They Work For Us (?) กว่าประชาชนจะได้ติดตาม-ตรวจสอบนักการเมืองไทย

They Work For Us สร้างแพลตฟอร์มติดตาม-ตรวจสอบนักการเมืองไปทำไม?

 

เป็นประชาชนคนไทยนี่เหนื่อยเนอะ.. วันเลือกตั้งก็ออกไปเลือกแล้ว ยังต้องมานั่งตามดูว่าคนที่เลือกเข้าไปในสภาฯ ทำอะไรอีก?! แต่นี่แหละ.. หน้าที่ของพลเมืองในประเทศประชาธิปไตย ที่แม้จะมีกลไกการเลือกตั้งและ “ผู้แทนฯ” ในรัฐสภาแล้ว ก็ต้องไม่ปล่อยให้การบริหารประเทศเป็นไปแบบไร้การตรวจสอบ

 

แต่ความน่าเหนื่อยหน่ายของประชาชนไทยยังไม่จบแค่นั้น! เพราะแม้จะตั้งจิตตั้งใจจะลุกขึ้นมาช่วยกันดูว่านักการเมืองแต่ละคนเป็นใคร พูดอะไรในสภาฯ โหวตหนุน-ค้านเรื่องไหนบ้างแล้ว อย่าคิดว่าเว็บไซต์ของรัฐสภาและทำเนียบไทยจะให้เราทำสิ่งนั้นได้ง่ายๆ !! เพราะนอกจากจะต้องผ่านด่านแรกที่เราต้องเลือกเข้าให้ถูกเว็บไซต์ก่อน (แหม่.. รัฐบาลล้านเว็บแอปนับแสน!) แค่ข้อมูลยังอยู่ในรูปแบบที่ซับซ้อน กระจัดกระจาย แถมเนื้อหาบางส่วนอาจเข้าถึงยาก (pdf สแกนเอียงๆ งิ) และเข้าใจยากไปอีกกก!!

 

They Work For Us จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) ให้ประชาชนและสื่อสามารถเข้ามาติดตาม ตรวจสอบ ว่าผู้แทนของเราที่เข้าไปในสภา ได้ทำตามดังที่เคยสัญญากับเราไหม? หรือทำตามหน้าที่ดังที่ควรจะเป็นหรือไม่? 

 

กว่าจะมาเป็น They Work For Us

 

ชวนมา walk-through 3 ฟังก์ชันหลักของแพลตฟอร์มงาน They Work For Us พร้อมความหัวร้อนน้ำตาไหลของทีมพัฒนา ว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะเป็นแพลตฟอร์มหน้าตาแบบนี้

 

  • Step 1 คือ ‘ค้นหาประวัติบุคคล’ ในการติดตามผู้แทน อย่างแรกเลยเราก็คงอยากรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง ได้รับเลือกมาอย่างไร ดำรงตำแหน่งใดในสภาฯ บ้าง เป็นข้อมูลพื้นฐานสุดๆ เหมือนเวลาเรารู้จักใครสักคน ก็ขอรู้เรื่องเธอหน่อย แต่เมื่อเราพยายามควานหาสิ่งนี้ในเว็บรัฐสภา ก็พบว่านอกจาก ส.ส. , ส.ว., ครม., กมธ. แยกกันอยู่คนละที่แล้ว ข้อมูลที่แปะๆ อยู่ ยังไม่ได้ทำให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับเขามากขึ้น ไม่เชื่อลองเข้าไปดูที่

 

ในเมื่อแค่ข้อมูลพื้นฐาน รัฐยังให้เราไม่ได้ สิ่งที่เราทำในฐานะประชาชนที่อยากรู้จักคนในสภาฯ และเพื่อให้ประชาชนคนอื่นไม่ต้องมานั่งเสิร์ชอ่านทีละคนแบบเรา คือการรวบรวมเอกสารใบสมัครจาก กกต. รวมถึงเอกสารที่พวกเขายื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินให้ ป.ป.ช. (ที่ตอนนี้ ป.ป.ช. ก็เอาลงจากเว็บไปแล้ว) มีทั้งที่พิมพ์อย่างสวยงาม เขียนอย่างบรรจง ไปจนถึงเขียนแบบไม่เกรงใจคนอ่าน มาเปลี่ยนให้เป็นข้อมูลดิจิทัล รวมถึงสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตหลายๆ แหล่ง เพื่อตรวจสอบและเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาบันทึกไว้ในแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งต้องบอกว่าตอนนั้น เราเปิดให้ประชาชนอาสาสมัครร่วม 50 คนมาช่วยกันทำ เพื่อลดภาระการสืบค้น ติดตาม และตรวจสอบของประชาชนคนอื่นลง 

  • Step 2 คือ ‘ดูภาพรวมและการเปลี่ยนแปลงในสภาฯ’ โดยแบ่งแสดงตามชนิดและสังกัดของผู้แทน ซึ่งพรรคการเมืองก็เป็นส่วนที่สำคัญที่แสดงถึงแนวคิด อุดมการณ์ที่ผู้แทนของเรานั่นเลือกสังกัดอยู่ ฉะนั้นเราจะพามาดูว่าพวกเขาสังกัดอยู่พรรคไหน ทีมไหนกันบ้าง
    ซึ่งการตามว่า คนไหนย้ายพรรค หรือเข้าออกจากตำแหน่ง เรียกว่าแทบจะเป็นนักสืบได้เลย เนื่องจากข้อมูลไม่ได้รวบรวมไว้ในที่เดียว เอกสารของรัฐที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ยกตัวอย่างเช่น : ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) เป็นเอกสาร pdf ซึ่งน่าเศร้าที่ดูค่อนข้างยาก และไม่เหมาะกับที่เราจะหาว่าใครเข้าออกยังไง ฉะนั้นเพื่อจะอัพเดทข้อมูลให้ประชาชนรับรู้เป็นปัจจุบันที่สุด สิ่งที่เราทำคือ จะเลือกดูจากข่าว ว่ามีใครเข้าออกบ้าง ดูในเว็บไซต์พรรคแต่ละพรรค และวิกิพีเดีย เนื่องจากวิกิพีเดีย ดูง่ายกว่าที่อื่น จึงใช้แค่เพื่อให้เห็นรูปแบบการเข้าออก นอกจากนั้นเพื่อตรวจสอบ ยืนยันว่าข้อมูลถูกต้อง ก็จะต้องกลับเข้าไปเช็คเอกสารตัวจริงที่ยืนยันการแต่งตั้งหรือลาออกในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง นอกจากนั้นจะมีกรณีอย่างส.ส เลือกตั้งซ่อม และ ส.ว. ที่แต่งตั้งใหม่ กรณีนี้น่าแปลกว่าเว็บไซต์กกต.หรือหน่วยงานรัฐ ไม่ได้อัพเดทข้อมูล ทำให้ต้องดูจากข่าวหลายๆ แห่งเพื่อยืนยัน และเข้าไปหาเอกสารตามชื่อส.ส.ในราชกิจจานุเบกษาเช่นเดิมอีกที กว่าจะได้ข้อมูลมาทำให้จุดนี้ใช้ระยะเวลานานมาก 🥺

  • Step 3 คือ ‘ผลการลงมติ’ ส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเราจะสามารถทราบว่าผู้แทนของเรานั้น ได้มาทำหน้าที่กันรึเปล่า? แล้วการทำหน้าที่ พวกเขาโหวตลงมติเรื่องอะไรบ้าง?  โดยทาง ELECT จะเลือกญัตติที่สำคัญๆ มาแสดงข้อมูลว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร และผลการลงมติ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง และลงคะแนน เป็นเท่าไหร่ อีกทั้งยังแสดงผลเป็นรายบุคคล รายพรรค รายญัตติ ให้เห็น ประกอบกับอัพเดทการแสดงผลการลงมติล่าสุดให้สามารถเลือกดูและติดตามได้หลากหลายอีกด้วย
    การเอาข้อมูลแต่ละอันมาแสดง อันดับแรกเลย คือ ต้องดูว่าเรื่องไหนเป็นประเด็นที่คนติดตาม หรือเรื่องสำคัญ โดยเราไปดูจากข่าว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น เช่น เรื่องลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วเลือกออกมา

จากนั้นดูข้อมูลการลงมติต่างได้จากเว็บรัฐสภา บันทึกการประชุม และบันทึกการลงคะแนนเสียง 


เอกสารทั้งหมดยังอยู่ในรูปแบบ pdf เช่นเดิม ทำให้การกรอกข้อมูลจะต้องกรอกมือทั้งหมด ว่าโหวตอะไรกันบ้าง? เรื่องนึงที่เจอและคิดว่าน่าแปลกมาก คือ  แพลตฟอร์มของเว็บและเอกสารที่ลงแบบ pdf  ไม่เอื้อต่อการอัพเดทเลย เมื่อความต้องการโหวตของผู้แทนคนนั้นกับผลโหวตที่แสดงในเอกสาร ‘กลับไม่ตรงกัน’ การอัพเดทคือให้คนนั้นทำหนังสือเพื่อยืนยันว่าตนนั้นโหวตอะไร โดยที่ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการแก้ไขในหน้าเอกสารรวม ซึ่งถ้าคนดูข้อมูลไม่ครบจะส่งผลให้ ‘เข้าใจผิด’ ได้เลยเกี่ยวกับการโหวต  ยิ่งไปกว่านั้น บางเอกสาร pdf แสดงเป็น ‘การเช็คมือ (ใช้ปากกา)’ ทำให้มองไม่ชัด สับสนว่ากรอกอะไรไปบ้าง 


นอกจากดูว่าใครโหวตเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยแล้ว สิ่งที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเลย คือ รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมกับผลการลงคะแนนเสียงสอดคล้องกันไหม เพื่อจะได้ลงข้อมูลให้ตรงและถูกต้อง ทั้งจำนวนคนและผลโหวต เพราะบางคนบันทึกการประชุม ‘ไม่แสดงตน’ แต่บันทึกการลงคะแนนเสียง ‘มีการโหวต’ ซึ่งถ้าประชาชนมาดูเอง คิดว่าข้อมูลที่แสดงไม่เป็นมิตรอย่างรุนแรง และรู้สึกว่าการเข้าถึงข้อมูลค่อนข้างยากจริงๆ แล้วเป็นคำถามต่อไป ว่าการที่แสดงความโปร่งใส หรือให้ประชาชนทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐในฐานะเจ้าของอำนาจ รัฐได้เอื้อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายแล้วรึยัง?


ความหวัง ความฝัน และความในใจของประชาชนผู้พัฒนา

เราได้นำบทสัมภาษณ์ทีมงานบางส่วนมาบอกเล่าถึง ‘ความรู้สึกและความฝันที่มีต่องานชิ้นนี้’ ด้วย โดยมีธนิสรา เรืองเดช (กุ๊งกิ๊ง) รพี สุวีรานนท์ (รพี) ณรัฐ สุชาติสุนทร (มิกซ์) และวิถี ภูษิตาศัย (ลูกคิด) เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังของงานชิ้นนี้และได้ร่วมกันทำจนกลายเป็นแพลตฟอร์ม ‘They Work For Us’ อย่างที่เราได้เห็น ได้ใช้ประโยชน์กัน และยังแสดงถึงพลังของ Civic technology ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

1. ทำไมถึงทำ “แพลตฟอร์มในการติดตามและตรวจสอบอย่าง They Work For Us” ขึ้นมา ทางทีมเล็งเห็นอะไร?

กุ๊งกิ๊ง : ELECT เริ่มต้นขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้ง 62 ตอนนั้นเราก็แค่คิดว่าจะทำยังไงให้คนมีข้อมูลเพียงพอต่อการออกไปโหวตในวันที่ 24 มีนา แต่พอนับคะแนนอะไรจบแล้ว  เราก็รู้สึกได้เลยว่าสิ่งที่สำคัญกว่าวันที่ออกไปหย่อนบัตร คือช่วงเวลา 4-5 ปีที่เราต้องอยู่กับผลลัพธ์ของการหย่อนบัตรครั้งนั้น บวกกับเราเคยเห็นเว็บไซต์ TheyWorkForYou.com ของ UK ที่ทำมานานแล้ว เป็นเว็บที่ทำให้เรารู้ว่าคนที่เราเลือกเข้าไปเขาทำอะไรบ้าง หรือต่อให้ไม่ใช่คนที่เราเลือก คนที่บอกว่าเป็น “ผู้แทน” ประชาชน หรือเป็นกลุ่มคนที่จะบริหารประเทศด้วยภาษีของเรา เขาได้ทำในสิ่งที่ควรทำหรือเปล่า เราก็เลยรู้สึกว่าอยากได้อยากมีสิ่งนั้นในประเทศนี้บ้าง เวลาจะบ่นจะด่า ก็จะได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล (ฮ่าๆ) แต่พอเข้าไปดูเว็บสภาต่างๆ ของไทยก็สิ้นหวัง เลยเอาวะ.. ชวนทีมลองทำเท่าที่เราทำกันได้ขึ้นมา

รพี : สิ่งที่เห็นมาตลอดของหน่วยงานภาครัฐ คือความนิ่ง นิ่งในที่นี้ไม่ใช่สงบนิ่ง แต่คือนิ่งแบบไม่ทำอะไรเลย หรืออย่างน้อยไม่แสดงออกให้เห็นว่ามีความกระตือรือร้นจะพัฒนากิจการของตนเองเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าคือประชาชน อย่างข้อมูลการติดตามและตรวจสอบนักการเมืองนี่เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ข้อมูลเหล่านี้สำหรับมาตรฐานของประชาชนไทยเมื่อ 50 ปีก่อนอาจจะยังไงก็ได้ แต่วันนี้คุณต้องรู้ตัวแล้วว่าคุณไม่ตอบโจทย์สังคม ทีมเราเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ช่างสงสัยและช่างลงมือ ถ้าไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดีเราจะขออาสาทำเป็นตัวอย่างให้ดู

มิกซ์ : ส่วนตัวเอง สนใจอยากทำ platform ลักษณะนี้มาหลายปีแล้ว เนื่องจากเห็นที่เมืองนอกสามารถตรวจสอบผู้แทนของพวกเขาได้สะดวก และเข้าใจง่าย ก็เลยอยากมีสิ่งนึงมาตอบโจทย์เรา ให้ดูว่าผู้แทนเราโหวตอะไรบ้าง ทำตามที่เราเห็นด้วยไหม หรือเราสามารถติดต่อผู้แทนของเราได้ทางไหน

ลูกคิด : ผมรู้สึกว่าข้อมูลทางการเมืองประเทศเรามันถูกทำให้เข้าใจยากมาตลอด จนคนส่วนใหญ่ยอมแพ้ที่จะเข้าใจมัน นั่นรวมถึงตัวผมในอดีตด้วย ซึ่งมันไม่ดีมากๆ สำหรับประเทศประชาธิปไตย ที่เราควรจะช่วยกันตรวจสอบการทำงานของผู้แทนของเรา และไม่ยอมให้พวกเขาเอาประโยชน์ที่ควรจะตกเป็นของประชาชนไปเป็นสิ่งอื่นใด เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เราต้องสร้างที่ๆ รวบรวมข้อมูลการทำงานของผู้แทนของเราในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคมที่มีพื้นฐานจากข้อมูลจริง

2. ขั้นตอนของงานนี้เป็นอย่างไร? รู้สึกชอบ หรือมีความท้าทาย อุปสรรค ในงานชิ้นนี้ตรงไหนบ้าง?

กุ๊งกิ๊ง : ส่วนที่ท้าทายที่สุดในงานนี้คือเรื่องที่มาของข้อมูล มันมีตั้งแต่แบบที่ไม่มีเลย เช่นประวัติ ส.ว. บางคน หาเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ มีทั้งแบบที่รู้ว่ามีแต่ไม่เปิดเผย ก็ต้องทำเอกสารยื่นขอเอา แต่นานมากกว่าจะได้มา เช่นการโหวตของ ส.ว. มีทั้งแบบที่หาได้แต่อยู่ในรูปแบบที่เอามาใช้งานไม่ได้ เช่น ผลการลงคะแนน รายงานการประชุมต่างๆ ที่ไม่เข้าใจว่าจะอัพโหลดเป็น pdf (สแกนด้วย) ทำไม แบบที่ใช้งานได้เลยคือน้อยมาก พอข้อมูลมันมีปัญหา มันเลยทำให้ทีมเราต้องใช้แรงและเวลากับการอัพเดทข้อมูลเยอะมาก คือเห็น TheyWorkForYou.com เขาได้เป็น API มาจาก Gov.uk เลย แล้วอยากงอแงขอรัฐสภาเราบ้างได้ไหมนะ

แต่ส่วนที่ชอบที่สุดคือแม้ที่มาของข้อมูลจะแสนลำบาก แต่เรามีอาสาสมัครหลายๆ ฝ่ายมาช่วยเยอะมาก ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นพัฒนา เรามีทีมกันอยู่ 3-4 คน แต่พอเราโพสต์ขอคนช่วย คนสมัครมาเยอะมากเลย แล้วทุกคนก็ช่วยกันหาข้อมูล ตรวจสอบ และ digitize มัน  แถมยังมีฝั่ง developer ที่เราเปิด Open Source แล้วก็มีคนมาหยิบไปทำ จนออกมาเป็นแพลตฟอร์มนี้ได้ ประทับใจมาก กล้าพูดว่ามันเป็นงานที่สร้างโดยประชาชนจริงๆ

รพี : คิดว่าความท้าทายสำหรับงานนี้คือความไม่รู้ในโครงสร้างและกระบวนการทำงานของรัฐสภาอย่างถ่องแท้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดระเบียบความรู้และข้อมูลการทำงานของระบบนิติบัญญัติ งานชิ้นนี้มีองค์ประกอบมากมาย ทั้งระบบการกรอกข้อมูล ระบบตรวจสอบ ระบบฐานข้อมูล ระบบแสดงผล ระบบค้นหา ฯลฯ ซึ่งระบบที่จะตอบโจทย์นี้จะมีความซับซ้อนสูงมาก เราจึงเริ่มจากข้อมูลพื้นฐานคือประวัติ ส.ส. ก่อนและค่อยๆขยายไปถึงการลงมติต่างๆ  การเรียนรู้ไประหว่างทางทำให้ได้รู้ว่าสิ่งที่เราเคยเข้าใจมันไม่ใช่ทั้งหมด มีการรื้อแบบและไอเดียหลายรอบ ตรงนี้คิดว่าระเบียบต่างๆ มันมีความคลุมเคลือ ไม่ชัดเจน ข้อแม้ข้อยกเว้นเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งสำคัญสำหรับทีมคือต้องทำให้ชิ้นงานนี้เกิดขึ้นมาให้ได้ ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ เราทำงานอยู่บนพื้นฐานของความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล

มิกซ์ :   โปรเจคนี้ใช้วิธีทำเป็นโปรเจคบน GitHub แบบ Open Source แล้วให้คนเข้ามาร่วมกันพัฒนาโปรแกรมครับ อย่างตัวผมเองไม่ได้เป็นทีมงานตั้งต้นแต่แรก เป็น Developer ทั่วๆไปที่บังเอิญผ่านมาเห็นโพสต์เกี่ยวกับโปรเจคนี้ครับ การทำงานเลยอาศัยว่าเมื่อมีเวลาว่างๆ ก็จะเปิดดู issue ว่าอันไหนที่เราช่วยได้ ในเวลาที่เรามีครับ

ในส่วนขั้นตอนการพัฒนา ความท้าทายสำหรับผมคือเราไม่ได้เข้าร่วมไป brief งาน หรือเข้าใจงานมากนัก ทำให้เราต้องศึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเอาเอง แรกๆก็จะเกร็งๆนิดๆครับ เพราะไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน แต่พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ก็ให้คำแนะนำ และช่วยเหลืออย่างดีครับ

นอกจากส่วนนี้แล้ว ผมได้มีโอกาสทำงานส่วนข้อมูลจากคณะกรรมาธิการต่างๆของรัฐสภา ความท้าทายของงานนี้คือลักษณะข้อมูลที่ถึงแม้ทางเว็บไซต์ของรัฐสภาจะมีอยู่ก็จริง แต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย และมีความไม่แน่นอนสูงครับ ถ้าเขาปรับแก้อะไรนิดๆหน่อย เราก็อาจจะได้รับผลกระทบให้ไม่สามารถดึงข้อมูลมาใช้บนเว็บเราได้อีกครับ

ลูกคิด : สิ่งที่ชอบที่สุดของโปรเจคนี้คือการที่เราเปิดให้คนทั่วไปร่วมพัฒนาได้ ผมเองก็เริ่มจากเป็นคนเล็กๆ คนนึง ที่เข้ามาช่วยทำในเวลาว่าง เรียกว่าเป็นงานที่เกิดขึ้นจากแรงกายแรงใจประชาชนทั่วไปจริงๆ ที่อยากร่วมสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่โปร่งใส

ความท้าทายคงไม่พ้นการทำงานกับข้อมูลจากภาครัฐ การที่เราไม่มี Open API (คือการ open data ที่ช่วยให้เราใช้งานง่ายขึ้น โดยสามารถขอข้อมูลได้เลย ไม่ต้องโหลดอะไรหรือมีกระบวนการเพิ่มให้ยุ่งยาก) หรือว่า machine reable file data จากภาครัฐ ทำให้ข้อมูลหลายครั้งต้องเกิดจากการที่ทีมงานมานั่งอ่าน ตีความ และกรอกลงตารางเอง ซึ่งเป็นอะไรที่ใช้แรงเยอะมาก และเราก็ต้องพัฒนาวิธีการทำงานเรื่อยๆ เพื่อจัดการกับข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามาในระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. คิดว่างาน They Work For Us จะเป็นประโยชน์กับใคร? อย่างไร?

กุ๊งกิ๊ง :  เราพัฒนาสิ่งนี้มาจากฐานคิดว่าประชาชนควรจะเป็นคนที่ต้องได้ประโยชน์จากสิ่งนี้มากที่สุด เวลาจะด่าจะชมใคร มาขุดข้อมูลจากแพลตฟอร์มนี้ได้ (ฮ่าๆ) แต่จริงๆ คนที่เราอยากให้เข้ามาดูที่สุดคือทีมงานของรัฐสภานะ เวลาพูดเรื่อง Open Government Data จะชอบได้รับคำตอบว่าไม่รู้จะเปิดอะไรและเปิดไปทำไม งั้นเชิญมาดูหน่อยค่ะว่าถ้าเปิดข้อมูลให้ดี มันเอามาทำอะไรได้เยอะนะ อย่างที่เราทำก็แค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ผลักให้ภาระมันกลายเป็นของประชาชน

รพี : คิดว่าประโยชน์สำคัญตกอยู่กับเด็กและเยาวชนในอนาคตแน่ๆ ลองนึกถึงตัวเราสมัยเด็กเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างๆ ไม่เข้าใจการลงมติ ไม่รู้จัก ส.ส. หรือ ส.ว. ก็อาศัยการถามคนที่บ้านรอบตัว ซึ่งก็ตอบได้จำกัด งานชิ้นนี้ส่วนตัวหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลดปล่อยความใคร่รู้ของคนยุคนี้ได้ ทุกคนสามารถเริ่มต้นเข้าใจการเมืองไทย เหตุการณ์ในอดีตและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง การค้นข้อมูลพื้นฐานการเมืองไทยทำได้ง่ายมากๆ แค่กูเกิลลิงก์แรก ไม่โดนจำกัดด้วยความไม่รู้ ความถูกทำให้เข้าถึงได้ยากอีกต่อไป

มิกซ์ : ผมเชื่อว่างานนี้จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจบทบาทของรัฐสภามากขึ้นผ่านการตรวจสอบญัตติต่างๆ และเป็นช่องทางให้เขาตรวจสอบผู้แทนของเขาว่าได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ 

นอกจากนี้แล้วหากประชาชนสามารถรู้สึก และเข้าใจ ว่าการตัดสินใจของเราในการเลือกผู้แทนนั้น เป็นการใช้อำนาจที่มีผลต่อประเทศได้ด้วย คงเป็นเรื่องดีมากๆเลยครับ

ลูกคิด : ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่อยากเห็นประเทศนี้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นนะ แน่นอนว่าประชาชนก็ได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล  มีข้อมูลเอาขึ้นมาถกเถียงกันมากขึ้น เพื่อที่จะใช้ตัดสินใจในการเลือกพวกเขาขึ้นมาใหม่ในครั้งหน้า แต่ในขณะเดียวกัน(ก็หวังว่า)ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาตรงนี้จะเป็นตัวกระตุ้นภาครัฐเองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนมากยิ่งขึ้นด้วย

4. ทางทีม มีความฝันที่จะเห็นงานอย่างเช่นแพลตฟอร์ม They Work For Us แบบนี้อีกไหม? ในเรื่องอะไร?

กุ๊งกิ๊ง : TheyWorkForYou.com เขามีส่วนต่อขยายเป็นเว็บ writetothem.com คือนอกจากดูว่านักการเมืองทำอะไรได้ ยังเขียนจดหมาย (ส่งข้อความ) ถึงเขาได้ด้วย แล้วก็เปิดให้เห็นหมดว่าใครเขียนอะไร MP แต่ละคนมาตอบไหม  ไหนๆ ก็ได้ไอเดียมาจากเขาแล้ว ก็อยากให้มีสิ่งนี้บ้าง แต่สิ่งนี้ต้องได้ความร่วมมือจากรัฐสภาและนักการเมืองทุกคน มันถึงจะสำเร็จได้ ไม่งั้นทำไปก็เท่านั้น

ถ้าเป็นเรื่องอื่นก็อยากให้มีแพลตฟอร์มที่ทำเรื่องงบประมาณต่างๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้น ตอนนี้สงสารประชาชนผู้เสียภาษีมากที่ต้องมาตามอ่านหัวแทบแตก และอาจจะขยับไปไกลถึงขั้น การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Participatory Budgeting) ได้ อีกอันที่อยากให้มีคือ Policy Platform ที่เอานโยบายเรื่องต่างๆ มาสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจง่าย รู้ว่าเกี่ยวกับชีวิตเขายังไงแสดงความคิดเห็นได้และผู้รับผิดชอบเอาความคิดเห็นนั้นไปใช้ด้วยเช่น futures.centreforlondon.org หรือ citizenlab.co 

เรื่องอื่นๆ ที่อยากทำนี่ ทีมเราก็มีคุยๆ กันเหมือนกัน แต่ด้วยข้อจำกัดและภาระงานที่มีอยู่ของทีม ตอนนี้เลยยังลงมือทำไม่ได้ ถ้าจะมีใครมาช่วยก็ยินดี

รพี : อยากเห็นงานที่เกี่ยวกับกฎหมายเพิ่มขึ้น รู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ แต่เข้าใจยากเสียเหลือเกิน ทำยังไงให้กฏหมายเข้าถึงง่าย เข้าใจที่มาหรือหลักเหตุผลของแต่ละมาตรา ตอนนี้ถ้าไปอ่านกฎหมายเลยจะสงสัยว่าทำไมถึงกำหนดแบบนี้ เข้าใจว่าระหว่างกระบวนการออกกฎหมายมันคงมีสาเหตุแหละ แต่สำหรับคนทั่วไปตรงนี้ควรถามได้ ตอบได้ หรืออภิปรายกันได้ คิดว่ากฎหมายควรมีชีวิต คือสามารถพูดถึง สงสัย แก้ไข ปรับปรุง หรือลดเลิกได้ตามสภาพสังคม ไม่ได้ใช่กฎหมายที่ตายแล้วศักดิ์สิทธิ์ต้องคงสภาพไว้อย่างนั้นตลอดเวลา

มิกซ์ : มีหลายๆอย่างที่คิดว่าอยากให้มีอีกเยอะแยะ แต่หลายๆอย่างก็จะติดอุปสรรคเรื่องข้อมูลเป็นหลักครับ เช่น เรื่องงบประมาณประจำปี ถ้าเราสามารถหยิบเอาข้อมูลตัวเลขของแต่ละหน่วยงานภายในมาเปรียบเทียบกันแต่ละปี หรือในแกนของมุมนโยบายมาได้ รวมไปถึงตัวแปรเชิงภาพออกมาแสดงให้ประชาชนเห็นได้ น่าจะเป็นการนำเสนอที่น่าสนใจ และเป็นฐานให้นำไปใช้ในงานข่าวและอื่นๆได้เพิ่มเติมอีกด้วยครับ
เรื่องการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ ถ้าทางตำรวจมีการนำข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายแบบ anonymous มาแสดง ว่ามีการบังคับใช้กับบุคคลลักษณะไหน ใช้ข้อกฏหมายไหน มีการบังคับในบริเวณไหน ถี่มากน้อยแค่ไหน ในส่วนนี้เราสามารถนำเสนอเพื่อตรวจสอบได้ว่ามี bias ในการบังคับใช้กฎหมายไหม หรือประชาชนควรแก้ไขเสนอแก้กฎหมายอย่างไรบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมมากกว่านี้

บางเรื่องอาจจะไม่ได้ติดอุปสรรคทางข้อมูล แต่เป็นเรื่องความละเอียดอ่อนของกฏหมายต่อสังคมออนไลน์ และกำลังคนที่ต้องใช้ในการรันระบบ ในกรณีนี้ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นเชิงกว้าง ตามหลักการประชาธิปไตย มีการโต้แย้ง มีการคุยกันด้วยหลักเหตุผล เพื่อให้เกิดกฎหมาย หรือนโยบายที่สอดคล้องกับที่ประชาชนสนใจ แน่นอนว่าทำได้ยาก และการควบคุมให้ constructive ก็ต้องใช้ผู้ดูแล และทุนที่เยอะครับ

ลูกคิด : ผมมองว่าการเลือกผู้แทนเข้าไปในสภาแล้วตรวจสอบสิ่งที่เขาทำผ่านแพลตฟอร์มอย่าง They Work for  Us เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบสังคมที่ตนเองอยากอยู่ แต่เราอยากผลักดันให้ไปกว่านั้น เราอยากผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มที่ช่วยรวบรวมความต้องการและความคิดเห็นที่เป็นระบบในระดับท้องถิ่น ที่ผู้แทนของพวกเขาจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นผลักดันขึ้นไปเป็นนโยบาย เป็นการออกแบบสังคมแบบ Bottom-Up หรือก็คือเริ่มจากความต้องการของประชาชนจริงๆ

5. มีข้อเสนอแนะอะไรเกี่ยวกับ “งานชิ้นนี้หรืองานแพลตฟอร์มอื่นๆ” ไหม ที่จะเป็นแนวทางที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น ? เช่นการเปิดเผยข้อมูล หรือ การมีส่วนร่วมของประชาชน

กุ๊งกิ๊ง : ทั้ง They Work for Us และอีกหลายๆ งานของ ELECT ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องการเปิดเผยและภาพข้อมูลของรัฐนี่แหละ เราพูดเรื่องนี้กันบ่อยมากๆ เพราะมันเป็นอุปสรรคในการทำงานจริงๆ เราเป็นทีมที่ต้องนั่งคลำหาว่าข้อมูลที่ควรจะหาได้ง่ายๆ แต่ไม่รู้ไปซ่อนอยู่ในเว็บไหน เราเป็นทีมที่นั่งอ่าน pdf กันมาแล้วหลายร้อยฉบับ และเอานั่งมากรอกใส่ตารางจริงๆ (นั่นเป็นเหตุผลให้เราทำหน้า Download Data ขี้นมา เพื่อไม่ให้มีใครต้องนั่งกรอกแบบเราอีก)

เราคิดว่ารัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง รัฐไม่จำเป็นต้องทำเองหมดทุกอย่าง แต่การเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนและอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่รัฐควรทำ ประชาชนอย่างเราๆ ถ้าพัฒนาแพลตฟอร์มแบบที่เราทำได้ก็ควรทำ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนคนอื่น หรือไม่ก็เป็นคนใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในการติดตามและตรวจสอบรัฐเอา ถ้าจะให้ประเทศนี้มันเดินหน้า ก็ต้องไม่มีใครกินแรงใคร

รพี : คิดว่ารัฐมีหน้าที่ทั้งควบคุมข้อมูล และบริการข้อมูล แต่การสร้างสมดุลระหว่างสองทางนี้อาจต้องปรับปรุงขนานใหญ่ เดิมรัฐอาจคิดว่าการควบคุมเป็นงานหลักที่สำคัญที่สุด แต่การบริการต่างหาก คือ หน้าที่ที่สำคัญของรัฐ บริการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อำนวยต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้าปัจจุบันเราสามารถเก็บฐานข้อมูล ดึงข้อมูลและตอบคำถามได้อย่างรวดเร็ว สามารถคุยวิดีโอกันข้ามโลกได้ ทำไมการบริการข้อมูลโดยรัฐให้ทันสมัยถึงล้าหลังนัก 

การเปลี่ยนแปลงนี้คงมีประโยชน์ไม่ยั่งยืนถ้าจะเปลี่ยนแค่ในระดับนโยบาย รัฐควรต้องเปลี่ยนความเชื่อระดับมูลฐานจริงๆ ว่าประชาชนสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและมีความสามารถเข้าใจและพัฒนาต่อยอดได้เอง ดูแลตัวเองได้ รัฐคอยพัฒนาตัวเองให้ทันภาคประชาชนและให้บริการอย่างดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ลึกๆแล้วยังมีความหวังอยู่

มิกซ์ :  แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ บางหน่วยงานก็นำเอกสารกระดาษมาอัพโหลด ซึ่งสร้างความลำบากในการใช้ข้อมูลต่อไปอยู่ดี (แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรอัพให้ดูเลยอะนะ) ถ้ารัฐอยากจะเพิ่มความโปร่งใส อยากจะแนะนำให้มี API หรือไฟล์ machine readable ในรูปแบบต่างๆ ให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ต่อได้สะดวก ก็คงทำให้การตรวจสอบจากภาคอื่นๆเกิดขึ้นได้ดีขึ้นครับ
ลูกคิด : Open data หรือ Open API จากภาครัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าในประเทศเรามีคนเก่งอยู่มากมาย และหลายคนก็สนใจปัญหาทางสังคม เพราะฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลของประเทศเราออกมามันกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้าง เกิดงานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งสุดท้ายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็เป็นของประเทศเราเอง เราอยากผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จากการที่ภาครัฐซ่อนข้อมูลไว้ แล้วมีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามแงะมันออกมาเพื่อจับตามองการทำงานของพวกเขา เป็นการที่ภาครัฐมองประชาชนเป็นพันธมิตรและโอกาส เปิดเผยข้อมูลที่ตัวเองมีให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกของประเทศ

กว่าจะมาเป็นแพลตฟอร์ม They Work For Us ไม่ง่ายเลย แต่งานนี้เป็นตัวอย่างของ ‘พลังประชาชน กับ Civic technology’ ว่าเราสามารถมีส่วนร่วมในงานของรัฐและสร้างเครื่องมือออกมาได้จริงๆ แล้วเป็นโจทย์ต่อไปว่าทั้งรัฐและประชาชนเองในการผลักดันให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล หรือการสร้างเครื่องมือใหม่ๆในการติดตาม – ตรวจสอบ การทำงานของรัฐ

หากต้องการติดตามรายละเอียดงานเพิ่มเติมสามารถดูจากลิงค์นี้ได้เลย
👉🏻 https://theyworkforus.elect.in.th/


#แล้วคุณล่ะ…อยากให้มีเครื่องมือ ติดตาม-ตรวจสอบ เรื่องอะไรอีกบ้าง?


เรามองว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน นอกจากหน้าที่ในเรื่องการเลือกตั้ง ‘ผู้แทน’ เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแทนเราแล้ว หน้าที่สำคัญของเรายังไม่จบแค่นั้น….

การเข้าไป ‘ติดตาม-ตรวจสอบ’ ผู้แทนของเราว่าเขาได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนได้อย่างเต็มที่ไหม เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกันและเรายังพิจารณาได้อีกว่า เขาทำหน้าที่แบบไหน? สมัยต่อไปเราจะเลือกใคร? ซึ่งสิ่ง
เหล่านี้แท้จริงแล้ว เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ ‘ประชาธิปไตย’ ถูกขับเคลื่อนต่อไปได้

แต่เราเข้าใจว่าการเข้าถึงข้อมูลที่จะทำให้เราติดตาม-ตรวจสอบนั้น ไม่ง่ายเลย และยังมีอีกหลายอย่างหลายเรื่องที่ยังเข้าถึงไม่ได้ ยังไม่เปิดเผย อย่างโปร่งใส เลยอยากชวนทุกคนมาร่วมคิด ร่วมสร้าง เครื่องมืออีกหลายอย่าง ที่จะทำให้เราทุกคนได้เข้าถึงการทำงานของรัฐได้ง่ายขึ้น เปลี่ยนคำบ่นคำด่า ความรู้สึกไม่พอใจมาเป็นพลังได้ในงาน #ACTkathon2021 งานนี้ทีม ELECT เองก็ขอแวะไปช่วยทุกคนคิด รวมทั้งแชร์ประสบการณ์จากที่ทีมพบเจอ ทั้งปัญหาอุปสรรค ความผิดพลาดที่พบ และคอยแนะนำแนวทางหรือเครื่องมือที่จะสามารถเป็นประโยชน์กับทุกคนได้ เพื่อเราจะได้ช่วยกันและสามารถสร้างเครื่องมือที่จะติดตาม – ตรวจสอบ เพื่อสร้างรัฐที่โปร่งใสให้เกิดขึ้นได้จริงๆ

ดูรายละเอียดและสมัครได้ถึง 5 ก.ค. 64 ที่นี่เลย 👉🏻 https://actkathon.actai.co

ปล. มาร่วมสร้างเครื่องมืออีกหลายๆอย่างด้วยกันนะ เราอยากให้มีเครื่องมืออีกเยอะๆ เลย ในประเทศนี้😊

อ้างอิง


Infographic


Content by

Suphisara Isaranugul