อายุ 16 ได้เลือกตั้ง: ทำไมการลดเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงมาที่ 16 ปีถึงดีต่อประชาธิปไตย?

ประเทศไทยมีประชากรอายุระหว่าง 16-17 ปี จำนวนรวมแล้วกว่า 1,580,000 คน จะเป็นอย่างไรหากพวกเขาจะได้รับสิทธิเลือกตั้ง?

 

แนวคิดเรื่องลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้ปรากฎขึ้นอย่างที่ไม่มีเหตุผล แต่เป็นทั้งข้อเสนอที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แนวคิดนี้นอกจากจะเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขามีเหตุผลที่เพียงพอในการใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว มันยังถูกมองว่าเป็นการขยับขยายขอบเขตของสำนึกความเป็นพลเมือง ตามระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

มิหนำซ้ำ แนวคิดนี้ยังได้กลายเป็นหัวข้อหนึ่งในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนในประเทศต่างๆ ทั้งอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

แนวคิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? ELECT ขอพาทุกท่านไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

 

แม้ว่าต้นทางของข้อเสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงจาก 18 ปีเป็น 16 ปีนั้นจะสืบหาได้ยาก บางข้อมูลระบุว่า มันเกิดกระแสตั้งแต่ยุค 1990s บ้างก็ชี้ว่ามาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ดี กระแสนี้ได้ถูกพูดถึงอย่างจริงจังและเข้มข้นขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้เอง เมื่อนักการเมืองในสหราชอาณาจักร เคยเสนอกฎหมายให้แก้ไขอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เป็น 16 ปี ในปี 1999 และปี 2005 แต่การผลักดันนี้ก็ไม่เป็นผลมากนัก เพราะว่าสภาในขณะนั้นปฏิเสธ 

Photo by Alf Melin

 

แนวคิดเรื่องนี้ยังได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางขึ้นอีกในปี 2014 เพราะสภาของสก็อตแลนด์ได้เห็นชอบให้ลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิลง ประชามติ(referendum) ในการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร ส่งผลให้สิทธิการโหวตเพื่อกำหนดชะตาตัวเองของชาวสก็อตแลนด์ ได้รับการขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น 

เมื่อเรื่องเกิดขึ้นในสก็อตแลนด์ เสียงสะท้อนก็ย่อมส่งสะเทือนไปยังเพื่อนบ้านอย่างอังกฤษ จังหวะแบบนี้เองที่คนอังกฤษได้กลับมาหยิบประเด็นลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาถกเถียงกันอีกรอบหนึ่ง

คราวนี้ ยังมีตัวอย่างนอกเหนือจากสก็อตแลนด์อีกด้วย เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลส่วนกลางในหลายประเทศ จะยังไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องเกณฑ์อายุในภาพรวมๆ แต่กระแสนี้ก็เกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือระดับย่อยๆ ในหลายๆ แห่งมาแล้วด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศเอสโตเนีย รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางรัฐของอเมริกา

 

เหตุผลและความสำคัญของการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

เว็บไซต์ของกลุ่ม FairVoteที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบเลือกตั้งในสหรัฐฯ ได้อธิบายถึงข้อดีในการลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำมาเป็น 16 ปีเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

ในบริบทของสหรัฐฯ นั้น คนรุ่นใหม่ๆ ที่อายุถึง 16 นั้น พวกเขาก็ได้รับการพิสูจน์ถึงเรื่องการตัดสินใจและการดูแลตัวเองได้แล้ว สะท้อนผ่านสิทธิทางสังคมต่างๆ ที่พวกเขาได้รับ ไม่ว่าจะเป็น การเสียภาษี หรือการได้รับอนุญาตให้ขับรถได้ 

ที่สำคัญคือ ถึงแม้เกณฑ์เดิมคือให้เลือกตั้งในอายุ 18 ปี แต่เอาเข้าจริงๆ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคนก็ต้องรอไปอีกหลายปี จนกว่าจะได้เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต พูดให้ชัดขึ้นคือ การที่คุณอายุครบ 18 ปี มันอาจจะหมายความว่า การได้ใช้เลือกตั้งครั้งแรกมันอาจจะต้องรอไปถึงตอนที่อายุเกือบ 22 ปีเลยก็ได้ ดังนั้น การลดอายุลงมาเหลือ 16 ปี ก็น่าจะช่วยให้คนที่ควรจะได้สิทธิเลือกตั้ง ได้ใช้สิทธิเร็วขึ้นกว่าเดิม

เหตุผลสนับสนุนอีกข้อหนึ่ง มาจากงานวิจัยในประเทศเดนมาร์กที่พบว่า การให้สิทธิคนวัย 16  ได้เลือกตั้ง (ซึ่งอาจจะได้เลือกจริงๆ ตอนอายุ 18 หรือมากกว่านั้น) มันน่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พวกเขาได้สั่งสมประสบการณ์ตามระบอบประชาธิปไตยได้เร็วขึ้น ซึ่งประสบการณ์นี้มันจะติดตัวพวกเขาไปในช่วงวัยของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้พอดี

 

 

ในช่วงเวลาของหาเสียงเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อชิงตำแหน่งเป็นตัวแทนไปท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นก็มีนักการเมืองหลายคนที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างจริงจัง

โดยบทความชื่อ Young people have a stake in our future. Let them voteจากสำนักข่าว VOX ก็ออกมาพูดถึงข้อดีในการลดอายุลงด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่ดูมีน้ำหนักและน่าสนใจมากๆ อยู่ตรงฐานคิดที่ว่า การให้คนรุ่นใหม่อายุ 16 ปี ได้มีสิทธิเลือกตั้ง จะทำให้พวกเขาได้กลายเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และจะเพิ่มโอกาสให้พวกเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองต่างๆ หลังจากนั้น

เหตุผลที่ถูกนำมารับรองในเรื่องนี้ก็คือ มีนักวิจัยที่พบว่า การลงคะแนนไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นสามารถที่จะเป็น ‘พฤติกรรมที่ทำจนเป็นนิสัย’ (habitual behavior) โดยผู้คนที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 3 ครั้งติดต่อกันในชีวิตโดยไม่พลาดสักครั้งเลย พวกเขาจะมีแนวโน้มสูงที่จะรักษาพฤติกรรมการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งแบบนี้ตลอดไปทั้งชีวิต

ซึ่งเกณฑ์เดิมที่ผู้คนได้ใช้สิทธิตอนอายุ 18 หรือ 21 นั้น มันทำให้การสร้าง habitual behavior นั้นเป็นไปได้ยากกว่า เนื่องจากมันเป็นช่วงเวลาที่วัยรุ่นในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากมายเกินไป จนอาจทำให้พวกเขาไม่ได้ไปใช้สิทธิ

หัวใจสำคัญของข้อเสนอเช่นนี้ จึงมีทั้งการมองว่า การให้คนรุ่นใหม่ได้โหวตตั้งแต่เนิ่นๆ มันจะช่วยก่อร่างสร้างสำนึกและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ติดตัวพวกเขาได้ยาวนานกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ยังตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็คิดและตัดสินใจเองได้แล้ว 

 

แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดลดเกณฑ์อายุลงมาที่ 16 ปีก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน 

 

ข้อกังวลแรกๆ ที่ถูกหยิบมาถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้ง คือมุมมองที่ว่า ถ้าลดเกณฑ์อายุลงไปเหลือ 16 ปี และให้คนรุ่นนี้ได้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว พฤติกรรมการโหวตของพวกเขาอาจจะถูก ครอบงำจากผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้านก็ได้ จนทำให้พวกเขาไม่ได้เลือกตามเจตนารมณ์ของตัวเองสักเท่าไหร่

ขณะเดียวกัน หลายคนเชื่อว่าเกณฑ์เดิมที่ให้โหวตได้เมื่ออายุครบ 18 ปีมันก็เหมาะสมดีอยู่แล้วนะ เพราะ 18 ปี มันก็คือเกณฑ์การบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายที่ชัดเจนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

 

Photo by Oxford Student

 

หนึ่งในนักการเมืองที่ยังเห็นด้วยกับสิ่งนี้อยู่ คืออดีตนายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษอย่าง เทเรซาร์ เมย์ ที่เชื่อว่า มันยังเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่หากจะคงเกณฑ์เดิมไว้ที่อายุ 18 ปี เพราะคนในวัยนี้มีคุณสมบัติที่พร้อมกว่า ทั้งด้านความรับผิดชอบและมุมมองต่อการเมือง หรือในบริบทของอังกฤษเอง คนในวัย 16 ก็ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนที่จะแต่งงานรวมถึงเข้าร่วมกับกองทัพอีกด้วย

อีกหนึ่งข้อคำถามที่เกิดขึ้นมาคู่กันไปเสมอๆ ด้วยเช่นกัน อยู่ตรงที่สายตาที่ไม่ค่อยไว้วางใจกับกระแสการผลักดันเรื่องนี้เสียเท่าไหร่ พูดให้ชัดขึ้นก็คือ เมื่อข้อเสนอนี้ถูกหยิบมาจากฝ่ายการเมืองบางฝ่ายในรัฐสภา หรือในขั้วการเมืองต่างๆ แล้ว ก็จะถูกตั้งข้อสังเกตว่า ที่พวกเขาหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาผลักดัน อาจจะเป็น วาระซ้อนเร้นของตัวเองอยู่รึเปล่า เพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ (บางพรรคมักถูกมองว่า เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่า คนวัย 16-18 น่าจะเป็นฐานเสียงสำคัญของตัวเอง)

ข้อถกเถียงเรื่องการลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำลงมาที่ 16 ปี จึงดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้เจอข้อสรุปง่ายๆ ในหลายประเทศ 

 

ขณะที่ในไทยเองกระแสนี้ก็ยังไม่เข้มข้นมากนัก แต่ก็น่าสนใจว่า ในกระแสของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการโหวต ความสนใจของคนรุ่นใหม่ๆ ต่อสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ จะทำให้ข้อเสนอที่ว่านี้ปรากฎขึ้นและถูกผลักดันในอนาคตหรือไม่?

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.vox.com/future-perfect/2019/9/10/20835327/voting-age-youth-rights-kids-vote

https://www.nytimes.com/2019/05/19/us/politics/voting-age.html

https://www.bbc.com/news/newsbeat-50207481

https://www.independent.co.uk/news/uk/politics/should-the-voting-age-be-lowered-to-16-a8882731.html

https://www.fairvote.org/why_should_we_lower_the_voting_age_to_16


Article


Content by

Surachai Kraipet