ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และการครองอำนาจของตระกูลใหญ่ ในระบบการเมืองไทย

เมื่อมีวาระเลือกตั้งจะคุ้นเคยกับชื่อตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง หรือที่เรียกกันว่า “บ้านใหญ่” ซึ่งแม้แต่การเลือกตั้งนายกและสภาองค์กรบริหารส่วนจังหวัด ในเดือนธันวาคมปี 2563 ที่ผ่านมา ตระกูลบ้านใหญ่เหล่านี้ยังคงได้รับเลือกอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

 

บ้านใหญ่ หมายถึง กลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือมีชื่อเสียง ซึ่งได้ลงเล่นทางการเมืองระดับท้องถิ่น และได้รับเลือกให้เป็นผู้นำท้องถิ่นหลายสมัย

 

ตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองเหล่านี้มีความยึดโยงกับพื้นที่ในแต่ละจังหวัดจากการที่ตระกูลนั้นได้เริ่มวางรากฐานสะสมทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมทางเครือญาติ ขยายเป็นเครือข่าย อีกทั้งเมื่อก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมือง ก็ขยายอิทธิพลเริ่มจากพื้นที่สู่การเมืองในระดับชาติ กลายเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง

 

“แล้วการครองอำนาจของตระกูลใหญ่ดีหรือไม่ดีอย่างไร?”

 

การที่ตระกูลใหญ่จะก้าวขึ้นมามีอิทธิพลและได้รับเลือกทางการเมืองนั้น จุดแรกก็ต้องมาจากความผูกพัน ไว้ใจ เชื่อใจจากประชาชนชนจนได้รับเลือก ซึ่งจะเห็นได้จากจุดเริ่มต้นของตระกูลในการสะสมทุนทางเศรษฐกิจ เช่น ทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงสี รับเหมาก่อสร้าง กลายเป็นผู้มั่งคั่งในพื้นที่ จนสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้

ต่อมาสะสมทุนทางสังคมของตระกูล ขยายเครือข่ายสู่คนในตระกูลและพรรคพวก ก่อเกิดเป็นกลุ่มต่างๆ ทำให้มีอิทธิพลมากขึ้น เช่น ตระกูลเทียนทองเป็นกลุ่มวังน้ำเย็น ตระกูลปิตุเตชะเป็นกลุ่มบ้านค่าย นอกจากนี้ตระกูลเหล่านี้ยังได้มีส่วนสนับสนุนท้องถิ่นให้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นข้อดี และก่อให้เกิดความรู้จัก คุ้นเคย ผูกพัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างตระกูลและคนในพื้นที่ของตระกูลนั้นๆที่ สะสมทุนมา

อย่างไรก็ตาม ในการสะสมทุนทางเศรษฐกิจและสังคมของเครือข่ายที่มีอิทธิพลของตระกูลการเมืองบ้านใหญ่ กลายเป็นการผูกขาดหรือด้านมืดของการเมืองแบบตระกูลได้เช่นกัน เพราะในพื้นที่เดียวกันไม่ได้มีเพียงแค่ตระกูลเดียว หรือแม้แต่ความคิดเห็นของคนในพื้นที่ก็ไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันหมด โดยในด้านการเมืองดังที่จะเห็นได้จากในพื้นที่เดียวกันมีตระกูลอื่นๆ นอกจากบ้านใหญ่ลงแข่งขันด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดปราจีนบุรี มีตระกูลแข่งขันกันอยู่ 3 ตระกูลหลัก ได้แก่ วิลาวัลย์ ภูมมะกาญจนะ และสมใจ

ส่วนในด้านเศรษฐกิจจากการสะสมทุนในพื้นที่จนเป็นเจ้าของธุรกิจ มีการกระจุกตัวของทรัพยากรหรือธุรกิจ ในตระกูลใหญ่หรือพวกพ้อง เช่น กิจการเดินรถ เมื่ออยู่ในเครือข่ายอิทธิพลของบ้านใหญ่ จะต้องพึ่งพาบ้านใหญ่ หรือการที่ใครจะเข้ามาแข่งขันจะเป็นไปได้ยาก เพราะธุรกิจเหล่านี้เป็นหนึ่งในอิทธิพลของบ้านใหญ่ อีกทั้งจากข่าวในเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ที่นำสู่ความรุนแรงได้ ดังนั้น ข้อเสียคือการผูกขาดหรือมีอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มบ้านใหญ่ที่มากเกินไป

 

“แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อที่จะลดการผูกขาดอำนาจลง และส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในพื้นที่มากขึ้น?”

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองพื้นที่ของตนมากขึ้นและลดอิทธิพลการครองอำนาจจากตระกูลใหญ่ลง ต้องได้รับความร่วมมือ จากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน ซึ่งองค์กรในฝ่ายรัฐที่จะทำหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่หรือท้องถิ่น หรือมีความยึดโยงทั้งตระกูลและประชาชนในพื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

วาระในการดำรงตำแหน่งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

เป็นสาเหตุการคงอยู่อย่างยาวนานของอำนาจ “บ้านใหญ่” ในพื้นที่ โดยเฉพาะการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกฎหมายแต่เดิมกำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง  ทำให้ตระกูลเดิมหรือคนเดิมสามารถลงเลือกตั้งได้อยู่เรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดวาระ ส่งผลให้อิทธิพลทางการเมืองของบ้านใหญ่ ทรงอิทธิพลมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นข้อถกเถียงและหาแนวทางแก้ไขให้มีการจำกัดวาระในการดำรงตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีโอกาสเข้ามาดำรงตำแหน่งได้

ณ ปัจจุบัน มีการปรับแก้วาระอยู่ในตำแหน่งเป็นคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ถ้าดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีก เมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง

 

การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ควรสร้างระบบที่ทำให้มั่นใจได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการพึ่งพาและตัดสินใจในการบริหารกิจการในพื้นที่ของตนได้ด้วยตัวเอง ด้วยโครงสร้างของการบริหารราชการแผ่นดินยังคงรวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง (ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ทำให้การกระจายทรัพยากร สาธารณูปโภคกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลาง พื้นที่หรือท้องถิ่นที่ห่างไกลเข้าถึงได้ยาก ฉะนั้นทำให้ตระกูลใหญ่มีบทบาทสำคัญ ส่งผลให้ยิ่งเพิ่มอิทธิพลให้กับตระกูลเพิ่มขึ้นอีก

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ตามมาตรา  78 ที่ระบุเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถตัดสินใจและพึ่งตนเองในกิจการของท้องถิ่นเองได้ ในความเป็นจริงยังคงมีขั้นตอนต้องผ่านส่วนภูมิภาค โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องอนุมัติโครงการหรือแผนงานก่อน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากท้องถิ่นตัดสินใจเอง และไม่ได้มีอิสระอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องความทับซ้อนของหน่วยงานภูมิภาคกับท้องถิ่น เช่น เมื่อไฟทางเสีย ฝ่ายที่ดูแลคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไข ทำให้ล่าช้าและประชาชนในพื้นที่เข้าใจผิด และสับสนว่าแต่ละส่วนงานจะต้องติดต่อหน่วยงานไหน

หรือบุคลากรในการทำงานท้องถิ่น เนื่องด้วยอำนาจที่ไม่ถูกกระจายมาสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ความเจริญก้าวหน้าทางสายงานท้องถิ่นจะถูกมองว่ายาก ทำให้ขาดแคลนบุคลากร อีกทั้งปัญหาบุคลากรที่ไม่ได้ยึดโยงหรือเข้าใจพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่เป็นอุปสรรค ดังนั้น จึงต้องการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง จะช่วยลดการพึ่งพาบ้านใหญ่ที่มีทรัพยากรในท้องถิ่นและเข้าใจประชาชนในพื้นที่หรือท้องถิ่นนั้นมากกว่าราชการส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมการครองอำนาจหรืออิทธิพลของบ้านใหญ่ให้ลดลงได้

 

→ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญ ฉะนั้นประชาชนจึงต้องทราบว่าอำนาจหน้าที่ บทบาท คืออะไร? นอกจากนี้ต้องเข้าใจว่าในพื้นที่ที่ตนอยู่ มีรูปแบบการปกครองแบบใด? เมื่อเริ่มเข้าใจประชาชนจะไม่สับสนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งจะเข้าใจปัญหาเรื่องความทับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงได้

 

พื้นที่ของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น หรือเข้าไปตรวจสอบได้

โดยทั่วไป เมื่อถึงช่วงการเลือกตั้งจะเห็นป้ายหาเสียง รถแห่ หรือการลงพื้นที่ของผู้สมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่อาจมีการตัดสินใจได้ง่ายกว่าที่จะเลือกใคร แต่คนที่ชื่ออยู่ในพื้นที่ แต่ว่าไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ประจำ ไปทำงานที่อื่น การตัดสินใจคงเป็นเรื่องที่ยาก หรือ ไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง

ปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) เป็นพื้นที่ให้ประชาชน เข้าไปถกเถียง ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องสาธารณะ มารวมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายสาธารณะบางอย่าง เป็นจุดที่ขับเคลื่อนความเป็นพลเมือง ตามแนวคิดของฮาร์เบอร์มาส ซึ่งจะเป็นจุดที่เชื่อมทุกคนได้ทั้งรัฐและประชาชน ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รัฐได้เสนอนโยบาย ประชาชนในพื้นที่สามารถเสนอความต้องการของตนเองได้

ส่วนมากในท้องถิ่นเห็นพื้นที่สำหรับการแสดงนโยบาย การหาเสียง หรือความคิดเห็นได้น้อยมาก ฉะนั้น เมื่อพื้นที่ในการแสดงออกน้อย จะส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน นอกจากนี้ปริมณฑลสาธารณะยังเป็นพื้นที่สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกัน ว่านโยบายที่หาเสียง สามารถทำออกมาได้รึไหม? มากน้อยแค่ไหน? หากไม่สามารถทำได้มีอุปสรรคหรือปัญหาจากอะไร? เป็นเสมือนหนึ่งการนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส จะได้เห็นการทำงานที่แท้จริง ถ้าตระกูลใหญ่ถึงแม้จะครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ดำรงตำแหน่งมาหลายสมัย แต่ถ้าเปิดเผยข้อมูล การทำงานมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สุดท้ายเรื่องการครองอำนาจมาอย่างยาวนานของตระกูลใหญ่ก็อาจไม่ได้เป็นปัญหาหรือส่งผลเสียมากขนาดนั้น

 

คงไม่อาจกล่าวได้ว่า การครองอำนาจของบ้านใหญ่จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีเสมอไป เนื่องจากการครองอำนาจอาจมาจากความใกล้ชิด การช่วยเหลือเกื้อกูล และการได้รับวางไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ ดังจะเห็นจากหลายตระกูลทำงานใกล้ชิดคนในพื้นที่ หรือสะสมทุนทางเศรษฐกิจ จนสามารถให้ความช่วยเหลือชาวบ้านได้

แต่ทุกอย่างควรขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ถ้าหากมีการขึ้นมามีอิทธิพลและมีอำนาจในการปกครองประชาชนในพื้นที่การกระทำต้องโปร่งใส ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและต้องตรวจสอบได้

 


 

อ้างอิง