(เกือบจะมี) เลือกตั้งกรุงเทพฯ: เข้าใจการบริหารราชการของกรุงเทพฯ ก่อนที่จะฝันถึงการเลือกตั้ง

รู้หรือไม่? กรุงเทพมหานครไม่ใช่จังหวัด แต่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แล้ว “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ต่างจาก “จังหวัด” ตรงไหน? ทำไม กทม. ต้องเป็นมีระบบบริหารรูปแบบพิเศษต่างจากท้องที่อื่น? การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีสภาเขตแล้วจริงๆ หรือ?

 

ก่อนที่ชาว กทม. จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ และสภา กทม. ในครั้งหน้า (ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) ELECT ขอใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงแถลงไขให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้รู้จักการบริหารราชการท้องที่แบบ กทม. กันสักนิด

 

กทม. ทำอะไร?: บทบาท อำนาจ และหน้าที่ของ กทม.

 

กรุงเทพมหานคร คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ตามกฎหมายนี้ กทม. มีหน้าที่ที่จะต้องทำถึง 27 ประการ ตั้งแต่การจัดการเรื่องสาธารณูปโภค การควบคุมอาคารสิ่งปลูกสร้าง การวางผังเมือง การรักษาพยาบาล ไปจนถึงการจัดการเรื่องใหญ่ๆ อย่างการการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน 

นอกจากนี้ ยังไม่รวมอำนาจหน้าที่ที่มาจากกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กทม. เช่น อำนาจหน้าที่ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เป็นต้น

ในโครงการสร้างการบริหารราชการ กทม. ประกอบไปด้วย 3 โครงที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ว่าราชการ กทม. สภา กทม. และสำนักที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานส่วนกลาง รวมถึงสำนักงานเขตที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานส่วนท้องที่ที่รับภารกิจจากส่วนกลางไปปฏิบัติอีกทอดหนึ่งและยังรับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะให้ประชาชนโดยตรง

แต่ถึงแม้ว่า กทม. จะมีหน่วยงานทั้งส่วนที่เป็นสำนักเชิงยุทธศาสตร์ (ส่วนกลาง) กับสำนักงานเขต (ส่วนที่รับภารกิจจากส่วนยุทธศาสตร์อีกทอด) อย่างพรั่งพร้อมแล้ว แต่เรือใหญ่อย่าง กทม. ก็ต้องการหางเสือที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเดินหน้ากรุงเทพมหานคร (คุ้นๆ) และส่วนที่ตรวจสอบการทำงานของ กทม. ก็คงจะไม่พ้น “ผู้ว่าราชการ กทม. และ สภา กทม.

 

ผู้ว่าฯ และสมาชิกสภา กทม.: คือใคร ทำอะไร อย่างไร?

 

ผู้กำหนดทิศทางการพัฒนา กทม. อย่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงตัวแทนประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน กทม. อย่างสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ทั้งสองต่างมาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาว กทม. โดยเราจะได้เลือกตั้งกันทุกๆ 4 ปี และการเลือกตั้งผู้ว่า และ สภา กทม. การเลือกตั้งผู้ว่าและสภา กทม. ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 3 มีนาคม 2556 

แล้วผู้ว่าฯ สามารถทำอะไรได้บ้าง? จริงๆ แล้ว ในฐานะหัวฝ่ายบริหาร ผู้ว่าฯ สามารถทำได้ตั้งแต่

  • กำหนดนโยบายทิศทางการแก้ไข พัฒนา และบริหารราชการให้เป็นไปตามแผน 
  • มีอำนาจในการสั่งการที่เกี่ยวกับราชการของ กทม. และรักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม. 
  • จัดการเรื่องการบริหารภายในหน่วยงาน กทม. ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แต่งตั้งหรือถอดถอนรองผู้ว่า และตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นๆ และบริหารจัดการเรื่องข้าราชการประจำของ กทม.
  • มีหน้าที่ในการนำนโยบายจากรัฐบาลกลางมาปฏิบัติอีกด้วย
  • หน้าที่อื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม.

แต่การทำงานของผู้ว่า กทม. ก็ยังต้องอาศัยการตรวจสอบจากตัวแทนของประชาชนอย่างสมาชิกสภา กทม. ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจที่มีมากมายของผู้ว่า ไม่ให้ผู้ว่าฯ กระทำการใดๆ โดยไม่ได้รับการตรวจสอบหรือตั้งคำถามจากตัวแทนประชาชน

และสมาชิกสภา กทม. มีความสามารถในการทำสิ่งเหล่านี้:

  • เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร (เปรียบเสมือนการออกกฎหมายในสภา สส.)
  • พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่ฝ่ายบริหารตั้งมาว่ามีเหตุผลเหมาะสมอย่างไร และจะเพิ่มหรือลดให้เป็นไปตามกระบวนการของการออกข้อบัญญัติ
  • ควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติให้ กทม. ทำสิ่งต่างๆ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของผู้ว่าฯ และ กทม. ได้

ผู้ว่าฯ และสภาฯ จึงเป็นกลไกหลักที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เดินหน้า และเป็นกลไกที่ทำงานใกล้ชิดกับความต้องการของประชาชน กทม. ได้เป็นอย่างดี

 

แล้วกรุงเทพมหานครบริหารราชการต่างจากจังหวัดยังไง?

 

ต้องเข้าใจก่อนว่า การปกครองทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันสิ้นเชิง จังหวัดคือการปกครองส่วนภูมิภาค ในขณะที่ กทม. คือการปกครองส่วนท้องถิ่น (รูปแบบพิเศษ) ดังนั้น ในเมื่อการปกครองทั้งสองมีรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงทำให้โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และบทบาทก็แตกต่างกันตามรูปแบบ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือ

ประการแรก ผู้นำสูงสุดมีที่มาต่างกัน: ในเมื่อจังหวัดคือการบริหารส่วนภูมิภาค จังหวัดก็จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ กทม. มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ข้อถัดมา โครงสร้างการบริหารต่างกัน: การบริหารราชการส่วนภูมิภาคไม่มีสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “คณะกรมการจังหวัด” ที่ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาราชการของผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้ยังมี “คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด” หรือ ก.ธ.จ. ที่ทำหน้าที่สอดส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อป้องกันไม่เกิดการทุจริตในหน้าที่ โดยที่มาจากการสรรหา ในขณะที่ กทม. มีสภา กท. ที่ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบการทำงานของผู้ว่า และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

และสุดท้าย บทบาทและอำนาจหน้าที่ต่างกัน: เมื่อรูปแบบการบริหารต่างกัน บทบาทและอำนาจหน้าที่ก็ไม่เหมือนกัน จังหวัดมีอำนาจหน้าที่หลักๆ คือการนำนโยบายส่วนไปกับปฏิบัติจริง (implementation) ในขณะที่กรุงเทพฯ มีหน้าที่ที่เจาะจงลงในรายละเอียด เช่น ให้จัดการสาธารณูปโภค ควบคุมอาคารสิ่งปลูกสร้าง มีการวางผังเมือง จัดให้มีบริการรักษาพยาบาลและการศึกษา (สร้างสถานศึกษาในสังกัดของ กทม. เอง)

อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นคล้ายกรุงเทพมหานคร ที่มี นายก อบจ. และสภา อบจ. (ที่ทำงานคล้ายผู้ว่าฯ และสภา กทม.​) และมีอำนาจหน้าที่ตราข้อบัญญัติท้องถิ่นและจัดทำแผนพัฒนา อบจ. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาท้องที่ต่อไป

 

‘สภาเขต’ หายไปไหน: เมื่อสภาเขตถูกมองว่ายึดโยงกับพรรคการเมืองมากเกินไป

 

ก่อนหน้านี้ ชาว กทม. อาจเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพในครั้งหน้า จะมีไม่มีการเลือกสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร หรือ สข. พรรคการเมืองที่เคยมีพื้นที่สนับสนุนในกรุงเทพฯ อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็ต่างออกมาคัดค้านการตัดสินใจครั้งนี้

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้คืออะไร? ทำไมยกเลิก? แล้วยกเลิกไปเลยหรือ มีอะไรมาแทนไหม?

ต้องเล่าแบบนี้ก่อนว่า สภาเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาเขตจำนวน 7 คน โดยที่แต่ละเขตจะมีสภาเขตเป็นของตน โดยทั่วไปแล้ว สภาเขตจะทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ เป็นตัวกลางในการสื่อสารความต้องการประชาชนในพื้นที่ไปสู่ผู้อำนวยการเขตและและสมาชิกสภา กทม. โดยเฉพาะ สก. ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ สภาเขตจึงเป็นกลไกหน้าแรกของประชาชนในพื้นที่ที่ประชาชนจะบากหน้าไปร้องขอให้ กทม. ดำเนินการอะไรบางอย่าง

แต่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น

เพราะคณะกรรมาธิการได้ออกรายงานฉบับหนึ่งในเรื่องนี้และให้ข้อสรุปว่า 

 

“ขอให้ยกเลิกสภาเขตกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นผู้ที่ยึดโยงกับนักการเมืองเพราะสังกัดพรรคการเมือง การดูแลประชาชนอาจไม่ทั่วถึง และผู้มาเลือกตั้ง สข. ก็น้อยด้วย นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องของการกำหนดงบประมาณพัฒนาเขต ในขณะที่มี ส.ก. เป็นผู้เห็นชอบ (ส.ก. ก็มาจากพรรคการเมืองเช่นกัน) ทั้งนี้ การไม่มี ส.ข. กลไกการตรวจสอบก็ไม่ได้กระทบ เพราะมี ส.ก. ทำหน้าที่อยู่แล้ว”

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้เสนอให้มีสิ่งที่เรียก “ประชาคมเขต” ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้อำนวยการเขตแทนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มาจากการเลือกกันเองจากกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ รายละเอียดของประชาคมเขตยังไม่มีความชัดเจนเท่าใดนัก เนื่องจากยังเป็นเพียงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเท่านั้น

เมื่อข้อเสนอการยกเลิกสภาเขตแพร่ออกไป ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอนี้ โดยเฉพาะท่าทีที่ไม่เห็นด้วยของนักการเมืองท้องถิ่นในกรุงเทพฯ หลายคน

พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ได้แสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสภาเขต เพราะสภาเขตคือกลไกที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน ส.ข. ก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้อำนวยการเขต และตั้งคำถามต่อกระบวนการการสรรหา “ประชาคมเขต” ว่าจะยึดโยงกับประชาชนได้อย่างไร

พิพัฒน์ ลาภปรารถนา อดีตประธานสภากรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ได้แสดงความเห็นเช่นกันว่า ผู้แทนท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยการตัดสินใจยกเลิกหรือไม่ก็ควรให้ประชาชนเป็นผู้ร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย

ภรภัทร โชติกะสุภา อดีตประธานสภาเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมกับคณะอดีตสมาชิกสภาเขต กรุงเทพมหานคร ได้แสดงความกังวลไว้ด้วยว่า ประชาคมเขตที่จะมาแทยที่ ส.ข. นั้น จะไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้เพราะประชาคมเขตที่จะมาแทนนั้นมาจากการแต่งตั้งโดยปลัดกรุงเทพมหานคร มิได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการตัดกลไกการถ่วงดุลอำนาจและยังขัดต่อหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอีก

การมีอยู่ของ ส.ข. จึงยังเป็นสิ่งที่ประชาชนชาว กทม. ต้องจับตาดูกันต่อไป รวมถึงการเกิดขึ้นของ “ประชาคมเขต” หากแทนที่ ส.ข. จริง จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพเท่า ส.ข. หรือไม่

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมาที่ กทม. อยู่ภายใต้การบริหารของผู้ว่าฯ และสมาชิกสภาฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้มีสิ่งใดเสียหายไปมากกว่าการที่ประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์กำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพตามมุมที่พวกเขาอยากให้เป็น

 

เพราะประชาชนชาวกรุงเทพฯ ไม่อาจฝันถึงกรุงเทพฯ ที่อยากเห็นได้ หากแม้กระทั่ง “ผู้นำและผู้แทน” พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์ได้เลือกด้วยตัวเอง

 

ที่มาข้อมูล: