อยากเป็นนายกฯ ต้องทำอย่างไร? เส้นทางสายอาชีพนักการเมือง กับ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ

‘นักการเมือง’ หนึ่งในอาชีพที่ปรากฏในข่าวและหน้าฟีดของเราทุกคนอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่คำถามคือถ้ามีเด็กสักคนยกมือขึ้นบอกครูว่า ‘โตขึ้นหนู/ผม อยากเป็นนายกฯ’ ครูหรือพ่อแม่ควรจะแนะนำเด็กคนนี้ว่าอย่างไร? เส้นทางชีวิตของเด็กคนนี้จะเดินไปทางไหน? จำเป็นต้องไปเรียนโรงเรียนเตรียททหารหรือเปล่า?

 

ด้วยความใคร่รู้เกี่ยวกับรูปแบบและระบบสถาบันการเมืองไทย เราจึงชวน ดร. สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างทางการเมืองไทย มาพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางสายอาชีพนักการเมืองในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่เส้นทางการศึกษา ไปจนถึงการไต่ระดับในสายอาชีพ เพื่อทำความเข้าใจอาชีพที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ตัวแทนของประชาชน’ ให้ชัดเจนกันยิ่งขึ้น

Photo Credit : thematter.co

Q : ถ้ามีเด็กคนนึงมาถามว่า “หนู/ผม อยากเป็นนายก ต้องทำอย่างไร” อาจารย์มีคำแนะนำอะไร?

A : จริงๆ ถ้าลองนับดูว่าที่ผ่านมามีเด็กกี่คนที่อยากเป็นนายกแล้วได้เป็นบ้าง มันก็คงมีไม่กี่คนจริงๆ ที่นึกขึ้นได้ก็มีแค่เด็กชายอภิสิทธิ์ ถ้าพูดกันแบบขำๆ ก็คงต้องไปสอบเตรียมทหารให้ได้ก่อน แต่เอาเข้าจริงมันก็ขึ้นอยู่กับอำนาจและเส้นสายกันเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเกิดในตระกูลที่เล่นการเมืองอยู่แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องง่ายหน่อย แต่ถ้าเกิดนอกตระกูลการเมือง ก็อาจจะต้องดูคุณอภิสิทธิ์ไว้เป็นตัวอย่าง ก็คือต้องรีบเข้าพรรคตั้งแต่อายุน้อยๆ เพราะการที่จะได้ไต่ระดับ ก็ต้องมีสายสัมพันธ์ (connection) กับตัวพรรคในระดับหนึ่ง แล้วพอก็เข้าไปมีบทบาทในแวดวงการเมือง สร้างผลงานดีๆ คุณก็จะได้ไต่ระดับขึ้นไปเอง

 

Q : อย่างนั้นถ้าถอยออกมาหน่อย อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งมาเป็นนักการเมืองได้?

A : อาจจะแบ่งได้เป็นสองอย่าง อย่างแรกถ้าเป็นทายาทนักการเมือง เมื่ออายุถึงเกณฑ์ ครอบครัวอาจจะผลักดันให้เข้าไป ถ้าไม่ใช่ทายาทก็แล้วแต่จังหวะของชีวิต เหตุผลที่เราเห็นข้าราชการเข้าไปเล่นการเมืองก็มีความเป็นไปได้ว่าพอมีตำแหน่งใหญ่โต ใกล้จะเกษียณ ก็จะมีคนมาชวนเข้าไป ข้าราชการที่ว่าก็คือรวมทั้งข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และ พลเรือน เพราะอย่างไรก็ไม่สามารถไปต่อในสายอาชีพเดิมได้แล้ว และนักการเมืองไม่มีการกำหนดอายุเกษียณ

 

Q : แล้วทหารกับการเข้าสู่วงการการเมืองล่ะ?

A : จริงๆ การที่มีทหารมาเกี่ยวข้องกับการเมืองเยอะ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการปลูกฝังในโรงเรียนทหารโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งมากกว่า เพราะหลายๆ คนที่เรียนจบ จปร.(โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) ใหม่ๆ ก็คงไม่ได้มานั่งคิดว่าจะต้องไปรัฐประหารตอนไหน โดยปกติก็ควรฝันที่จะเติบโตในสายอาชีพตัวเองก่อน ก็คือคิดที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก หรือเป็นดาวเด่นของรุ่น กว่าจะไต่ระดับขึ้นไปได้ ก็ต้องดูว่าควรจะผ่านเหล่ากรมไหนขึ้นไปบ้าง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าในระหว่างทางจะมีจังหวะสะดุด อาจจะถึงเวลาเปลี่ยนขั้วการเมืองพอดี ก็เป็นไปได้ว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ลาออกเพื่อมาทำงานการเมือง

 

Q : เป็นทหาร มาเล่นการเมือง ต้องลาออกใช่ไหม?

A : ถ้าพูดในแบบการเมืองโดยปกติ ก็คือต้องลาออกจากหน้าที่การงานเดิมที่ทำอยู่ แต่ถ้าเป็นการเมืองพิเศษอย่าง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็สามารถทำการเมืองควบคู่ไปได้โดยไม่ลาออก เป็นผลทำให้เราได้เห็นภาพที่มีทหารยศต่างๆ มานั่งในเก้าอี้ คสช. เต็มไปหมด แต่ว่ากันตามจริง ถ้าจะเล่นการเมืองก็ควรลาออกมาทำ

ถ้ามองย้อนกลับไปในยุคที่ผ่านมา จะเห็นว่าพวกผู้นำทางการเมืองจะมีความเชื่อมโยงกับกองทัพ อย่างเช่นคุณทักษิณก็เคยเรียนที่เรียนโรงเรียนทหารมา พอเข้ามาทำการเมืองก็จะมีเพื่อนร่วมรุ่นที่อยู่ในกองทัพ และเค้าก็ต้องรู้ว่าการที่จะสามารถอยู่ในตำแหน่งการเมืองได้ดี ก็ต้องสร้างสมดุลในกำลังกองทัพให้ได้ คนที่เข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาลเค้าก็ต้องวางขุมกำลังของตัวเองไว้

 

Q : แปลว่าเราปฎิเสธทหารในระบบการเมืองไม่ได้หรือเปล่า?

A : การที่ทหารเข้ามามีบทบาทในการเมืองมันเริ่มตั้งแต่ปี 2475 เพราะรัฐบาลมี 2 ฝั่งคือฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทรราช ณ เวลานั้นมีการประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเดิมหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่จะมีทั้งพลเรือนแก่และทหารเก่า ช่วงที่ชิงอำนาจกัน ฝ่ายที่ชนะก็คือฝั่งทหาร ก็เลยเป็นที่มีของจอมพลป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ส่งผลมาจนถึงปัจจุบันไปทั้งหมด เพราะมันยังมีบทบาทของสถาบันที่เข้ามาคั่นด้วยในช่วงในหลวงรัชกาลที่ 9

การที่ฝ่ายนายทุนภูมิภาคเข้ามา การที่ทหารสร้างสมดุลอำนาจกับฝ่ายภูมิภาค และครองการเมืองด้วยกันด้วยระบบครึ่งใบ มันก็เป็นมาเรื่อยๆ จนมาถูกท้าทายในยุคทักษิณ ทำให้เกิดบ้านเมืองยุคนี้ขึ้นมา ถ้าถามว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะกลับไปสู่ยุคครึ่งใบเหมือนเดิม ก็ตอบได้เลยว่าเป็นไปได้ยากมากๆ

ในบ้านเมืองไทยถือเป็นเรื่องยากมาก มันก็มีคนที่ศึกษาเหมือนกันว่าโรงเรียนทหารปลูกฝังอะไรมา ทำไมเมื่อถึงเวลาต้องออกมาปฎิวัติกันด้วย แต่เอาเข้าจริงเขาก็ปลูกฝังกันมาแค่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันก็ไม่ได้มีสอนว่าการปฏิวัติต้องปฏิวัติยังไงเมื่อไหร่ แต่ก็เป็นไปได้ว่าการสอนแบบนี้สร้างจิตสำนึกว่าตัวเองเป็น Guardiun of the State หรือเป็นคนที่จะต้องออกมาปกป้องบ้านเมือง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นก็ได้

 

Q : ย้อนกลับไปที่เส้นทางการเมืองของคนทั่วไป เรามีสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นนักการเมืองไหม?

A : ในเมืองไทยยังไม่มีสถาบันแบบนั้น แต่ก็มีพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามให้สิ่งนี้เกิดขึ้น นั่นก็คือยุวประชาธิปัตย์ เพื่อจะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ ใครก็ได้สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เด็กเยาวชนที่สนใจการเมืองก็สามารถเข้ามาได้ ซึ่งจะมีระบบที่ทำให้ได้ทำงานกับพรรคไปเรื่อยๆ ถ้าหน่วยก้านดีก็มีสิทธิที่จะไต่ระดับไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ชัดเจนว่าทำได้จริงก็เริ่มจากเป็น ส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) แล้วก็ไต่ระดับไปเป็น ส.ข. (สมาชิกสภาเขต) ถ้าได้รับเสียงตอบรับดี ก็จะไต่ระดับเป็น ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ก็มีหลายคนที่ไต่ระดับแบบนี้เยอะ แต่ก็มีหลายคนที่บอกว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีเส้นสายหรือมีคนฝากเข้าเป็นเรื่องปกติ

ส่วนสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ทำก็มีความแตกต่างจะพรรคประชาธิปัตย์อยู่พอสมควรอาจจะต้องดูกันในระยะยาว ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะความสำเร็จครั้งเดียวก็อาจจะยังบอกอะไรไม่ได้ว่ายั่งยืนไหม อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ทำก็คือทำให้เกิดภาพอุดมคติแบบพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นจริงมากกว่า

 

Q : แล้วในมุมมองของอาจารย์ คิดว่าเราควรมีไหม เพื่อผลิตนักการเมืองที่มีคุณภาพ?

A : จริงๆ ก็ไม่ควรมีรูปแบบการศึกษาที่จำกัดว่าจบอะไรถึงจะได้เป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองคือตัวแทนของประชาชน คนในสังคมเรามีหลากหลายอาชีพ ดังนั้นไม่ควรจำกัดคนที่จบมาแค่สาขาเดียวเพื่อมาทำงานการเมือง คนในสังคมก็ควรจะมีตัวแทนของเขา ถ้ามองภาพในอุดมคติ ถ้ามี ส.ส.ในประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรมีตัวแทนจากเกษตรกร อยู่ในสภา 40 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน หรืออาจจะไม่ได้เป็นชาวนา แต่เป็นคนที่รู้เรื่องของชาวนาเข้าใจปัญหาของชาวนาก็ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ควรมีเรียนวิชาชีพนี้โดยตรงเพราะวิชาชีพมันสามารถมาเรียนกันทีหลังได้ ควรเลือกก่อนแล้วค่อยมาจัดการศึกษาทีหลังได้ อย่างการที่ตั้งสถาบันพระปกเกล้าก็ด้วยเพราะเหตุผลนี้ ก็คือคุณสามารถมาทำงานการเมืองไม่ว่าคุณจะมีแบคกราวด์แบบไหน เรื่องการเมืองมันสามารถเตรียมไปได้เรื่อยๆระหว่างทาง คือเรียนรู้ไปด้วยทำไปด้วยก็ได้

 

Q : แล้วพอเข้ามาแล้ว มีวิชาเกี่ยวกับการเล่นการเมืองให้เรียนไหม?

A : จริงๆ นี่เป็นคำถามที่ทำให้เกิดสถาบันพระปกเกล้าขึ้นมา เพราะมีหลายคนบอกว่านักการเมืองเป็นผลผลิตของยุคสมัย บางคนบอกว่าเป็นนักเลงเจ้าพ่อ ผู้รับเหมา มีเสียงมีอำนาจในพื้นที่ตัวเองก็เป็นนักการเมือง ได้ แปลว่าไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางนิติบัญญัติก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีสถาบันพระปกเกล้าขึ้น เพื่อจัดการอบรมพัฒนานักการเมือง เกิดเป็นหลักสูตรการปกครองในระบบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูง โดยแบ่งให้โควต้าสำหรับ ส.ส. และ ส.ว. 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะหลักสูตรมันตั้งขึ้นมาเพื่อคนกลุ่มนี้ ซึ่งตอนนี้เราไม่ได้บังคับแต่เป็นในทางเชิญชวนมากกว่า อีกครึ่งหนึ่งเป็นโควต้าสำหรับกลุ่มข้าราชการ เอกชน และ ภาคประชาสังคม

ระยะเวลาในการเรียน 8 เดือนสิ่งที่สอนจะประกอบด้วยระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่เชิงประวัติศาสตร์ไปจนถึงเชิงสถาบัน นิติบัญญัติ บริหารตุลาการ หัวข้อจะมีความคล้ายคลึงกับรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ แต่จะเป็นเชิงปฏิบัติเยอะ ก็คือจะเน้นให้คิดเชื่อมโยงกับบทบาทของตัวผู้เรียน ว่าเรียนรู้แล้วจะสามารถเอาไปทำอะไรต่อได้ (อ่านเพิ่มเติมที่ kpi.ac.th/การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง)

 

Q : นอกจากเรื่องคุณวุฒิ ถ้ามองเรื่องวัยวุฒิ ควรมีกำหนดช่วงที่เหมาะสมไหม?

A : ในทางการเมืองเรามีการการกำหนดอายุขั้นต่ำ แต่เราไม่ได้มีเพดานว่าสูงสุดเท่าไหร่ ถ้าถามว่าควรมีไหม จะได้ไม่มีคนแก่ไปนั่งหลับในสภา ก็จะมาอยู่ในจุดที่คุยกันว่ามันอยู่ที่คนเลือกว่าถ้าเขายอมให้คนแก่มานั่งในสภาได้ ก็เป็นสิทธิในการเลือกของประชาชน แต่ขั้นต่ำก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนได้เรื่อยๆ เกณฑ์ในตอนนี้ คือ ส.ส. อายุ 25 ปีขึ้นไป รัฐมนตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป ส.ว. อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป ถ้ามองตามโครงสร้างประชากรปัจจุบัน เกณฑ์อายุในตอนนี้ก็ถือว่ายังพอถูไถได้ แต่ ส.ว.ก็อาจจะแก่ไปหน่อย

 

Q : แล้วเรื่องค่าตอบแทน คนมองว่านักการเมืองเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดี จริงหรือเปล่า?

A : หลายคนก็อาจจะมองว่ามันเยอะถ้าเทียบกับงานประจำอื่นๆ แต่ประชาชนก็จะคาดหวังให้ทำประโยชน์เยอะขึ้น เพราะมันเป็นเงินภาษีของประชาชน แต่ในอีกมุม ส.ส. ส.ว. ก็เสียภาษีเหมือนกัน แต่ไม่เสียภาษีในส่วนของเบี้ยการประชุม ส.ส. ส.ว. เฉลี่ยได้ 500,000 บาทต่อเดือน ก็มีคนเปรียบเทียบว่าเหมือนซื้อรถใหม่ได้หนึ่งคัน

ถ้ามาแยกสิทธิประโยชน์ ส.ส.ว่าได้อะไรบ้าง หนึ่งคือเงินเดือน สองเบี้ยประชุม ถ้าได้เป็นประธานหรือเป็นรองประธานก็จะได้มากกว่าปกติ ปัญหาที่เกิดหลายๆ ครั้งคือการนัดประชุมซ้อนในเวลาเดียวกัน ก็จะมีคนวิ่งไปเซ็นชื่อแล้วรับเงินไปเรื่อยๆ อันนี้เรียกว่ารายได้ตรง พอเงินการประชุมไม่เสียภาษี ก็ทำให้ได้เงินจากการประชุมสูสีกับเงินเดือนหลัก อีกอย่างคือผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ที่ผ่านมาเค้าก็เอาญาติโกโหติกามาใส่กัน แล้วเงินพวกนี้สุดท้ายก็มีคนมาเซ็นรับแล้วเข้าตัวเอง ในเรื่องของตำแหน่งซ้ำซ้อน ปัจจุบันจะเหลือแค่ ส.ส. กับรัฐมนตรีเป็นควบกันได้ แต่ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี กับ ส.ส.เป็นควบกันไม่ได้ ที่เกิดปัญหาพรรคเล็กโวยวายก็เพราะตอนสัญญาไม่ดูกฏหมายให้มันดีก่อนว่าเป็นไปได้ไหม

 

Q : แล้วในแง่ของอาชีพก่อนหน้าจะมาทำการเมือง ทำไมถึงต้องให้ความสนใจกับการมีหุ้นในสื่อด้วย?

A : ประเด็นนี้มันก็เริ่มมาจากยุคคุณทักษิณ จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีใครเอาสื่อมาเป็นประเด็นขนาดนั้น แต่พอดีว่ากรณีคุณทักษิณมันหนักถึงขั้นเป็นเจ้าของทีวีเป็นช่องๆ ถ้ามองในความเป็นจริงก็ควรจะมีการแยกแยะว่าอะไรมันทำให้เกิดปัญหาจริงๆ อะไรที่ไม่ใช่ปัญหาก็ควรตัดออกไปบ้าง จะได้ไม่เกิดความวุ่นวายขนาดนี้

การถือหุ้นมันเหมือนเป็นโลกยุคเก่าเพราะไอเดียของการเป็นเจ้าของสื่อมันคือการที่ผู้มีอำนาจสามารถเข้ามามีอิทธิพลกับความเป็นมืออาชีพของสื่อได้ เพราะคุณจะสามารถแทรกแซงเนื้อหาข่าวได้ แทรกแซงทางการนำเสนอข่าวได้ แต่ถ้าพูดถึงในปัจจุบันสื่อมันไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้นแล้ว เพราะต่อให้คุณถือสื่อหลักตอนนี้ สื่อที่มีอำนาจสูงสุดมันก็ไม่ใช่สื่อหลักแล้ว ถึงจะเป็นเจ้าของช่องทีวีจริงๆ ยังไงคนดูก็รู้ว่าคุณเลือกข้างไหน แต่ตัวที่มันมามี impact จริงๆ มันกลายเป็นสื่ออื่นไปแล้ว อย่างที่เราเห็นกันว่าสื่อที่มามีอิทธิพลมันกลายมาเป็นสื่อ Social Media ไม่จำเป็นต้องไปถือหุ้นก็ได้ ถือหุ้นสื่อไป impact น้อย แล้วยังขาดทุนอีกต่างหาก (หัวเราะ)

 

Q : ทุกวันนี้มีนักการเมืองรุ่นใหม่หลายคน ที่พูดว่าตัวเองอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ ในโลกของการเมืองจริง ความคิดแบบนี้จะเป็นได้แค่ความฝันหรือเปล่า?

A : ถ้าเป็นเมื่อก่อนพอมีคนพูดแบบนี้ ก็จะถูกมองว่าไปไม่ได้ไกลหรอก พอเข้าไปเจอจริงเดี๋ยวก็เข้าใจ แต่ถ้ามองในบริบทตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะโมเดลของอนาคตใหม่มันน่าจะเป็นหลักฐานให้หลายๆคนเห็นว่าทำได้จริง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนได้เร็วอย่างที่คิด แต่มันน่าจะเปลี่ยนอะไรได้บางอย่าง เพราะมันดูมีความหวังกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก

อีกอย่างปัจจุบันมันมีช่องทางมากขึ้น มันมีความหวัง จนเป็นไปได้ว่าพรรคการเมืองจะเป็นเหมือน Start up มากขึ้น แต่อนาคตใหม่ก็มีความท้าทายว่าคุณจะเป็นเหมือนพรรคพลังธรรมไหม เพราะพรรคพลังธรรมมันเกิดได้เพราะพลตรีจำลอง เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่มีธนาธร แต่ความแตกต่างคือเมื่อก่อน พรรคแบบพลังธรรมและพรรคประชากรไทยมันสำเร็จแค่ในกรุงเทพฯ แต่ต่างจังหวัดมันไปไม่ถึง ถ้าไม่ได้คัดเลือกนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพลอำนาจเข้ามามันไม่มีทางไปต่อได้ แต่พรรคอนาคตใหม่ไปต่อได้เพราะผลการเลือกตั้งมันแสดงให้เห็นว่ามันไปไกลกว่านั้น มันประสบความสำเร็จทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ สิ่งนี้มันทำให้เราเชื่อว่ากระแสมันทำให้สำเร็จได้ มากกว่าในอดีต

 

Q : แล้วเป็นไปได้ไหม ที่การเมืองจะไม่ยึดติดที่ผู้นำพรรค?

A : ยาก มันเป็นปกติทั่วโลก หลายๆ พรรคการเมืองที่ถูกมองว่าประสบความสำเร็จก็เป็นเพราะว่าผู้นำ ธรรมชาติของมนุษย์คือมันต้องมีจ่าฝูง การที่จะสร้างโมเดลขึ้นมาแทนผู้นำสักคน โดยส่วนใหญ่โมเดลนี้ไม่สำเร็จ เพราะของแบบนี้มันแทนกันไม่ได้ มันเหมือนที่หลายคนบอกกันว่าศาสดาต้องมีองค์เดียว ยกเว้นไปตั้งศาสนาใหม่แล้วไปตั้งศาสดาใหม่ด้วย

 

Q : สุดท้ายแล้ว นิยามของนักการเมืองที่ดีในมุมมองของอาจารย์คืออะไร?

A : ก็คงต้องบอกว่านักการเมืองที่ดีต้องเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ใช่นักบริหาร ต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยด้วยนะไม่ใช่เผด็จการประชาธิปไตย นักการเมืองที่ดีต้องเป็นตัวแทน ในแบบที่ไม่ใช่รู้ดีไปหมดทุกเรื่อง แต่เป็นผู้สามารถที่จะสะท้อนความคิด และแปลงความต้องการของประชาชน อย่างเป็นรูปปธรรมได้

ไม่ใช่ว่าประชาชนอยากได้น้ำได้ไฟก็ทำน้ำทำไฟให้ มันต้องแปลงว่าการที่เขาอยากได้น้ำได้ไฟ มันเป็นเพราะเขาขาดอะไร แล้วเราค่อยให้สิ่งนั้น คือคนที่จะต้องหารากข้องปัญหาจริงๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

Interviewed by Thanisara Ruangdej / Punyisa Suptasan

Article


Content by

Goongging Thanisara