ห้าแสนล้านใน 8 ปี: ว่าด้วยงบประมาณ การจัดความสำคัญถึงการจัดสรรงบที่ -ผิดที่ผิดทาง- ของ กทม.

รู้หรือไม่? ตั้งแต่ปี 2555-2562 กทม. ใช้ประมาณไปแล้วกว่า 581,112,916,500 บาท ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า แม้จะใช้งบประมาณไปจำนวนมาก แต่ก็ยังพบปัญหาซ้ำซาก การบริหารที่ล้าหลังและไม่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ที่เจอปัญหาแตกต่างกัน เราอาจจะมีคำถามในใจว่า กทม. ใช้เงินยังไง?

 

ELECT จะพาไปดูการใช้งบประมาณของ กทม. ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงภาพสะท้อนของการใช้งบประมาณ ที่อาจเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหาเมืองที่ กทม. เผชิญ ยิ่งไม่ได้รับการดูแลแก้ไข

 

กทม. ใช้เงินยังไง?: ภาพใหญ่ใน 8 ปี ของการใช้จ่ายงบประมาณ กทม.

 

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครจำแนกงบประมาณตามหน้าที่ออกเป็น 7 ด้านหลัก ได้แก่

  1. ด้านการบริหารทั่วไป
  2. ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  3. ด้านการโยธาและระบบจราจร
  4. ด้านการระบายน้ำและกำจัดน้ำเสีย
  5. ด้านการพัฒนาและบริการสังคม
  6. ด้านการสาธารณสุข
  7. ด้านการศึกษา

สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาคือ กทม. ใ้ช้เงินไปกับ ด้านการบริหารทั่วไป มากที่สุด รองลงมาก็คือด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และด้านการโยธาและระบบจราจรตามลำดับ

 

ภารกิจทั้ง 3 ด้านของกทม. ใช้เงินไปมากถึง 378,566,369,732 บาท คิดเป็นร้อยละ 65 ของงบประมาณรวมทั้งหมด ถ้าสมมติให้ 8 ปีที่ผ่านมา กทม. มีเงิน 100 บาท ภารกิจเหล่านี้ก็ใช้เงินไปแล้ว 65 บาท

เมื่อย้อนดูสัดส่วนแต่ละด้านตามปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า กทม. ใช้งบประมาณไปกับ 3 ด้านนี้มากที่สุดและเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าด้านอื่นที่เหลือเช่นกัน

 

การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้สัดส่วนต่อการแก้ปัญหา จึงก็กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของการบริหาร กทม.

 

แม้งบประมาณจะลงไปที่การบริหาร การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการโยธาและระบบจราจรมากเท่าใด กทม. ก็ยังต้องเจอกับปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอด เช่น ปัญหาหาบเร่แผงลอยที่กีดขวางบนทางเท้าที่สร้างความไม่เป็นระเบียบ หรือปัญหาทางเท้าที่ชำรุดอยู่บ่อยครั้งจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้ กทม. ต้องทุ่มงบประมาณบางส่วนเพื่อบำรุงรักษาทางเท้าแทบทุกปีอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ในขณะเดียวกัน งบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาที่วิกฤตทุกปีอย่างเรื่องน้ำท่วมกลับมีสัดส่วนน้อยกว่าการบริหาร การรักษาความสะอาด หรือการโยธาและระบบจราจร ทั้งๆ ที่ปัญหาน้ำท่วมถนนในช่วงที่ กทม. ต้องเจอทั้งน้ำหนุน น้ำหลาก และน้ำขังกลับวิกฤตอยู่แทบทุกปี

นั่นอาจหมายความว่า ที่ผ่านมา กทม. กำลังจัดสรรงบประมาณที่อาจไม่ได้สัดส่วนต่อการแก้ปัญหา เพราะปัญหาที่กำลังวิกฤตก็ได้งบประมาณที่ไม่มากพอที่แก้ปัญหา ในขณะที่ปัญหาบางอย่างกลับใช้งบประมาณจำนวนมากโดยที่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนักวิชาการ และนักการเมือง ไม่ว่าจะ ส.ส. อดีตสมาชิกสมาชิกสภา กทม. อดีตผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ต่างเห็นว่า การใช้งบประมาณของ กทม. ยังเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหายังเกิดซ้ำ การบริหารที่ล้าหลัง และการจัดลำดับความสำคัญที่ไม่ถูกต้อง

จากงานเสวนาหัวข้อ “ผ่าตัดงบประมาณรวมพลังสร้างกทม.” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อกันยายน 2563 ที่ผ่านมา นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงการใช้งบประมาณของ กทม. ย้อนหลัง 7 ปีที่ผ่านมาว่า กทม. ใช้งบประมาณไปแล้วกว่าห้าแสนล้านบาท แต่ปัญหาที่ยังคงเกิดซ้ำ นอกจากนี้ กทม. ยังมีโครงการลงทุนอีกหลายอย่างที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์กับประชาชน ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น

นายประเสริฐ ทองนุ่น อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ ยังชี้ให้เห็นว่า กทม. ยังมีปัญหาการจัดลำดับความสำคัญ เช่น ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในขณะที่งบประมาณเพื่อการนี้กลับไม่ได้สอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหาเท่าที่ควร เพราะ กทม. ยังทำสิ่งที่ควรทำไม่ทำ ในขณะที่สิ่งที่ยังไม่ควรทำกลับทำ ซึ่งมาจากการสั่งการของผู้มีอำนาจ

 

การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้สัดส่วนต่อการแก้ปัญหาของ กทม. จึงแสดงให้เห็นถึงการขาดการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ถือเป็นโจทย์ด้านการจัดการที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหาร กทม. อย่างผู้ว่าฯ และเป็นโจทย์สำคัญเพื่อตรวจสอบการใช้งบให้เหมาะสมต่อขนาดและความเร่งด่วนของปัญหาสำหรับสมาชิกสภา กทม. ต่อไป

 

ที่มาข้อมูล