ทีมงาน ELECT
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

จัดทำโดย
สนับสนุนโดย

Civic Tech 101

อะไรคือ Civic Tech?

เทคโนโลยีภาคประชาชน’ หรือ ‘Civic Tech’ อาจยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่จริงๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศมาหลายปีแล้ว

Civic Tech หมายถึงเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มที่องค์กรภาคประชาชนพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานของรัฐ โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูล แสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการทำงานและนโยบายต่างๆ ของรัฐ โดยสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสามระดับ

ระดับแรก

การใช้เทคโนโลยีเปิดเผยข้อมูลของรัฐ

เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ตรวจสอบความโปร่งใสได้ หรือใช้ประกอบตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

ระดับที่สอง

การสร้างแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงอย่างสร้างสรรค์

เพื่อนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพได้

ระดับที่สาม

การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของรัฐ

การแสดงความคิดเห็นสำหรับการออกนโยบายหรือออกกฎหมาย

เพียงแต่หัวใจสำคัญของการพัฒนา Civic Tech คือความ ‘ใจกว้าง’ ของรัฐ เพราะต่อให้ภาคประชาชนพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขึ้นมาได้มีประสิทธิภาพขนาดไหน แต่ไม่สามารถต่อเชื่อมกับการบริหาร กระบวนการทำงาน และการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐ ภาครัฐไม่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หรือมีความพยายามแทรกแซงด้วยการสร้าง Civic Tech แบบ Top Down หรือการสั่งการจากรัฐ Civic Tech นั้นก็ไม่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงสังคมได้ และชุมชน Civic Tech ก็ยากที่จะขยายตัว

คงต้องยอมรับว่า แม้รัฐจะมีทรัพยากรและอำนาจมากแค่ไหน แต่หลายครั้งกลุ่มบุคคลหรือองค์กรเอกชน สามารถสร้างนวัตกรรมหรือจัดการกับปัญหาทั่วไปได้ดีกว่ารัฐ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่า เข้าถึงและเข้าใจปัญหามากกว่า หรือสามารถดำเนินการสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วกว่า เพราะอยู่ใต้ข้อจำกัดที่น้อยกว่าและระบบที่คล่องตัวกว่า การเกิดขึ้นและมีอยู่ของ Civic Tech จึงเป็นโอกาสอันดีด้วยซ้ำ ที่รัฐจะมีคนมาช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาอะไรบางอย่างในสังคมและเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน แทนที่จะต้องไปลงทุนทำเอง แล้วทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ อาจดีกว่าถ้าเปิดโอกาสให้คนที่สามารถทำได้.. ได้ทำ

หนึ่งในความเชื่อของคนที่ทำงานด้าน Civic Tech คือรัฐมีหน้าที่รับฟังความต้องการของประชาชน เพื่อนำไปดำเนินการแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ตรงจุดและตอบโจทย์ ซึ่งเทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นได้ เราจึงได้เห็นกิจกรรม ‘Hackathon’ หรือกิจกรรมที่กลุ่มโปรแกรมเมอร์ ภาคประชาสังคม นักธุรกิจ เจ้าของทุน รวมถึงประชาชนที่สนใจ และบางหน่วยงานราชการ มาระดมสมองเพื่อใช้เทคโนโลยีในการหาทางออกให้กับปัญหา หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ขึ้นมา

Civic Tech กับ GovTech

อีกคำหนึ่งที่มักได้ยินมาคู่กับ Civic Tech บ่อยๆ คือ ‘GovTech’ ที่จริงๆ แล้ว แม้จะเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน แต่มีจุดประสงค์ต่างกัน เพราะ Civic Tech จะมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่ GovTech จะมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐโดยตรง

Civic Tech

GovTech

รัฐเป็นหลัก

ประชาชนได้ประโยชน์จากการเข้าถึงบริการของภาครัฐได้สะดวก

ช่วยให้กระบวนการทำงานของรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เน้นการมีส่วนร่วม

เน้นประสิทธิภาพ

ประชาชนเป็นหลัก

รัฐได้ประโยชน์ในการตัดสินใจที่ตรงตามความต้องการของประชาชน

ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม

แม้จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่หาก Civic Tech ทำงานควบคู่ไปกับ GovTech จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะ Civic Tech เอง ก็จะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ ระบุประเด็นปัญหาและความต้องการของประเทศที่แท้จริง ขณะที่ GovTech ก็จะช่วยให้รัฐ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ในหลายๆ ประเทศ ดูเหมือนว่าปัญหาทุกวันนี้ เกิดจากการที่ Civic Tech นั้นเกิดโดยคนกลุ่มเล็กๆ ทำให้คล่องตัวในการทำงานมากกว่า จึงทำให้ Civic Tech ถูกขับเคลื่อนไปไกลกว่า GovTech ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเสียงของประชาชน กับการตอบสนองของรัฐ นั่นคือประชาชนรู้สึกว่าตัวเองออกมามีส่วนร่วมในการเรียกร้องและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่รัฐยังไม่รู้ว่าจะต้องพัฒนากระบวนการทำงานอย่างไร เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เกิดขึ้นใจ จนกลายเป็นว่าความไม่สมดุลนี้ ได้ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและความไม่เชื่อใจในรัฐขึ้น

ยกตัวอย่างกรณี Grand Débat ในฝรั่งเศส

หลังจากที่รัฐบาลจัดให้มีการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนจำนวนหลายแสนคน เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านคำถามปลายเปิด เพื่อหวังให้ประชาชนแสดงความต้องการได้อย่างเต็มที่ แต่ปรากฏว่าเมื่อเราได้ข้อมูลจำนวนมากมา แล้วพยายามใช้ Machine และ AI ช่วยในการจัดการเนื้อหาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจัดการข้อมูลเหล่านั้นได้ ทั้งข้อจำกัดในเชิงเชิงปริมาณและคุณภาพ รัฐจึงไม่สามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ประชาชนลงแรงช่วยแสดงความเห็น ขณะที่ประชาชนก็คาดหวังผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของพวกเขา สุดท้ายประชาชนจึงสูญเสียความไว้ใจในรัฐ และมองว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของพวกเขาเท่าที่ควร

การมี GovTech โดยไม่มี Civic Tech ก็ไม่เกิดผลดีเช่นกัน เพราะการลงทุนหรือริเริ่มสิ่งใหม่ใหม่ในกระบวนการทำงานของรัฐบาล ก็ไม่สมควรกระทำโดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม หากทำเช่นนั้น ก็จะเกิดข้อกังขาเรื่องของผลประโยชน์จากการตัดสินใจที่ไม่ได้ยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลอีกด้วย

แล้วรัฐควรทำอย่างไร?

คำตอบก็คือรัฐควรที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทั้ง Civic Tech และ Gov Tech ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพทั้งในแง่การมีส่วนร่วมและการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว รัฐไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้าง Civic Tech ขึ้นมา แต่รัฐสามารถสนับสนุนได้ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมทางกฏหมายและเศรษฐกิจที่เอื้อให้ Civic Tech เหล่านั้นเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น GovTech Polska ในโปแลนด์ ที่มีการเปลี่ยนระบบจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงต่างๆ ที่คิดวิธีทำงานโดยรัฐ เป็นการเปิด pitching ไอเดียหรือโปรเจกต์จากประชาชนทั่วไป โปรแกรมเมอร์ หรือสตาร์ทอัพทั้งหลาย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกหรือทางพัฒนานโยบายหรือการดำเนินงานของแต่ละกระทรวง

นั่นรวมไปถึงการลงทุนในทรัพยากรบุคคลการฝึกฝนคนของรัฐและภาคราชการ ให้มีความหลากหลายในตัวเชิงประสบการณ์และทักษะมากขึ้น อย่างเช่น ในสิงคโปร์ที่ข้าราชการกว่า 20,000 คนได้รับการฝึกฝนในการวิเคราะห์ข้อมูล และมีการเสนอผลประโยชน์เพิ่มเติมให้กับคนที่ต้องการเรียนรู้เรื่องของปัญญาประดิษฐ์เพื่อมาใช้ในงานของรัฐบาลอีกด้วย

การรวมกันของ GovTech และ Civic Tech จะช่วยให้การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้รัฐบาลสามารถตอบโจทย์ที่ประชาชนเรียกร้องได้ดีขึ้น และตัดสินใจได้ดีขึ้น ส่งผลไปถึงการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยโดยรวมด้วย

Civic Tech
อยู่อย่างไรให้รอด?

เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน Civic Tech จำเป็นต้องเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมาก และนั่นก็เป็นความท้าทายสำหรับผู้พัฒนา Civic Tech ว่าจะทำอย่างไรให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมได้ Civic Tech ส่วนมากจึงเป็นแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือที่ให้ใช้ฟรี และนั่นจะนำไปสู่คำถามที่ว่าแล้วคนทำจะอยู่รอดได้อย่างไร?
บริษัทที่ทำ Civic Tech จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ และนี่คือตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่ Civic Tech นิยมใช้กัน

Enterprise Software

Civic Tech ส่วนใหญ่หารายได้จากการพัฒนาหรือ customize ซอฟต์แวร์ที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาให้ประชาชนใช้ แล้วขายให้กับองค์กรภาครัฐหรือเอกชน เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่สร้างขึ้นมาแล้ว โดยอาจเป็นโมเดล Subscription จ่ายรายเดือนหรือรายปี

Consulting

บริการให้คำปรึกษาหรือฝึกอบรมก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับ Civic Tech โดยอาจเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่พัฒนาจากการทำงานและนำไปปรับใช้ต่อได้ หรือเป็นคำแนะนำในการใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเพื่อหารายได้

Corporate Partnerships

อีกโมเดลที่บริษัท Civic Tech นิยมในการหารายได้คือการสร้างความร่วมมือกับบริษัท องค์กร หรือมูลนิธิต่างๆ ในการทำแคมเปญหรือโปรเจกต์ โดยใช้ความถนัดจากการพัฒนา Civic Tech มาต่อยอดเป็นแบรนด์

Advertising

บาง Civic Tech ก็สามารถหารายได้จากโฆษณาบนเว็บไซต์หรือรายชื่ออีเมลของผู้ใช้ แต่ส่วนใหญ่จะได้ผลดีต่อเมื่อเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนเข้าถึงจำนวนมาก และมีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เท่านั้น

Data Monetization

มี Civic Tech จำนวนไม่มาก ที่หารายได้จากการขายชุดข้อมูล คล้ายๆ กับที่บริษัทเทคโนโลยีแบบแสวงหากำไรทำกัน แต่โมเดลนี้ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะมักจะขัดต่อคุณค่าหลักขององค์กรในเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณะ

Transaction Fees

Civic Tech กลุ่มที่ทำงานด้านการระดมทุนบางส่วน ก็หารายได้จากการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดระดมทุนแต่ละยอด แต่ก็เป็นแหล่งรายได้ที่ไม่ค่อยแน่นอน ขึ้นอยู่กับจำนวนโปรเจ็กต์และยอดระดมทุน

Small Dollar Donors

โมเดลนี้พบเห็นได้ในหลายๆ Civic Tech เป็นการเปิดให้ผู้ชมหรือผู้ใช้บริจาคให้โดยตรง แต่มักประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการสร้างแคมเปญที่กระตุ้นให้ผู้ชมอยากมีส่วนร่วมได้ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์แบบคอมมูนิตี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเหนียวแน่น

Government Procurement and Sales

อีกโมเดลที่ Civic Tech สามารถหารายได้ได้ คือการรับงานตามประกาศจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ นอกจากรายได้แล้ว ยังมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานของภาครัฐได้ด้วย

elect.in.th
fb.com/electinth
twitter.com/electinth
[email protected]