Article


Content by

Goongging Thanisara

ไม่โกงก็ไม่ต้องกลัว! รีวิว Civic Tech โดนใจจาก #ACTkathon2021

บอกเลยว่าใครจะพูดหยุดโกงอะไรก็พูดไป แต่มีคนลงมือทำให้เห็นแล้วที่นี่ !!

หลังจากได้ติดตามและเข้าไปช่วยแนะนำในงาน #ACTkathon2021 อย่างใกล้ชิดในช่วงเดือนที่ผ่านมา ต้องบอกว่าประทับใจทุกทีมที่เข้ามาร่วมแข่งขัน ด้วยความมุ่งมั่นในการเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีมาคิดหาวิธีเแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น พร้อมความหวังว่า อยากเห็นประเทศไทยที่ดีกว่านี้ ภาษี (กู) ต้องไม่รั่วไหล และความโปร่งใสต้องสามารถตรวจสอบได้โดยประชาชน เลยอยากหยิบเอาผลงานผู้ชนะ 3 ทีม บวกกับอีก 2 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายมาเล่าให้ฟังนิดนึง ว่าไอเดียพวกเขาเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดความตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ และจะดีกว่านี้ได้.. ถ้าได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐอย่างไรบ้าง

ทุกๆ ครั้งที่จบงาน Hackathon ใดๆ เราก็มักจะมีคำถามในใจกันว่า “แล้วยังไงต่อนะ?” ไอเดียหรือโปรโตไทป์ที่เกิดขึ้นจะไปไหน? สำหรับงานนี้ ทีม ACTai จะมาต่อยอดและเชื่อมไอเดียทุกคนเข้าหากันเพื่อสร้าง ‘Ecosystem ในการจับโกง’ ที่แข็งแรงมากขึ้น! เหมือนที่ทีมที่ร่วมแข่งขันเคยพูดว่า “ยิ่งความโปร่งใสถูกเชื่อมโยงหากันได้มากเท่าไหร่ การคอร์รัปชันก็จะถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้นเท่านั้น”

ใครอยากเห็นซีซั่นต่อไป ชี้เป้าให้ไปดูที่ ‘#ACTDay2021 : คบเด็กสร้างชาติ’ วันที่ 6 กันยายนนี้ ที่จะสร้างพื้นที่ปล่อยของให้เด็กรุ่นใหม่ได้นำเสนอแนวทางให้การต่อต้านคอร์รัปชัน

มา! รอดูกันว่า.. ประชาชนอย่างเราจะช่วยสร้างชาติกันได้ยังไงอีก 💪🏻

 

🏆 กินยกแก๊งค์ : ค้นหา จับตาคอนเน็กชันของนักธุรกิจ นักการเมือง และเครือญาติ

 

งบก้อนนั้นใครได้ไปใช้ ? โครงการนี้ใครชนะประมูล ? บางทีเหตุผลอาจไม่ใช่เพราะเขาเสนอ ‘อะไร’ แต่เพราะเขาเป็น ‘ใคร’ มากกว่า

“คอนเน็กชัน ที่ดูเป็นคำธรรมดาในสังคมไทย แต่ถ้าคอนเน็กชันนั้นอยู่บนผลประโยชน์จากภาษีของประชาชน ก็จะนำไปสู่เป็นการใช้เงินภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพ” เป็นที่มาที่ทีมนี้คิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา แล้วก็เอาข้อมูลที่มีอยู่แล้วอย่าง ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง บัญชีนักการเมือง และคำพิพากษาคดีทุจริตต่างๆ มาใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีช่วยจัดการ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลเหล่านั้น เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของ ‘คอนเน็กชัน’ นักการเมืองแต่ละคนชัดเจนขึ้น

ดูแล้วคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับสื่อและประชาชนมากๆ เลย แบบ.. เวลาที่เรา ‘เอ๊ะ’ กับนักการเมืองหรือนามสกุลไหน ว่า ‘กิน’ ปะนะ? กดเข้าไปดูแล้วก็ยกกันมาให้ตามสืบกันทั้งขบวนเครือญาติ-ธุรกิจเลย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้น่าจะทรงพลังมากขึ้นนะ ถ้ามี ‘ข้อมูลเปิดภาครัฐ’ ที่ครบถ้วน อัพเดทสม่ำเสมอ และอยู่ในรูปแบบที่นำมาใช้งานต่อได้ง่ายกว่านี้ (ยิ้มสวย) จากกรมบัญชีกลาง กรมธุรกิจการค้า และบัญชีทรัพย์สินหนื้สินนักการเมืองที่เปิดเผยต่อ ปปช. จะได้เลิกคาใจกันสักทีว่า นี่โต๊ะจีน บุฟเฟต์ หรือภาษี (กู) ?

ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://app.powerbi.com

 

🏆 ขิงบ้านเรา : ตรวจสอบข้อมูลงบประมาณของท้องถิ่นของบ้านเรา

“คนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสกันเรื่องรัฐบาลส่วนกลาง แต่มักจะหลงลืมระดับท้องถิ่นไป เราเลยมองว่าถ้าเรากลับมาทำรากฐานให้ดี เรื่องอื่นๆ ในประเทศก็น่าจะดีตามไปด้วย” เป็นคำอธิบายที่ดีมากๆ สำหรับทีมนี้ที่พัฒนาแพลตฟอร์มให้เรามีส่วนร่วมกับเรื่องใกล้ตัว ภาษี (ที่รัฐใช้) ใกล้บ้านเราได้

ทีมพัฒนาอธิบายแพลตฟอร์มนี้ว่า แค่เราเข้าหน้าเว็บไปกรอกว่าเราอยู่ตำบลไหน ระบบก็จะบอกข้อมูลพื้นฐานทุกอย่าง ว่าใครดูแลเราอยู่ มีงบประมาณเท่าไหร่ ไปจนถึงมีโครงการอะไรที่เกิดจากภาษีเรา และภาษีเหล่านั้นถูกใช้ยังไงบ้าง เพื่อให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้น แล้วก็ช่วยติดตามหรือตรวจสอบอะไรที่ผิดปกติได้ รวมถึงอาจจะเป็นพื้นฐานให้คิดว่าเราจะทำบ้านเราให้ดีขึ้นได้ยังไงด้วย เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่าคนที่อยู่ที่นี่อยู่แล้ว

ดูแล้วคิดว่า ถ้าทำออกมาให้เข้าใจง่ายได้จริงๆ และดูได้ว่าเกี่ยวกับชีวิตเรายังไง อาจจะป๊อปกว่า POPCAT (และ POP อื่นๆ) ก็ได้นะ (คนไทยขิงเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว!) แต่คิดว่าแพลตฟอร์มนี้จะสมบูรณ์ได้อีก ก็คงต้องอาศัยรูปแบบข้อมูลที่เปิดในรูปแบบที่ดีกว่านี้ (Machine-Readable Format) จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และข้อบัญญัติงบประมาณของแต่ละ อปท. ที่ควรจะมีการรวบรวมไว้จุดเดียว (ปัจจุบันกระจายตามเว็บไซต์ของแต่ละ อปท. ที่ควรรวบรวมมาไว้ที่เดียว รวมถึงจะยิ่งดีขึ้นได้ ถ้าได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและนักการเมืองท้องถิ่น แบบ.. เราดูแล้วเดินไปบอกได้ว่า “เฮ้ย อันนี้ไม่ใช่ว่ะพี่” หรือ “คุณพี่คะ น้องว่าทำแบบนี้ บ้านเราน่าจะดีได้กว่านี้นะคะ”

 

🏆❣️ PICA เรดาร์จับโกง : เครื่องมือตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยประชาชน

เชื่อว่าหลายๆ คนเคยเป็น เจอเรื่องน่าสงสัยเกี่ยวกับโครงการภาครัฐบางอย่าง แต่ไม่รู้จะไปตั้งคำถามที่ไหน (ได้แต่บ่นๆ ลงทวิตอะ) หรือมีความเอะใจ แต่แค่หาข้อมูลก็เป็นท้อแล้ว

ทีม PICA ที่ย่อมาจาก People Investigate Corruption Action เลยเกิดไอเดียว่าควรรวมพลคนช่างสงสัยและช่างสืบ มาช่วยกันส่งข้อสงสัยและแชร์ข้อมูลกันผ่านแอพฯ ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ง่ายๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่า “เครื่องมือการตรวจสอบที่ทรงพลังที่สุดก็คือภาคประชาชน” โดยฟังก์ชั่นในแอพฯ ก็แค่ ยกมือถือขึ้นมาส่องโครงการอะไรก็ตามที่เป็นงงอยู่ตรงหน้า ดูข้อมูลพื้นฐานได้ว่า เอ.. สร้างอะไร ควรจะเสร็จเมื่อไหร่ ใช้เงินเท่าไหร่นะ และถ้ามีเบาะแสก็ส่งแชร์กันได้ แถมมีแผนที่ให้ดูด้วยว่า เฮ้ย เรามีเพื่อนสงสัยใกล้ๆ เราด้วยอะ

ดูแล้วประทับใจทีมนี้ตรงแนวคิด Simple & Simplify พัฒนาอะไรง่ายๆ ใช้ข้อมูลที่มีและเครื่องมือที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่มันจะเพอร์เฟกต์มากถ้าได้ ‘ข้อมูลเปิดภาครัฐ’ ที่ครบถ้วน อัพเดทสม่ำเสมอ และอยู่ในรูปแบบที่นำมาใช้งานต่อได้ง่าย จากกรมบัญชีกลาง รวมถึงว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ตรงนี้ดูมีหลายหน่วยงานไหมคะ? ไม่น่าระบุได้) รับเอา Feedback จากประชาชนในแอพฯ นี้ไปใช้ จะได้พัฒนาการทำงานและใช้เงินในโครงการรัฐให้มีประสิทธิภาพได้ มีคนช่วยแชะ/แชร์ขนาดนี้แล้ว ปิดหูปิดตาไม่ได้แล้วนะ

 

🏅 Blocklander & Jokeranger (Finalists)

ถึงจะไมไ่ด้รางวัล แต่อีกสองทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายก็มีไอเดียที่ ‘ว้าว’ ไม่แพ้กัน

ในขณะที่ทั่วโลกร้อนใจหนักเรื่องโลกร้อน คนไทยกับไม่ค่อยได้รู้ว่า ภาษีที่เราจ่าย ถูกเอาไปใช้ด้านสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง ‘Blocklander’ จึงตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มที่ถามตรงตอบตรงกับการใช้งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศนี้ โดยมีตั้งแต่การรายงานสถานการณ์ด้านต่างๆ แล้วดูว่ามีการใช้งบประมาณด้านไหนบ้าง ไปจนถึงเปิดช่องทางให้ร้องเรียนได้ ดูแล้วน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีสำหรับกลุ่ม NGOs สื่อมวลชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ควรเอาข้อมูลมาเปิดเผยแล้วรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

สุดท้ายคือ ‘Voice of Change’ จากทีม Jokeranger ที่ปิ๊งไอเดียมาจากการตั้งคำถามกับ ‘ผู้ใหญ่ท่านว่า’ หรือระบบ ‘นายสั่งมา’ ในองค์กรภาครัฐ แล้วต่อยอดมาสู่แพลตฟอร์มที่ให้คนในองค์กร เข้าถึงข้อมูลโครงการต่างๆ ขององค์กร พร้อมมีสิทธิออกปากออกเสียงร้องเรียน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ดูแล้วน่าจะเป็นประโยชน์มากๆ กับทุกหน่วยงานที่เอาไปใช้เอง เพราะนอกจากจะช่วยให้คนในองค์กรรู้สึกอินกับการพัฒนาที่ทำงานตัวเองแล้ว ยังกระตุ้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐโดยเริ่มจากหน่วยย่อย และส่งเสริมประชาธิปไตยในองค์กรอีกแน่ะ

 

รีวิวมาถึงตรงนี้ ก็อยากให้โปรเจกต์ทั้งหมดนี้ได้รับการพัฒนาต่อจนใช้งานได้จริงในประเทศนี้ให้หมดเลย พร้อมย้ำแล้วย้ำอีกนั่นแหละ ว่าแค่รัฐเปิดข้อมูลให้ดี ก็มีประชาชนจับขอบจอรอหยิบมาใช้งานเพื่อช่วยกันปราบคอร์รัปชั่นและพัฒนาสังคมต่ออยู่แล้ว

เปิดสิเปิด.. ไม่โกงก็ไม่ต้องกลัว! จะรอติดตามตอนต่อไปใน ‘#ACTDay2021 : คบเด็กสร้างชาติ’ ละกัน