Article


Content by

Surachai Kraipet

รู้จัก Digital Democracy: ไต้หวันใช้เทคโนโลยีสร้างประชาธิปไตยอย่างไร?

“ประชาชนไม่จำเป็นต้องไว้ใจรัฐบาล รัฐบาลต่างหาก ที่ต้องไว้ใจประชาชน” คือคำกล่าวของ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ซึ่งสะท้อนถึงภาพการเมืองและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในไต้หวันได้เป็นอย่างดี

 

ถึงแม้หลักการเรื่อง ‘ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’ (Participatory democracy) จะไม่ใช่แนวคิดใหม่เสียทีเดียว แต่ในช่วงหลังมานี้ เริ่มมีการพูดถึงการนำเทคโนโลยี และพื้นที่ในโลกดิจิทัล ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนแนวคิดเรื่องพลเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อรัฐบาลมากขึ้น

ไต้หวัน เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจกรณีหนึ่ง ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างประชาธิปไตยได้อย่างน่าสนใจ วันนี้ ELECT จึงขอหยิบยกตัวอย่างของการสร้าง Digital Democracy แบบไต้หวันมาให้ดูกัน

 

 

โปรเจ็กต์ vTaiwan : แพลตฟอร์มกลางให้ประชาชน ผู้เชี่ยวชาญและภาครัฐได้ร่วมกันสร้างนโยบายที่เห็นตรงกัน ยกตัวอย่าง กรณีข้อถกเถียงเรื่องการออกกฎกำกับการให้บริการของ Uber ที่มีสังคมมีความเห็นต่างค่อนข้างเยอะ

Pol.is : พื้นที่สำหรับสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนต่อนโยบายภาครัฐ มีช่องให้ประชาชนกดเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ต่อประเด็นต่างๆ โดยไม่มีช่องให้คอมเมนต์เพื่อลดความขัดแย้ง และการถกเถียงที่ไม่สร้างสรรค์ ความเห็นหรือประเด็นใน pol.is จะถูกนำมาใช้เพื่อขยายต่อได้ใน vTaiwan อีกทีหนึ่ง

เว็บไซต์ g0v.tw : เว็บไซต์ที่ให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ และเปิดพื้นที่ให้กลุ่ม Civic Tech สร้างเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคม

sandbox.org.tw : แพลตฟอร์มให้ประชาชนเสนอไอเดียต่อสังคม โดยสามารถทดลองไอเดียของตัวเองได้เป็นเวลา 1 ปี เพื่อสำรวจว่าทำงานได้จริงหรือไม่ ถ้าทำแล้วได้ประสิทธิผลจริง รัฐบาลไต้หวันก็จะสนับสนุนและช่วยต่อยอดต่อไป

Realtime map : ร่วมมือกับประชาชนและบริษัทเอกชนใช้ Data สร้างแผนที่ช่วยตรวจสอบราคาและร้านค้าที่ขายหน้ากากอนามัยช่วง COVID-19

Clarification system : ระบบจัดการข่าวปลอม โดยเน้นหลักไม่ผูกขาดความจริงโดยรัฐ แต่ให้ประชาชนช่วยกันเสริมข้อเท็จจริง ระบบนี้ทำงานโดยสังเกตเทรนด์ข่าวที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ก่อนที่รัฐบาลจะเข้าไปตรวจสอบว่ามีข่าวที่ไม่จริงแฝงอยู่ไหม จากนั้นรัฐก็จะให้ข้อเท็จจริงในมุมของรัฐ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับประชาชน เมื่อเห็นตรงกันว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมแล้ว ก็จะประสานงานให้โซเชียลมีเดียช่วยทำให้ข่าวปลอมนั้นถูกมองเห็นได้ยากมากขึ้นบนนิวส์ฟีด

อ้างอิงจาก:

https://thematter.co/brief/brief-1561042800/79122

https://prachatai.com/journal/2019/05/82641

https://www.wired.co.uk/article/taiwan-democracy-social-media

https://www.nytimes.com/2019/10/15/opinion/taiwan-digital-democracy.html