ให้อิสระ สิทธิเสรีภาพแก่เอกชนในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเต็มที่ มีระบบกลไกราคาและระบบตลาดในการแข่งขัน รัฐเป็นเพียงผู้คอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่เต็มไปด้วยชนชั้นและการกดขี่

อย่างไรก็ตามถึงมาร์กจะมีแนวคิดหลักแบบนี้ แต่มีสิ่งที่เรียกว่า ลัทธิแก้,ลัทธิรีวิสชั่นนิสม์ กล่าวคือ เป็นการแก้ ปรับเปลี่ยนที่ไม่ไปสู่เป้าหมายที่จะเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ หรือพยายามดัดแปลงจากเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่มาร์กไม่เห็นด้วย

ซึ่งอุดมการณ์เหล่านี้ถูกแผ่ขยายมาจากปัจจัยภายนอกอย่าง “สงครามเย็น” ที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว จากมหาอำนาจใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ที่มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ส่วนสหภาพโซเวียต จีน ที่มีระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์  แล้วต่างฝ่ายต่างพยายามเผยแผ่อุดมการณ์ของตนมายังหลากหลายประเทศ ถูกปรากฎออกมาผ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นบริบทของสังคมไทยนั้น จึงได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก (การเผยแพร่แนวคิดในช่วงสงครามเย็น)ส่งผลให้คนตุลาที่ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนได้รับรู้และอ่านแนวคิดเหล่านี้ แล้วเกิดการตั้งคำถาม ย้อนมองประเทศไทย ถึงเห็นมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งความจริงอุดมการณ์ “คอมมิวนิสต์” ความหมายโดยแท้จริงไม่ได้เลวร้าย สุดท้ายสิ่งที่ต้องการคือการไปสู่ความเท่าเทียม

2.Keyword สอง คือ “อเมริกา/จีน”

คำนี้ปรากฎในเพลงบ่อยครั้ง รองลงมาคือหนังสือ สิ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าทำไมคำว่า “อเมริกา” ถึงพูดบ่อย แล้วการพูดเป็นเชิงลบอีกด้วย แตกต่างจากจีนที่ถูกกว่าในเชิงบวก ตัวอย่างจากเนื้อเพลงเช่น “อเมริกันอันธพาลหลากหลายวิธีโจมตีรุกรานการเมืองทหารยันเศรษฐกิจ – อเมริกันอันตราย วงคาราวาน” “ไอมะริกัน ไล่มันออกไป ชาติไทยจะสมบูรณ์ – ซัดอเมริกัน วงต้นกล้า” “อเมริกันคือมหาศัตรูมารุกราน – มุ่งไป วงโคมฉาย” ทั้งๆที่อเมริกาเป็นสัญญะแห่งความเสรี ภาพของอเมริกาต่างเป็นความสวยงาม

ซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญว่า อเมริกัน มีบทบาทอะไรช่วงนั้นในไทย? จาก Keyword แรกเราเห็นการแผ่ขยายอุดมการณ์ทางการเมืองของมหาอำนาจ  โดยจีนในยุคนั้น สภาพสังคมประชาชนยากจน ชาวไร่ชาวนาถูกเอารักเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน และชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งเหมา เจ๋อ ตุง ได้ทำการปฏิวัติรัฐบาลได้ยึดที่ดินทำกินของเอกชนมาเป็นของรัฐบาล และปรับมาใช้ระบบนารวม เพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ภาพของการปฏิวัติเหมาและจีน เป็นภาพแห่งการต่อสู้เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาสังคม ทำให้จีนถูกมองเป็นเชิงบวกมากกว่าอเมริกา พอมองภาพของอเมริกาเป็นที่แน่นอนว่าการแผ่ขยายอำนาจคือขั้วความคิดอุดมการณ์ที่ต่างกันมาเจอกัน โดยเฉพาะฝั่งที่ต่อต้าน เปลี่ยนสังคมเดิมที่เป็นอยู่ ย่อมเจอแรงปะทะจากระบบเดิม ซึ่งด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยตอนนั้นห้อมล้อมไปด้วยสงครามรอบด้าน แบ่งหลายประเทศออกเป็น 2 อุดมการณ์ อย่างเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินโดจีน (เวียดนาม , ลาว , กัมพูชา) ด้วยพื้นที่ที่ติดกับจีนและรัสเซียทำได้รับแนวคิดคอมมิวนิสต์ ประกอบกับได้ผ่านยุคเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส  ทำให้อินโดจีนเกิดกระแส 2 แนวคิดปะทะกันอย่างรุนแรง แล้วไทยเองมีความเสี่ยงจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว จึงถูกเป็นฐานทัพของอเมริกาในการแพร่อุดมการณ์ และสนามบินหลายแห่งถูกใช้เพื่อลำเลียงอาวุธ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมและมีถูกใช้เป็นสถานที่ทดลองโปรยฝนเคมี ทหารไทยถูกส่งไปช่วยสนับสนุนรบ และแน่นอนเมื่อทหารอเมริกันเข้ามา บริบทสังคมไทยก็เปลี่ยนไปเกิด “สถานบริการ” หลายแห่งขึ้นในไทย ประกอบกับภาพยนตร์ในยุคนั้นพยายามสะท้อนเรื่องเหล่านี้ในสังคมไทยด้วย เช่น เรื่องตลาดพรหมจารีย์ ดังนั้น อเมริกาในตอนนั้นถือเป็นผู้ร้าย อันธพาลที่กดขี่ รุกรานทั้งไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ความรุนแรงและโหดร้ายของสงคราม ทำให้ประชาชนและคนตุลาถ่ายทอดศิลปะเพื่อขับไล่อเมริกาออกไป
ฉะนั้น ทำให้ภาพจีนและอเมริกาถูกมองและนำมาซึ่งการถ่ายทอดความรู้สึกทางศิลปะต่างกัน

3.Keyword สาม คือ “ชนชั้น (ชาวนา กรรมกร)”

คำนี้ปรากฎเด่นชัดออกมาจากหนังสือ ตัวอย่างเช่น ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง , การต่อสู้ของกรรมกรไทย , กรรมกรในระบบนายทุน , ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย , สภาพการกดขี่ขูดรีด ชาวนา ชาวไร่ไทย ส่วนเพลง ตัวอย่างเช่น “กรรมกร ชาวนา จงมาร่วมกัน สรรค์สร้างโลกใหม่ – กรรมาชน วงกรรมาชน” “โอ้ชาวนาเกิดมามีกรรม – ชาวนารำพึง วงกรรมาชน” มาที่ภาพยนตร์เรื่อง โทน , เขาชื่อกานต์ แนวสะท้อนถึงชนชั้นที่แตกต่างทางสังคม ศิลปะเหล่านี้พยายามบอกว่า สังคมไทยเกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและชนชั้น คนจนจนมาก ส่วนนายทุนผู้มีอำนาจร่ำรวย อีกทั้งคนร่ำรวยเหล่านี้กดขี่ประชาชนอย่างมาก
เมื่อพ่วงกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเฉพาะชาวนา สังคมไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมแต่ชาวนาทุกข์ยากลำบาก โดยเฉพาะภาคอีสานที่แร้นแค้น น้ำแล้ง ได้ผลผลิตน้อย แถมยังโดนกดราคาจากนายทุนและพ่อค้าคนกลาง ทำให้ชาวนายากจน  และต่อมาคือกรรมกร/กรรมาชีพ ผู้ใช้แรงงาน เมื่อสู่ระบบนายทุนถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นผู้สร้างใช้แรงแต่จนแม้แต่ข้าวยังไม่มีกิน ดังบทเพลงว่า “แม้แต่ข้าวราดแกงก็ยังไม่มีจะกิน – แปลกใจ วงฟ้าสาง” การที่ชาวนาและกรรมกร เป็นประชาชนกลุ่มหลักของประเทศ พบเจอกับปัญหา การแบ่งชนชั้น สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำและปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นชัดเจน

4.Keyword สี่ คือ “ต่อสู้”

คำว่าต่อสู้ ผ่านงานศิลปะเหล่านี้ถูกสื่อสารออกมา 2 แบบ คือ 1. โดยตรงว่าต่อสู้ ต่อต้าน และ 2.นัยยะแอบแฝง เล่าถึงความหดหู่ การต่อสู้ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนาที่เป็นผู้เบิกทาง ความตายที่เกิดขึ้น และความพยายามสื่อให้ประชาชน มวลชนออกมาต่อสู้ ปลดแอกตนจากสภาพปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เช่น หนังสือ “แนวทางการต่อสู้ของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา” “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร”
“ความใฝ่ฝันแสนงาม” “เยาวชนผู้บุกเบิก” ภาพยนตร์อย่าง “ดาวคะนอง” เล่ากรณี 6 ตุลาถึงความทรงจำที่กระจัดกระจายสลับซับซ้อน
“ความทรงจำ-ไร้เสียง” หนังสารคดีสำรวจเสียงของ 2 ครอบครัว ที่ได้สูญเสียลูกไปในวันที่ 6 ตุลา และผลงานเพลงของหลายวงพยายามสื่อความหมายผ่านเนื้อเพลง อารมณ์ จังหวะ ทั้งฮึกเหิม เศร้า หดหู่ “เธอตายเพื่อจะปลุกให้คนตื่น เธอตายเพื่อผู้อื่นอีกหมื่นแสน เธอคือดินก้อนเดียวในดินแดน – กระทุ่มแบน วงต้นกล้า” “กูจะปฏิวัติเพื่อชีวิตใหม่ – กูจะปฏิวัติ วงกรรมาชน” “แสง ดับ แสง ดับ ลับลอยไกล เสียงปืนดังพรากเธอไป – แสง วงกรรมาชน”
ศิลปะที่พยายามสื่อทั้งสองความหมายนี้ ช่างเป็นเครื่องสะท้อนภาพการต่อสู้ของประชาชน โดยเฉพาะนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ท่ามกลางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิดที่เป็นกระแสหลัก และยึดโยงกับสังคมมาอย่างยาวนาน การต่อสู้ทางประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลง การใช้อุดมการณ์ที่ต่อต้านกับกระแสหลัก ย่อมมีทั้งความสุข และความโศกเศร้า เพราะโครงสร้างระดับใหญ่ ประชาชนที่อยู่ในการกล่อมเกลาความคิด ความเชื่อจากกระแสหลักมาอย่างยาวนาน อาจยังไม่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และด้วยความเป็นนักศึกษา ที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน กรรมกร ชาวนา ที่โดนการแบ่งชนชั้นทางสังคม ถึงจะมีจำนวนมากหากเทียบกับพวกชนชั้นนายทุน ชนชั้นทางสังคมที่สูงขึ้นไป แต่แรงต่อต้านกำลังน้อยต้องใช้เวลา เลยสะท้อนออกมาผ่านงานศิลปะถึง 2 แบบ เพื่อเข้าถึงทุกคนในสังคมมากที่สุด และเพื่อให้คนในสังคมเห็นและเสริมแรงร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน

5.Keyword ห้า คือ “รำลึกเหตุการณ์”

Keyword คือ 14 ตุลา / 6 ตุลา /วันมหาวิปโยค ผ่านหนังสือรำลึกและเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ของคนเดือนตุลา ทั้ง 14 และ 6 ตุลา ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของไทยสำคัญและควรจดจำ เรียนรู้ การต่อสู้เรียกร้องและปัญหาการสร้างประชาธิปไตยของไทย เช่น 3 ทศวรรษ 14 ตุลา กับปัญหาประชาธิปไตยไทย , บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา

หลังจากเหตุการณ์ 14 – 6 ตุลา ผ่านมา ภาพยนตร์ทำหนังอิงและเล่าเหตุการณ์ความรุนแรง ในหลายแบบหลายมุมมากขึ้น มีการใช้ฉากในเหตุการณ์จริงๆ สัมภาษณ์จากครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพื่อบอกว่าสังคมไทยมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและเป็นเหตุการณ์ที่ใครหลายคนไม่อาจลืมเลือน เกิดขึ้นจริงในไทย จากแต่เดิมที่ภาพยนตร์จะเล่าแค่บริบททางสังคม กล้าเล่ามากขึ้นประกอบกับการเปิดกว้างขึ้น

 

ทุก KEYWORD จากศิลปะ เชื่อมโยงและสะท้อนภาพของบริบททางสังคมไทยที่เกิดขึ้น

หากนำ KEYWORD มาร้อยเรียง จะเห็นว่าปัจจัยภายนอกอย่าง การปะทะของแนวคิด 2 ขั้วอุดมการณ์ของมหาอำนาจอย่างอเมริกามีแนวคิดระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และสหภาพโซเวียต จีน มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์จากนักคิดอย่างมาร์ก การที่มหาอำนาจเหล่านี้พยายามจะแผ่แนวคิดของตนให้ได้มากที่สุด ข้อดีทำให้มองเห็นว่าความคิดความเชื่อไม่มีกระแสเดียว ก่อเกิดการตั้งคำถาม การตื่นรู้ นอกจากนี้ แนวคิดเหล่านี้จะไม่มีผลเลย หากปัจจัยภายใน คือ บริบททางสังคมของไทยเราเอง ที่ทำให้เห็นถึงความกดขี่ ชนชั้นชาวนา กรรมกร/กรรมมาชีพ มีปัญหาจริงๆ และคนที่ได้อ่าน รับรู้ ผลิตซ้ำ แนวคิดสู่การเปลี่ยนแปลง คือ นักศึกษา/คนเดือนตุลา KEYWORD เหล่านี้เลยฉายภาพของบริบทการต่อสู้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไรบ้าง? ไม่ใช่เป็นการปะทะที่เกิดจากอารมณ์

ฉะนั้นแล้ว ศิลปะไม่เพียงแต่สร้างความสวยงาม หากเราเอาออกมากางดู จะเห็นKEYWORD/เรื่องราวของตัวมันเอง อีกทั้งเห็นสิ่งที่ศิลปะพยายามเล่าเรื่องราวและถ่ายทอด ดังเช่นศิลปะการต่อสู้ของคนเดือนตุลา ผ่านหนังสือ ภาพยนตร์ และเพลง เป็นสิ่งสะท้อนสำคัญถึงยุคทองของประชาธิปไตย การเล่าผ่านงานศิลปะเพื่อเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนในยุคนั้นได้โดยง่าย


สุดท้าย สิ่งที่เราได้จากศิลปะในยุคคนเดือนตุลา คือ ตีแผ่สังคม การถางทาง บุกเบิก และต่อสู้ เป็น “ภาพจำ ใน KEYWORD” ว่า “คอมมิวนิสต์/สังคมนิยม/ทุนนิยม/มาร์กซิสม์/ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ/ลัทธิแก้,ลัทธิรีวิสชั่นนิสม์” , “อเมริกา/จีน” , “ชนชั้น (ชาวนา กรรมกร)” และ “ต่อสู้”

ตอนนี้คำถามคือ พอมาถึงยุคของเราแล้ว ผ่านไปสัก 50 ปี เราอยากเห็นการนิยาม KEYWORD ของยุคเราเป็นแบบไหน?

#5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
#HOWTHEYLIVED

 

ดาวน์โหลดข้อมูล
[Opensource] How they lived

อ้างอิง

https://annop.me/1913/

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/DPUSuthiparithatJournal/article/view/248384

http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=661711

https://annop.me/1941/

https://web.facebook.com/SenthangPlangshevit/photos/a.186102735133178/230602157349902/

https://www.youtube.com/watch?v=kXZyRCNpbBM

https://annop.me/1986/ 

https://youtu.be/7d0AQxVex9U 

http://forlifemusic.com/?p=85

https://news.thaipbs.or.th/content/177922

https://prachatai.com/journal/2019/02/80973 

http://openbase.in.th/files/ebook/textbookproject/tbpj203.pdf  

https://filmclubthailand.com/articles/special-scoop/club-house-summarize-political-in-thai-film/

สรุปเสวนาคลับเฮาส์ ‘การเมืองในหนังไทย’ : สถานะของภาพยนตร์ในการเมืองร่วมสมัย

https://waymagazine.org/movie-brainwash-2/

https://filmclubthailand.com/articles/special-scoop/club-house-summarize-political-in-thai-film/

https://prachatai.com/journal/2013/11/49740 

https://news.thaipbs.or.th/content/252665

https://www.fapot.or.th/main/archive/43  

https://prachatai.com/journal/2014/10/55970

https://thematter.co/social/dont_panic_and_understand_marxist_with_12_theorist/130754

https://youtu.be/5PnhTqPqzfM

https://youtu.be/QNUs38JBsxE
https://www.matichon.co.th/politics/news_2964836

https://www.britannica.com/topic/dialectical-materialism