Article


Content by

Surachai Kraipet

เปลี่ยนการเลือกตั้งด้วยเทคโนโลยี: รู้จักเครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์

จะเป็นอย่างไร? ถ้าหากการลงคะแนนเลือกตั้งของคุณในครั้งต่อไป ไม่ต้องใช้ปากกาทำสัญลักษณ์ลงบนกระดาษ แต่จะเปลี่ยนเป็นการโหวตผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แทน แถมประสบการณ์จากต่างชาติ ก็พิสูจน์ว่าจะไม่มีบัตรเสียอีกด้วย

 

สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ เครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electornic Voting Machine – EVM) ที่ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่หลายประเทศได้นำไปใช้สำหรับการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติกันอย่างเป็นทางการแล้ว

ด้านประเทศไทยของเรานั้น คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะนำเครื่อง EVM นี้ไปใช้ในการเลือกตั้งระดับชาติด้วยเช่นกัน หลังจากที่เคยทดลองใช้กับการเลือกตั้งขนาดย่อมๆ ในบางท้องถิ่น รวมทั้งบางหน่วยงาน ตลอดจนในการเลือกตั้งภายในของพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน

วันนี้เราจึงขอพาทุกคนไปรู้จักกับสิ่งนี้ว่ามันคืออะไร แล้วมีข้อดี-ข้อเสียที่ควรเข้าใจกันก่อนอย่างไรบ้าง?

 

 

โดยหลักๆ แล้ว EVM หมายถึง เครื่องหรืออุปกรณ์ที่ให้ประชาชนได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าช่วย เพื่อลงคะแนน รวมถึงนับคะแนนที่โหวตออกมาด้วย

ทั้งนี้ อินเดียถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้อุปกรณ์นี้เป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 ในการเลือกตั้งซ่อมระดับท้องถิ่น ต่อจากนั้น ได้นำมาใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในราชสถาน และกรุงเดลี ก่อนที่จะใช้กับสมาชิกสภาล่างทั้งหมดในปี ค.ศ.2004

ในปี ค.ศ.2019 ทาง กกต. อินเดียยังได้ใช้เครื่อง EVM กับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่สุดในโลก พร้อมกับการสร้างสถิติไม่มีบัตรเสียแม้แต่ใบเดียว ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการใช้เครื่องนี้ เนื่องจากเครื่องนี้จะให้คนลงคะแนนเพียงครั้งเดียว ไม่มีการให้เขียนสัญลักษณ์หลายครั้ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ จะมีเพียงลงคะแนนผิดเท่านั้น ไม่ใช่การทำบัตรเสีย

ขณะที่ประเทศอื่นที่นำการโหวตผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ด้วย (แต่อาจจะใช้ต่างชื่อ ต่างชนิดออกไป) เช่น สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม ฮังการี เยอรมนี ญี่ปุ่น

ขณะที่ประเทศไทยของเรา เครื่องนี้ถูกเรียกโดย กกต. ว่า Thai Voting Machineโดยถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งตามหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงการเลือกตั้งภายในของพรรคการเมือง (ตัวอย่างล่าสุด คือการเลือกตั้งภายในเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า ตกลงแล้วเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีข้อดีและข้อเสียกันอย่างไรบ้าง? วันนี้เราจะมาเปรียบเทียบให้ดูกัน

ข้อดี

  • บัตรเสียเป็นศูนย์ (ประสบการณ์จากอินเดีย)
  • ลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ
  • กระจายไปยังท้องถิ่นได้รวดเร็ว
  • ช่วยลดเวลาช่วงนับคะแนน
  • นำบัตรใส่กล่องได้ด้วยตัวเอง

ข้อเสีย

  • มีความเสี่ยงหากเชื่อมอินเทอร์เน็ต
  • มีความเสี่ยงหากเครื่องขัดข้อง 
  • ต้องมีช่วงแนะนำการใช้
  • ประชาชนมีโอกาสโหวตผิดได้

อย่างไรก็ดี ในบางประเทศที่ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์นั้น ไม่ได้จบลงที่การโหวตในคูหาเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีกระบวนการหลังจากนั้น เพื่อทำให้การลงคะแนนเป็นไปอย่างโปร่งใสและบริสุทธิ์ด้วย เช่นเดียวกับ การให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยตรวจสอบผลโหวตอีกต่อหนึ่ง รวมถึงเปิดเผยผลคะแนนให้กับประชาชนได้รับทราบจากพื้นที่เลือกตั้ง นอกจากนั้น ยังต้องคอยดูแลรักษา ปกป้องเครื่องลงคะแนนนี้จากคนที่ไม่หวังดี ที่อาจจะลักลอบมาเปลี่ยนแปลงระบบภายในของเครื่องเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งให้ได้ตามที่ต้องการ

สำหรับประเทศไทยนั้น หลังจากนี้เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อ กกต.ไทย มีเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว และมีการนำไปทดสอบการใช้ไว้หลายครั้งแล้ว คำถามคือ แล้วการเริ่มต้นใช้อย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไหร่ และจะเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งของไทยไปในทิศทางไหนบ้าง?

ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายเลือกตั้ง และระบบเลือกตั้งที่ซับซ้อนตามที่ไทยเรามีอยู่ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน 

 

อ้างอิงจาก:

https://www.ect.go.th/trang/ewt_news.php?nid=112

https://www.ect.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=495

https://news.mthai.com/election/election-scoop/721630.html

https://brandinside.asia/more-about-india-elections/

https://thaipublica.org/2019/03/election-electronics-vote/

https://thematter.co/social/election-in-thai-india-indonesia/75470