คนรุ่นใหม่เปลี่ยนการเมืองอย่างไรได้บ้าง
เลือกตั้งต้นปี 2562 ใครๆ ก็คาดหวังกับ ‘คนรุ่นใหม่’ จะออกมาเป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง หลายพรรคการเมืองก็ตั้งเป้าหมายหาเสียงกับคนกลุ่มนี้ ว่าแต่นิยามของคนรุ่นใหม่สำหรับพรรคการเมืองต่างๆ นั้นเหมือนกันหรือไม่? และแต่ละพรรคจะชูนโยบายอะไรเพื่อจูงใจคนเหล่านั้นให้มากาเลือกในคูหาเลือกตั้ง?
ในวันเปิดตัวเว็บไซต์รวมข้อมูลการเมืองและการเลือกตั้งไทย Elect.in.th มีการเชิญตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ 4 พรรค ทั้งจากประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ เพื่อไทย และกลาง มาร่วมแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ‘คนรุ่นใหม่’ มีหน้าตาเป็นอย่างไร พวกเขาต้องการอะไร และจะสร้างความเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน
ใครคือคนรุ่นใหม่?
ว่าด้วยนิยามคนรุ่นใหม่ ในสายตาของตัวแทนพรรคต่างๆ
– ขัญฐมาจณ์ ชูดวงเกียรติกุล จากพรรคกลาง มองว่า “คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่วัยรุ่นที่เพิ่งจะมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 7 ล้านเสียง แต่เป็นพลังของคนที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศ”
– พรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ มองว่า “คนรุ่นใหม่ไม่ได้ตัดสินกันที่อายุ แต่คือคนที่ไม่ยอมทนและยอมจำนน และไม่รอให้ใครมาเปลี่ยนแปลงประเทศให้ แต่จะก้าวเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศเอง” “หน้าตาการเมืองไทยในขณะนี้ไม่ใช่เสียงของคนส่วนใหญ่ ถ้าไปดูอายุของ สนช.ทั้งหมด 75% มีอายุเกิน 60 ปี และมีอายุเฉลี่ยถึง 64 ปี ที่สำคัญส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ชาย” “ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ถูกพรากสิทธิในการเลือกตั้งไป หลายคนแต่งงาน มีลูก หรือเรียนจบปริญญาโทแล้ว ก็ยังไม่มีโอกาสได้เลือกนายกฯ ของตัวเองเลย”
– ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากพรรคเพื่อไทย มองว่า “ระบบการเมืองไทยในปัจจุบันไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เท่าไร การเมืองจึงไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเพียงพอ”
– พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า “คนรุ่นใหม่คือคนที่กระตือรือร้น อยากใช้สิทธิต่างๆ และถูกคาดหวังว่าจะต้องสนใจในประเด็นที่หลากหลาย พร้อมกับเป็นแกนนำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่พลังของคนรุ่นใหม่ไม่ได้วัดกันที่อายุเท่านั้น แต่อยู่ที่ว่าจะเสนออะไรให้กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน”
ประเด็นอะไรที่คิดว่าคนรุ่นใหม่สนใจ?
หลากหลายประเด็นถูกโยนขึ้นมากลางวงตัวแทนคนรุ่นใหม่ 4 พรรค อาทิ LGBT กัญชา เกณฑ์ทหาร ฯลฯ
– พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ตนไม่อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่เรื่องระหว่างฝ่ายที่เอา–ไม่เอาประชาธิปไตยเท่านั้น แต่อยากให้โยนประเด็นเฉพาะที่ใกล้ตัวคนมากขึ้น
– พรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดนโยบายใหม่ๆ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เองก็มีนโยบายย่อยๆ ที่คิดว่าคนน่าจะสนใจ อาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ลดอายุผู้สมัคร ส.ส. เป็นต้น
– ขัญฐมาจณ์ ชูดวงเกียรติกุล จากพรรคกลาง มองว่า อยากให้นำเทคโนโลยี blockchain มาช่วย ซึ่งน่าจะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงขึ้นมาได้ เพราะจะทำให้เราสามารถกำหนดสิทธิต่างๆ ได้เอง
– ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากพรรคเพื่อไทย มองว่าการเสนอประเด็นเฉพาะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ต้องหาวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด และต้องรับฟังเสียงของประชาชนด้วย
อะไรคือการเมืองใหม่ ในยุคที่คนใหม่ๆ เข้ามามีบทบาท?
การเมืองแบบเก่าถูกมองว่าต้องปรับเปลี่ยน ถ้าเช่นนั้นอะไรคือภาพลักษณ์การเมืองใหม่ๆ ที่ควรเกิดขึ้น ในยุคที่นักการเมืองรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาท
– ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากพรรคเพื่อไทย มองว่า ความคิดไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องสร้างระบบตัวแทนที่เข้มแข็ง ให้รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
– พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า คนรุ่นใหม่มักถูกมองว่าไม่มีประสบการณ์ มีแต่ความฝันและพลัง ทั้งที่จริงๆ คนรุ่นใหม่สามารถทำงานร่วมกับคนรุ่นก่อนได้ แม้บางเรื่องอาจไม่เชี่ยวชาญเท่า แต่ก็สามารถให้มุมมองใหม่ๆ ได้
– ขัญฐมาจณ์ ชูดวงเกียรติกุล จากพรรคกลาง มองว่า การสร้างการเมืองใหม่ๆ สามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลา อย่างพรรคกลางก็หวังจะทำให้การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากขึ้น
– พรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ มองว่า เราต้องการเปลี่ยนแปลงใน 3 ระดับ เปลี่ยนวัฒนธรรม ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองได้มากขึ้น เปลี่ยนหน้าตาสภาผู้แทนราษฎร ให้ไม่ได้มีแต่แค่ชายสูงวัย และเปลี่ยนนโยบาย จากแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทีละจุด เป็นแก้ไขปัญหาทั้งระบบในระยะยาว