แม้จะแบ่งงานเป็นสามส่วนหลัก แต่สิ่งที่เรายึดถือเป็นสำคัญคือความร่วมมือ (Collaboration) ร่วมกันคิดและแสดงความคิดระหว่างกัน ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ELECT จึงมีอาสาสมัครจากทั้งในประเทศและคนไทยในต่างประเทศมาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มเกือบ 100 คน โดยการดำเนินงานของ ELECT ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงวันเลือกตั้งนั้น อยู่ในรูปแบบของอาสาสมัครทั้งหมด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนหรือว่าจ้างใดๆ
เรื่องราวของ ELECT เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2561 จากวงสนทนาเล็กๆ บนโต๊ะอาหาร ที่มีคนทำงานด้านสื่อ ด้านข้อมูล และด้านการออกแบบเพียง 5-6 คน ที่มีความสนใจเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองและคิดจะ ‘ก่อการดี’ ร่วมกัน ต่างคนต่างใช้ความถนัดและเวลาว่างจากการทำงานหลัก มาร่วมกันลงสมอง ลงแรง และลงทุน พัฒนาแพลตฟอร์มที่ตั้งใจให้เป็นแหล่งรวบรวมและสื่อสารข้อมูลเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่หวังว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 รวมถึงมีเจตนากระตุ้นให้ ‘คนรุ่นใหม่’ หันมาสนใจสถานการณ์บ้านเมือง ทำการเมืองให้เป็นเรื่องคูลๆ ในสังคมไทย และพูดคุยเรื่องนี้กันได้อย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูล
ในระยะแรก ทีมก่อตั้งช่วยกันพัฒนาไอเดียและชิ้นงานกันเอง แต่หลังจากเริ่มปล่อยชิ้นงานออกสู่สาธารณะ ก็มีกระแสแสดงความสนใจ ทั้งจากคนรู้จักและผู้ชมทั่วไปว่าต้องการมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มนี้ เราจึงเปิดพื้นที่ให้กับบุคคลหรือองค์กรที่สนใจ อาสาสมัครมาร่วมกันคิดและพัฒนาจนออกมาเป็นโปรเจกต์ต่างๆ มากมายในแพลตฟอร์ม โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนข้อมูล (Content/Data) 2. ส่วนงานออกแบบ (Design) 3. ส่วนพัฒนาเว็บไซต์ (Development) โดยมีผู้จัดการโครงการ (Project Manager) คอยทำหน้าที่ประสานงาน หากใครอาสามาในส่วนไหนและพบว่ามีความตั้งใจที่สอดคล้องกัน ทีม ELECT จะเข้าไปสนับสนุนในส่วนที่เหลือ เพื่อให้พัฒนาชิ้นงานออกมาได้
แต่หลังจากช่วงเลือกตั้ง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา เพื่อการดำเนินงานที่ยั่งยืนและรักษาแพลตฟอร์มนี้ไว้ต่อ ELECT จึงรับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF), National Endowment for Democracy (NED) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาชิ้นงานและจัดกิจกรรมต่างๆ จนตลอดปี 2563
แม้ ELECT เอง ไม่ได้วางเป้าหมายว่าจะเป็น Civic Tech ตั้งแต่แรก แต่หากพิจารณาตามนิยามแล้ว ELECT สามารถจัดเป็น Civic Tech ระดับแรก คือเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีเปิดเผยข้อมูลของรัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ตรวจสอบความโปร่งใสได้ หรือใช้ประกอบตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และยังมุ่งหวังที่จะพัฒนาไปเป็นระดับที่สอง คือเป็นแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้ต่อไป และอีกความตั้งใจหนึ่งของ ELECT คือสนับสนุนให้การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐและองค์กรอิสระของไทยนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใส อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม ให้ประชาชนหรือเอกชนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย รวมถึงนำมาใช้ต่อได้ง่าย และไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้คำว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย” นั้น เกิดขึ้นจริงและไม่ตกเป็นภาระของประชาชน
Years
Projects
Contributors
2018
2019
2020
Dec
Jan
Feb
Mar
Apr
May
Jun
Jul
Aug
Sep
Oct
Nov
Dec
Jan
Feb
Mar
May
Apr
ชิ้นงานเปิดตัวของ ELECT ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2561 ในเวลานั้น มีกระแสว่าการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังว่างเว้นมาหลายปี งานชิ้นนี้จึงตั้งใจปล่อยออกมาเพื่อกระตุ้นความสนใจเรื่องการเมืองและการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หวังให้แชร์กันในโซเชียลมีเดีย โดยทำเป็นแบบทดสอบ (Quiz) ให้เลือกความสนใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ 8 ด้าน แล้วนำมาคำนวณสรุปเป็นโลโก้และชื่อพรรคการเมืองในแบบของตัวเอง ซึ่งด้วยอัลกอริธึมแล้ว สามารถสร้างได้ 336 แบบที่ไม่ซ้ำกัน
See Projectงานนี้ปล่อยสู่สายตาผู้ชมเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนกำลังรอคอยคำตอบว่าตกลงเมื่อไหร่ คนไทยถึงจะได้เลือกตั้ง หลังมีเหตุให้เลื่อนซ้ำแล้วซ้ำอีก งานชิ้นนี้จึงรวบรวมเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลื่อนเลือกตั้งจากสำนักข่าวต่างๆ มาเล่าผ่านไทมไลน์พร้อมภาพประกอบชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง ที่นับวันไปทีละวันจนแต่งงานมีลูก และให้ผู้ชมไถหน้าจอไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ให้ความรู้สึกของการรอคอยอันยาวนาน ไม่ต่างจากที่คนไทยรอเลือกตั้งมาถึง 1,767 วัน
See Projectเนื่องจากการเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้งมากถึง 81 พรรค ทำให้ประชาชนรู้สึกสับสนว่าแต่ละพรรคนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรและเน้นนโยบายด้านไหน ELECT เลยทำแพลตฟอร์มสำหรับเปรียบเทียบข้อมูลพรรคต่างๆ ขึ้นมา โดยอิงประสบการณ์ในการออกแบบจากการที่คนเปรียบเทียบเวลาซื้อของออนไลน์ (Compare Specs) อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดที่ว่าบางพรรคการเมืองนั้นไม่มีเว็บไซต์หรือเอกสารที่รวมแหล่งข้อมูลและนโยบายอย่างเป็นทางการ และทีมงานไม่สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลพรรคการเมืองทั้งหมดได้ครบถ้วน ทำให้งานชิ้นนี้ไม่สมบูรณ์ในด้านของข้อมูลนัก
See Projectนับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยในปี 2475 ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะการเลือกตั้งที่มีมาแล้ว 28 ครั้ง รัฐประหารที่มีมาแล้ว 13 ครั้ง ไปจนถึงการชุมนุมประท้วง หรือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำคัญอย่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเนื้อหาและข้อมูลที่ปรากฎในหนังสือสังคมศึกษาหรือบันทึกประวัติศาสตร์ไทย แต่ ELECT ต้องการให้เนื้อหาเหล่านั้น เข้าถึงได้ง่ายและเพิ่มเติมความอยากรู้อยากเห็นให้ผู้ชมมากขึ้น จึงพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานปฏิทินประชาธิปไตยไทย ที่กดเข้าไปดูได้ว่าแต่ละเดือนมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นในอดีต พร้อมแบ่งหมวดเอาไว้ให้ด้วย
See Projectเนื่องจากการเลือกตั้ง 62 นี้ ได้นำระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ คือระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ที่มีความซับซ้อนมาใช้ ประกอบกับคนไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานานหลายปี ELECT จึงอยากทบทวนกฎกติกาการเลือกตั้งให้กับผู้ชม ผ่านการทำแบบทดสอบ (เหมือนข้อสอบในห้องเรียน) ที่ให้ผู้ชมเรียนรู้ผ่านการวัดความสามารถ และยังสามารถแชร์ผลลัพธ์ในโซเชียลมีเดีย กระตุ้นความสนใจในการเลือกตั้งให้กับกลุ่มเพื่อนด้วย นอกจากนี้ ยังมีแจก ‘ชีทติว’ ที่สรุปให้เป็นข้อๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
See Projectจากประเด็นเรื่องการกลับไปใช้ ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ ในช่วงเลือกตั้ง 62 ซึ่งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First-time Voters) หรือแม้แต่คนที่เคยเลือกแล้ว อาจจะไม่เข้าใจหรือจำไม่ได้ว่าบัตรเลือกตั้งนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรได้บ้าง ELECT เลยรวบรวมข้อมูลบัตรเลือกตั้งตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน มาเรียบเรียงเป็นไทม์ไลน์ให้เห็นและข้าใจได้โดยง่าย
See Projectการเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียวกลายเป็นหนึ่งในสนามเลือกตั้งที่พรรคการเมืองและผู้สมัครลงไปเล่นกันอย่างเข้มข้น ELECT จึงร่วมกับ Wisesight ใช้เครื่องมือ Social Listening ในการรวบรวมโพสต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ที่มีการพูดถึงการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพื่อดูปริมาณและหัวข้อหลักที่คนสนใจในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งหนึ่งในข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ หลังแผ่นดินไหวทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 (พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ) ข้อความเกี่ยวกับการเมืองและเลือกตั้งในโซเชียลมีเดีย ก็เพิ่มจำนวนเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
See Projectการเลือกตั้งปี 2562 นี้ มีจำนวนผู้สมัคร ส.ส.มากถึง 14,098 คน มากกว่าการเลือกตั้งในปี 2554 ที่มีจำนวนผู้สมัคร ส.ส. 3,832 คน หรือมากกว่าเดิม 3.5 เท่า และด้วยระบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อน ทำให้หมายเลขของผู้สมัครแต่ละพรรคในแต่ละเขตนั้นไม่ตรงกัน จนทำให้อาจสับสนได้ว่าตกลงเขตบ้านเรา ผู้สมัครคือใครบ้าง โดยเฉพาะกับคนที่เลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกตั้งนอกเขต ELECT จึงพัฒนาเครื่องมืให้ผู้ชมสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. ในเขตบ้านตัวเองได้ แค่ใส่รหัสไปรษณีย์
See Projectจากข้อมูลบันทึกประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยที่ใช้พัฒนา Democracy Calendar 2019 ELECT ได้ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการ์ดเกมให้ผู้ชมได้ลองเล่น วัดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย สำหรับคนที่อยากเข้าใจประชาธิปไตยไทย แต่ไม่อยากอ่านหนังสือเล่มหนา การ์ดเกมจากหน้าจอชุดนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก Friedrich Naumann Foundation เพื่อพิมพ์เป็นชุดการ์ดเกมที่เล่นได้บนโต๊ะจริงๆ พร้อมแจกจ่ายไปยังร้านบอร์ดเกมและสถานศึกษาทั่วประเทศ
See Projectการเลือกตั้ง 2562 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ‘ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (MMA) ซึ่งในเวลานั้น ประชาชนจำนวนมากยังสับสนกับวิธีการและหลักการในการคิดคำนวณ ELECT ร่วมกับ iLaw จึงทำคลิปเพื่ออธิบายระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นี้ในเวลา 3 นาทีนิดๆ เพื่อให้เข้าใจกฎกติกา ก่อนที่จะเดินไปเข้าคูหา
See ProjectELECT ร่วมกับ Mayday สำรวจจุดเชื่อมต่อการเดินทางรถ-ราง-เรือในกรุงเทพฯ นำเสียงจากประชาชน ส่งถึงผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมือง เพื่อเรียกร้องนโยบายที่จะทำให้การเดินทางของเรา 'สะดวก ปลอดภัย และไม่แพง'
See Projectในการเลือกตั้ง 62 มีคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนถึง 6,426,014 คน คิดเป็น 13.74% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ คำถามที่ถามกันมากในช่วงนั้น คือเสียงของ 'คนรุ่นใหม่' จะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง? ELECT เลยทดลองนำข้อมูลมาคำนวณให้เห็นแบบชัดๆ ว่า ถ้าเดินเข้าคูหาในวันเลือกตั้ง กากบาท 1 ครั้งของ 'คนรุ่นใหม่' จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้อย่างไร
See Projectเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมา มีการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขตเลือกตั้ง โดย กกต. สรุปตัวเลขประกาศรับรองผู้สมัคร ส.ส. เขต 81 พรรค 10,792 คน นับว่ามีการแข่งขันสูงมาก (ราว 1 ต่อ 30) ELECT จึงนำข้อมูลเล่านั้นมาเปลี่ยนให้เป็นแผนที่ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าดูได้ง่ายขึ้นว่าเขตเรามีผู้สมัครของพรรคที่เราอยากเลือกไหม? แต่ละพรรคส่งผู้สมัครลงเขตไหนบ้าง? โดยที่มีลิงก์ต่อไปให้ดูรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในเขต พร้อมนโยบายพรรคด้วย
See ProjectELECT ร่วมกับ iLaw พัฒนา 'คู่มือเลือกตั้งสำหรับประชาชน' ที่หยิบเอากฏ กติกา และข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 มาเล่าผ่านการ์ตูนและอินโฟกราฟฟิกให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ ให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ใช้งานบนคอมพิวเตอร์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือได้สะดวก และส่งต่อไปให้ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด
See Projectเมื่อมีคำว่า ‘ธุรกิจ’ มาเกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง’ ทีไร หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยในเรื่องของการเอื้อผลประโยชน์ ความโปร่งใส การตรวจสอบ หรือมาตรฐานทางกฎหมายและจริยธรรม มาเกี่ยวข้อง ELECT จึงร่วมกับ Creden.co และ ภาษีไปไหน หยิบเอาข้อมูลด้าน ‘ธุรกิจ’ มาเชื่อมโยงกับ ‘พรรคการเมือง’ เพื่อให้ผู้ชมได้ตรวจสอบว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 แต่ละคนในแต่พรรค เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริษัทใด แล้วแต่ละบริษัทหรือนิติบุคคล เคยทำงานอะไรให้โครงการรัฐบ้าง
See ProjectELECT ร่วมกับ The MATTER พัฒนา Live Map สำหรับรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ หลังปิดหีบในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยต่อท่อข้อมูลตรงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยสามารถดูได้ทั้งภาพรวมประเทศ รายจังหวัด รายเขต ตามพรรค หรือแม้แต่รายบุคคล อย่างไรก็ตาม ระบบส่งข้อมูลของ กกต. ได้หยุดส่งข้อมูลที่ 94% และมีการปรับเปลี่ยนผลคะแนนในภายหลังตามประกาศของ กกต.
See Projectช่วงหนึ่งเดือนก่อนเลือกตั้ง มีการพูดคุยถึงสูตรจัดตั้งรัฐบาลกันมากมาย ว่าพรรคนี้รวมกับพรรคนั้น ขั้วนั้นขั้วนี้เต็มไปหมด แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปบทความ บทสัมภาษณ์หรือแผนภาพนิ่งๆ ELECT จึงจำลองสภาและใส่กติกาการเลือกตั้งลงไป และพัฒนาออกมาเป็นเครื่องมือทำนายผลการเลือกตั้ง ให้ผู้ชมได้ลองคาดเดา พร้อมเรียนรู้กลไกและกติกาการได้มาซึ่ง ส.ส. คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีไปในตัว
See Projectพูดกันมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดนี้ “เริ่มโดย คสช. เลือกโดย คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช.” หลังจากการประกาศรายชื่อ ส.ว. อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 62 ก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงชัดขึ้น ELECT จึงร่วมกับ iLaw รวบรวมข้อมูลความเชื่อมโยงของ ส.ว. ทั้ง 250 คนกับเครือข่ายอำนาจในรัฐบาล คสช. ว่าใครเคยมีตำแหน่งในองค์กรอะไรบ้าง แล้วแปลงให้เป็นเกม Minesweeper เกมกู้ระเบิดที่เล่นง่าย แต่ได้รู้จัก ส.ว. กันมากขึ้น
See Projectบทสัมภาษณ์แบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์จาก ‘สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล’ Senior Tech for Change Manager ชาวไทยที่ทำงานกับ ‘Phandeeyar’ องค์กรที่สร้างพื้นที่ให้กับงานด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเมียนมา เพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอมและเฮทสปีชในประเทศ ที่คนไทยและประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้
See Projectจากคำถามที่ว่า “เราได้อะไรจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาบ้าง?” ELECT ได้แปลงชั้นล่างของหอศิลปฯ กรุงเทพฯ เป็นนิทรรศการชั่วคราวที่จำลองรัฐสภามาไว้สำหรับให้ข้อมูล ‘ผู้แทน’ ทุกคนทั้ง ส.ส. และ ส.ว.วางไว้ให้สำรวจบนเก้าอี้ 750 ตัว รวมถึงมีใบเสร็จ ‘ราคาของการเลือกตั้ง’ 5,386 ล้านบาท และเวลาที่เสียไป 1,875 วัน นับตั้งแต่รอเลือกตั้งยันรอตั้งสภา
See Projectนักการเมืองอาจจะเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่เส้นทางอาชีพนั้นไม่เคยมีการระบุไว้อย่างชัดเจน บทสัมภาษณ์นี้ ELECT เลยไปขอคำตอบมาจาก ‘ดร. สติธร ธนานิธิโชติ’ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างทางการเมืองไทย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางสายอาชีพนักการเมืองในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่เส้นทางการศึกษา ไปจนถึงการไต่ระดับในสายอาชีพ เพื่อทำความเข้าใจอาชีพที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ตัวแทนของประชาชน’ ให้ชัดเจนกันยิ่งขึ้น
See Projectเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารกลายมาเป็นประเด็นใหญ่ ไม่ใช่แค่ในโลกธุรกิจ แต่ยังก้าวเข้ามาสู่โลกการเมืองอย่างเต็มตัว บทสัมภาษณ์นี้ ELECT ได้มีโอกาสคุยกับ ‘ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางการเมืองในยุคข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก เพื่อให้ช่วยอัพเดทว่าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมีบทบาทกับชีวิตและการบริหารปกครองประเทศแค่ไหน
See Projectด้วยความเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประชาธิปไตย (In Vote We Trust) และ ‘ผู้แทน’ ที่ได้มาจากกลไกการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด จำเป็นต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประชาชน ELECT จึงตั้งใจพัฒนาแพลตฟอร์ม They Work For Us ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงสื่อมวลชน สามารถทำความรู้จักและติดตาม 'ผู้แทน' ได้ง่ายขึ้น พวกเขาคือใคร เคยทำอะไรมาบ้าง พูดอะไรในสภา และเลือกที่จะสนับสนุนอะไร เพื่อช่วยกันดูว่าผู้แทนที่เข้าไปในสภา เขาทำได้ตามที่เคยสัญญากับเราไหม
See Projectแบบทดสอบสั้นๆ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่ ELECT รวบรวมกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาให้เรียนรู้กันผ่านการถามตอบง่ายๆ
See Projectจากเนื้อหาและข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยงาน Democracy Calendar 2019 เมื่อขึ้นปี 2020 ELECT ก็ได้เอามาอัพเดทข้อมูลอีกครั้ง ให้ตรงกับปฏิทินปี 2020
See Projectหลังการเลือกตั้ง มีข่าวเกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส.ผู้หญิงไทยในรัฐสภามีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในบทความนี้ ELECT เลยลองสำรวจข้อมูลว่า ส.ส.หญิง ของแต่ละพรรคการเมืองในรัฐสภานั้นได้เข้าไปมีบทบาทและตำแหน่งตาม ‘กรรมาธิการสามัญ’ ทั้ง 35 ชุดอย่างไรบ้าง เพื่อสะท้อนถึงข้อสังเกตทั้งเรื่องจำนวนและประเด็นที่ ส.ส.หญิง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมผลักดัน
See Projectเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ถูกรายล้อมไปด้วยข่าวปลอมมากมาย ทั้งในเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงการเมือง แต่จริงๆ แล้วข่าวปลอมหรือที่เราเรียกว่า Fake News กันนั้นมันก็ถูกจัดประเภทเอาไว้หลายรูปแบบ บทความนี้ ELECT จึงให้คำอธิบายเบื้องต้นพร้อมชวนผู้ชมไปสำรวจความเข้าใจผ่านแบบทดสอบสั้นๆ (Quiz) เพื่อวัดความเข้าใจข่าวปลอมแต่ละรูปแบบ
See Projectหลังเลือกตั้งและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ก็เริ่มมีการประชุมสภาเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลานานและมีหลายประเด็นเกิดขึ้นในระหว่างการประชุม ELECT จึงได้ทดลองพัฒนาแพลตฟอร์มให้เลือกดูประชุมสภาย้อนหลังกันง่ายๆ โดยสามารถดูสถิติภาพรวมและเลือกดูรายบุคคลได้ ว่า ส.ส. คนไหนหรือพรรคไหน มีบทบาทในการเสนอ อภิปราย สนับสนุน หรือประท้วงอย่างไร โดยแพลตฟอร์มนี้ใช้โมเดลอาสาสมัครในการบันทึกเวลา และเปิดข้อมูลเหล่านั้นให้นำไปใช้ได้
See Projectจากบันทึกเวลาในโปรเจ็กต์ Parliament Listening ELECT ได้ทำ Infographic Series สรุปสถิติเวลาจากข้อมูลที่ได้มาลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อเปรียบเทียบภาพรวม ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ส.ส. และครม. รายคนให้ชัดเจนขึ้น พร้อมแบ่งเป็นเวลาที่ได้โควต้า เวลาอภิปราย เวลาประท้วง และเวลาชี้แจงให้เห็นกันชัดเจนและเข้าใจง่ายๆ
See Projectในวาระครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้ง 62 ELECT ได้ลองรวบรวมเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาเรียบเรียงเป็นไทม์ไลน์ไว้ให้ดูได้เร็วและดูได้ง่ายในที่เดียว โดยสามารถกดดูแยกตามหมวด (รัฐสภา-ครม.-พรรค-ส.ส.-กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ-อื่นๆ) และกดขยายเพื่อดูเนื้อข่าวได้
See Projectต่อเนื่องจากข้อมูลเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วง 1 ปีหลังเลือกตั้ง ELECT ได้เปลี่ยนรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลให้เป็นแบบทดสอบ (Quiz) ที่ทดสอบความจำผู้ชมว่าจดจำเรื่องการเมืองไทยในรอบหนึ่งปีหลังเลือกตั้งได้ดีแค่ไหน? โดยให้ทายว่าเหตุการณ์ในควิซเกิดขึ้นจริง (Fact) หรือไม่ (Fake)
See Projectบทความชิ้นนี้ ELECT ตั้งใจอธิบายเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสียของเครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electornic Voting Machine – EVM) ที่ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่หลายประเทศได้นำไปใช้สำหรับการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติกันอย่างเป็นทางการแล้ว ด้านประเทศไทยของเรานั้น คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะนำเครื่อง EVM นี้ไปใช้ในการเลือกตั้งระดับชาติด้วยเช่นกัน
See Projectแนวคิดเรื่องลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขามีเหตุผลที่เพียงพอในการใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมไปถึงเป็นการขยับขยายขอบเขตของสำนึกความเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ในบทความนี้ ELECT เลยรวบรวมข้อมูลและข้อสังเกตเพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไป ข้อดีและข้อพึงกังวลเกี่ยวกับการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
See ProjectELECT ลองหยิบจับข้อมูล 'การแบ่งเขตเลือกตั้ง' ที่ประกาศเป็นตัวอักษรจากในราชกิจจานุเบกษา รวมถึงผลการเลือกตั้งย้อนหลัง มาแปลงให้เป็นแผนที่เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมือง เข้าถึง เข้าใจ และใช้งานข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยสามารถกดเปรียบเทียบแต่ละจังหวัด แต่ละเขตย้อนหลัง 4 ปีได้ (2550-2554-2557-2562) หรือจะดูว่าพรรคไหนชนะ ส.ส.คนไหนชนะในเขตไหน ปีไหนก็ได้
See Projectรัฐประหารหนึ่งครั้ง ประชาธิปไตยไทยถอยหลังไปแค่ไหน? ELECT นำช่วงเวลาจากหน้าประวัติศาสตร์ มาเปลี่ยนให้เห็นเป็นภาพ "เส้นทางประชาธิปไตย" ว่ามีการรัฐประหารและการเลือกตั้ง ให้ประชาธิปไตยเดินหน้า-ถอยหลังกันไปแค่ไหน ตลอด 88 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งถ้าดูภาพรวมแล้ว ช่วงเวลาของการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารนั้น กินเวลาไปถึง 30%
See Project