Article


Content by

Goongging Thanisara

ปกป้องหรือบงการ? เข้าใจพลังของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารกับการเมืองยุคใหม่

ไม่กี่วันก่อน คุณอาจจะได้เห็นบทสนทนาอันเข้มข้นระหว่าง ส.ส. Alexandria Ocasio-Cortez กับ Mark Zuckerberg ในการไต่สวนเรื่องข่าวปลอมกับโฆษณาทางการเมือง ไม่กี่สัปดาห์ก่อน คุณอาจจะได้ฟังผู้บัญชาการทหารบกของประเทศไทย พูดถึงพลังอำนาจของ Big Data Analytics ที่นำข้อมูลของผู้คนมาใช้หวังผลทางการเมืองได้ ไม่กี่เดือนก่อน กระทรวงดิจิทัลฯ ของไทยก็ได้จัดตั้ง Fake News Center ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาข่าวลวง และเมื่อปีก่อน คุณอาจจะพอได้ยินข่าวกรณีของ Cambridge Analytica ที่เอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านบัญชี มาไปใช้เพื่อทำแคมเปญหาเสียงในสหรัฐฯ

 

คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารกลายมาเป็นประเด็นใหญ่ ไม่ใช่แค่ในโลกธุรกิจ แต่ยังก้าวเข้ามาสู่โลกการเมืองอย่างเต็มตัว ในประเทศไทยเอง เราก็เห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมากมายจากการใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ของการเมือง นับตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2562) ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างกระแสสังคมจากบนโลกดิจิทัล กองทัพไซเบอร์ที่เราไม่เคยรู้จัก ข่าวสารที่ถูกบอกเล่าไปคนละทิศละทาง มาตรการต่างๆ ในการกำกับและควบคุมของรัฐ ไปจนถึงความขัดแย้งเกลียดชังที่บ่มเพาะขึ้นได้ในเวลาอันสั้น

ELECT ได้มีโอกาสคุยกับ ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความสนใจในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมยุคใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางการเมืองในยุคข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก เพื่อให้ช่วยอัพเดทว่าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมีบทบาทกับชีวิต และการบริหารปกครองประเทศของเราแค่ไหน แล้วเราควรทำตัวอย่างไรในยุคที่ข้อมูลถูกใช้ในการเมืองอย่างเข้มข้นนี้

 

 

Q : ช่วยอัพเดทหน่อยว่าตอนนี้ โลกดิจิทัลและเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมีบทบาทมากต่อการเมืองทั่วโลกอย่างไรบ้าง?

A : จริงๆ มันมีมาตั้งแต่ตอน Arab Spring (2010) ที่เป็นการประท้วงโดยอาศัยโซเชียลมีเดียในการระดมคน ซึ่งทำให้เล็ดรอดการตรวจสอบของฝ่ายรัฐบาล ผ่านมาเกือบ 10 ปี ตอนนี้เมื่อมีการศึกษาและความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองหลักๆ แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ 1. ใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง และ 2. ใช้ในการควบคุมหรือกำกับการเลือกตั้ง

สำหรับการใช้เทคโนโลยีปราบปรามผู้เห็นต่าง ในหลายประเทศ เมื่อก่อนอาจจะเป็นการไล่จับไล่ฟ้องคน แต่ตอนนี้เริ่มมีวิธีการที่แนบเนียนมากยิ่งขึ้น คือเป็นการปั้นข้อมูลข่าวสารเพื่อที่จะทำให้คนเห็นด้วยกับรัฐบาล มีสิ่งที่เรียกว่า Cyber Trolling คือจ้างคนมาให้ไล่ด่าคนที่ฝั่งตรงข้าม มีทั้งกลุ่มที่เป็นองค์กรชัดเจนและไม่ชัดเจน ทั้งของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ในบางประเทศที่มีเงินมากและเทคโนโลยีสูงหน่อย ก็มีการใช้ Bot มากขึ้น เช่น ในรัสเซียมีการทำ Bot Farm คือการฝึกฝนคนให้ผลิตข้อความที่ Discredit ฝ่ายตรงข้าม งานวิจัยล่าสุดของ University of Oxford ได้ศึกษาเรื่อง Trolling ทั่วทั้งโลก ก็พบหลักฐานว่ามีกองทัพไซเบอร์ในกว่า 20 ประเทศ ทั้งกองทัพที่เป็นคนและหุ่นยนต์ มุ่งป้ายสีฝ่ายตรงข้าม โดยมีทั้งรูปแบบที่เป็น Disinformation และ Misinformation

อีกด้านหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมหรือกำกับการเลือกตั้ง มันเริ่มจากการที่เทคโนโลยีข้อมูลถูกนำไปใช้โดยเจ้าของทุน เก็บข้อมูลเพื่อมุ่งเป้าโฆษณาไปยังลูกค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้เกิดบริษัทบริการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อย่าง Cambridge Analytica ขึ้น ข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นสิ่งมีค่ามากกว่าน้ำมันหรือทอง และถูกนำมาใช้ในการทำแคมเปญเลือกตั้ง มีการขุดข้อมูล (Data Mining) เพื่อที่จะแสวงหาความเห็นทางการเมืองของคน และออกแบบข้อมูลข่าวสารที่แต่ละคนจะได้รับไม่เหมือนกัน

อย่างกรณี Donald Trump ที่เป็นผู้สมัครที่มีปัญหาค่อนข้างมาก ทีมแคมเปญจึงต้องเริ่มหาว่าใครจะเป็น Audience ของ Trump ที่สามารถโน้มน้าวใจได้ คือพวกเขาอาจจะไม่ได้ชอบ Trump เป็นการส่วนตัว แต่สามารถถูกเบี่ยงเบนให้หันมาเลือก Trump ได้โดยอาศัยต้นทุนความโกรธที่มีในสังคม นักการเมืองรูปแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองแบบประชานิยม (Populists) โดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายขวา ที่เริ่มรู้ว่าคนกังวลเรื่องอะไร แล้วก็นำความกังวลเหล่านี้มาใส่ในแคมเปญการเลือกตั้ง เช่นประเด็นความมั่นคง ประเด็นผู้อพยพ และที่สำคัญคือความกลัวในเรื่องสวัสดิการหรือเศรษฐกิจว่าคนจากที่อื่นจะเข้ามาแย่งงาน ซึ่งจริงๆ ของเหล่านี้มีอยู่เป็นปกติ แต่นักการเมืองกลุ่มนี้ได้พยายามเปลี่ยนแปลงของเหล่านี้ให้กลายเป็นทุนทางการเมือง ทำให้ประชาธิปไตยก็ได้รับผลกระทบจากการตลาดข้อมูลข่าวสาร

 

Q : จริงๆ แล้ว การที่พรรคการเมืองใช้เทคโนโลยีข้อมูลเพื่อเข้าใจความเห็นหรือความต้องการของประชาชน มันควรจะเป็นข้อดีหรือเปล่า? แต่ทำไมถึงมีความหวาดกลัวในประเด็นนี้ และหลายครั้งก็ถูกมองว่าเป็นภัยหรืออันตราย?

A : ปกติถ้านักการเมืองแค่อยากรู้ว่าประชาชนอยากได้อะไรและทำตามนั้น มันก็น่าจะดีถูกไหม? แต่ส่วนใหญ่ความต้องการมันถูกปั้นขึ้นจากข้อมูลข่าวสารพวกนี้ได้ เช่น ในสหรัฐฯ เรื่องแคมเปญสวัสดิการและระบบประกันสุขภาพฟรีก็เป็นเรื่องที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการ แต่ปัญหาคือระบบข้อมูลข่าวสารนั้นมันถูกกุมอยู่กับกลุ่มทุน เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่มันจะกระทบกับผลกำไรของกลุ่มทุน มันก็ต้องถูกควบคุม พวกเขาจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นข้อมูลข่าวสารที่เจ้าของคือกลุ่มทุนเองก็ต้องพยายามปั่นอารมณ์ความรู้สึกคนโดยการชี้เป้าว่าเรื่องพวกนี้เป็นบทบาทหน้าที่ที่เกินขอบเขตสำหรับรัฐบาล ดังนั้นแทนที่นักการเมืองจะทำตามความต้องการของคน มันกลับหันเหเป็นว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนต้องการ

การนำข้อมูลขนาดมหาศาลของคนมารวมกัน มันจะต้องผ่านกระบวนการตีความ ซึ่งอาจไม่ได้ตรงไปตรงมา สุดท้ายอาจไม่ได้หมายถึงการตีความตามที่คนเหล่านั้นต้องการจริงๆ ก็ได้ ข้อมูลสามารถนำไปทำอย่างอื่นเพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ แล้วก็ปล่อยข้อมูลเหล่านี้กลับมาสู่ผู้คน ทำให้คนรู้สึกว่าจริงๆ ปัญหาที่เขาเรียกร้องมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันเป็นการเบี่ยงประเด็น พร้อมกับสร้างพื้นที่ระบายใหม่ หันคนไปหาเรื่องอื่นที่มันง่ายกว่าที่จะทำความเข้าใจ อย่างการเลือกเกลียดภัยคุกคามของชาติ มันอาจจะง่ายกว่าการมองว่าระบบโครงสร้างสังคมตรงไหนที่เป็นปัญหา

 

Q : แล้วการที่ข้อมูลข่าวสารถูกเปลี่ยนให้เป็นทุนทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม คิดว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการควบคุมจากรัฐบาลไหม? และถ้าต้องควบคุมควรจะควบคุมแบบใด?

A : พูดยากมาก ต้องดูตามบริบท มันมีเส้นบางๆ ระหว่างการควบคุมเพื่อประโยชน์ของคนกับการควบคุมเพื่อปิดปากคน แต่ถ้าถามว่าการคุมของรัฐในพื้นที่ไซเบอร์สำคัญไหม ก็ถือว่าสำคัญ เพราะไม่งั้นทุนนิยมที่ถือเป็นความโลภของมนุษย์ จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากเรื่องคอขาดบาดตายได้

อย่างกรณีคดีความของ Cambridge Analytica ก็เป็นตัวจุดประเด็นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎระเบียนแบบนี้มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเอาเปรียบและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือ ผู้นำประเทศ หรือกลุ่มทุน เพราะฉะนั้นมันต้องมีองค์กรที่ป้องกันชีวิตคนได้ และต้องเป็นองค์กรที่ทำเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ

ทีนี้ถ้าถามว่าต้องควบคุมแบบไหน สิ่งเหล่านี้หลายครั้งเกี่ยวข้องกับระบอบทางการเมืองของรัฐ รัฐที่เป็นระบอบอำนาจนิยมอย่างจีน ก็ต้องควบคุมโลกไซเบอร์เพื่อรักษาอำนาจกลางของรัฐ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าข้อมูลที่บั่นทอนอำนาจของรัฐบาลกลางเป็น Disinformation หรือ Hate Speech หมด ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าข่าวเหล่ามีความเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลอำนาจนิยมต้องควบคุมข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อมูลส่วนกลาง ขณะเดียวกันก็ต้องบอกกับประชาชนในเรื่องที่บางทีไม่จริง เพื่อคุมกระแสสื่อในประเทศ ดังนั้นระบอบการเมืองก็ส่งผลต่อการออกกฎหมายออกระเบียบเพื่อควบคุมการใช้ข้อมูล

ตอนนี้ในสหภาพยุโรปมีการควบคุมการฉวยใช้ข้อมูลส่วนตัว ที่เรียกว่า The EU General Data Protection Regulation (GDPR) อันนี้ดิฉันคิดว่าเป็นการควบคุมข้อมูลที่มีเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและระบอบทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง เป็นระบอบที่รับผิดชอบต่อชีวิตของคน ควบคุมข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน คุณสามารถเลือกให้เก็บเฉพาะข้อมูลได้ รวมถึงไม่รับข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือเป็นมาตรการควบคุมที่สนใจเรื่องสิทธิของประชาชนมากกว่าเรื่องอำนาจของรัฐบาลหรือผลประโยชน์ของกลุ่มทุน

 

 

Q : มองการกำกับดูแลข้อมูลข่าวสารในไทยว่าอย่างไรบ้าง?

A : ประเทศเรามีพรบ. คอมพิวเตอร์ มีกฎหมายหลายประเภทมากที่มุ่งควบคุมความเห็นที่แตกต่างในพื้นที่สื่อ อินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่าเวลาที่มีการออกกฎระเบียบในการใช้ข้อมูล โดยทั่วไปจะเป็นรัฐเองที่ออกกฎระเบียบในการควบคุม ถามว่ามี Disinformation ที่ฝั่งตรงข้ามออกมาเพื่อโจมตีรัฐจริงไหม ก็มีจริงๆ แต่อีกทางหนึ่งก็มี Disinformation ที่ถูกออกโดยรัฐเองด้วย แล้วถ้าย้อนไปถามว่ากฎหมายที่มีจะควบคุมอะไร ก็คงควบคุมเฉพาะ Disinformation ที่ออกมาจากฝั่งตรงข้ามเพียงอย่างเดียว

จริงๆ มีนักวิชาการอเมริกันเก็บข้อมูลเรื่องเทคโนโลยีการควบคุมสอดส่อง (Surveilance) เพราะเป็นสิ่งที่ตอนนี้จีนส่งออกเยอะมาก มหัศจรรย์และน่ากลัวในเวลาเดียวกัน คือเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ของระบอบอำนาจนิยม เป็นการเผยแพร่ระบอบผ่านเครื่องมือที่เอาไว้สอดส่องผู้เห็นต่าง แต่ผลสำรวจของประเทศไทย คือรัฐบาลไทยยังล้าหลังเรื่องนี้อยู่มาก ส่วนมากจะใช้แรงคนนี่แหละในการตรวจตราสอดส่อง แล้วก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหลักในการทำให้คนกลัว ก็ถือว่ารัฐบาลไทยยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาเพื่อสร้างระบบให้เราซึมลึกจนเกิดการเชื่อฟังรัฐในระดับที่เกิดขึ้นในจีน

 

Q : พอผลสำรวจออกมาเป็นแบบนี้ อาจทำให้คิดว่าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารยังคงเป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจเท่านั้นหรือเปล่า? ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสนามเทคโนโลยีข้อมูลนี้?

A: ก็จริงที่ตอนนี้มีแค่ไม่กี่ประเทศที่สามารถทำส่วนนี้ได้ เช่นจีนกับสหรัฐฯ ที่กลายเป็นคู่แข่งขันกันเรื่องการสร้างเทคโนโลยีที่จัดเก็บ ตีความ ประมวลผลข้อมูล และนำไปประยุกต์ใช้ต่อ สีจิ้น ผิง ประกาศว่าจีนจะเป็นมหาอำนาจด้านข้อมูลภายในปี 2030 จีนจึงต้องขยับตัวให้เร็ว เพราะสหรัฐฯเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมายาวนาน และพัฒนาจากฐานต้นทุนที่มี เพื่อที่จะขยับจากเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมไปเป็นเศรษฐกิจแบบข้อมูลข่าวสาร จีนเลยต้องเร่งกระบวนการด้วยการซื้อเทคโนโลยีจากที่อื่น แต่ก็ไปเหยียบเท้าสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯเป็นผู้ควบคุมของเหล่านี้อยู่ ฉะนั้นมาตการการแบนผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ต้องการกีดกันการค้า แต่เพื่อป้องกันไม่ให้จีนเข้ามาลงทุนในเทคโนโลยีในสหรัฐฯ หรือยุโรป

อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบอันนึงที่มีการพูดคุยในวงวิชาการคือ เอาเข้าจริงจีนไม่สามารถไปสู่เศรษฐกิจข้อมูลแบบสหรัฐได้ เพราะระบบการเมืองของจีนมันไม่เอื้อให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การศึกษาของจีนไม่เอื้อให้มีการตั้งคำถาม ให้มีการคิดนอกกรอบ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จีนทำคือการลอกเลียนแบบ แต่ถ้าวันหนึ่งจีนเทียบเท่าสหรัฐขึ้นมาได้จริงๆ ถามว่าใครจะไปต่อได้ มันต้องเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์

กลับมาที่เรื่องของสนามเทคโนโลยีข้อมูล การที่โลกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบข้อมูลข่าวสารมันส่งผลทั่วทั้งโลก ประเทศที่มีเศรษฐกิจภาคข้อมูลขนาดใหญ่ก็จะถึงคนเก่งๆ นอกประเทศเข้ามา ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าก็จะสูญเสียแรงงานทักษะเหล่านี้ไป ขณะเดียวกันก็สร้างความเหลื่อมล้ำภายในประเทศด้วย คนในประเทศที่ไม่มีทักษะมากพอ ก็ขยับสถานะจากชนชั้นกลาง ไปชนชั้นกลางล่างหรือชนชั้นล่าง ตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าคุณจบวิศวะฯ ข้อมูล อยากทำงานที่มีรายได้ดี มีโอกาสที่ดีเสนอเข้ามา จะยังอยู่เมืองไทยไหม? สิ่งนี้มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมันขยายใหญ่ขึ้น

 

Q : แล้วมีทางไหนที่เราจะป้องกันความเหลื่อมล้ำนี้ได้?

A : การป้องกันมันต้องเป็นภาพใหญ่ ดิฉันไม่เชื่อการเคลื่อนไหวเรื่องเป็นประเด็น เราจะไปสะดุดตอเหมือนอย่างนโยบาย 4.0 ที่มองข้ามข้อจำกัดเชิงโครงสร้างมากมาย โดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษา เราเรียนวิทยาศาสตร์แบบท่องจำ ไม่เคยตั้งคำถาม เรียนเลขแบบไร้แรงบันดาลใจ การเรียนและวัฒนธรรมของเราไม่ส่งเสริมให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ประเทศเราอยู่ในโลกที่ขัดแย้งตลอด คือทางหนึ่งเราอยากรวย อยากก้าวหน้า แต่อีกทางหนึ่งเราบอกว่า เราอย่าคิดเอง ไม่งั้นเราจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ซึ่งของพวกนี้มันยากที่จะไปด้วยกันได้

ดังนั้นการแก้ปัญหาคือเราเลยต้องมองภาพใหญ่ ในแง่ที่เศรษฐกิจแบบเทคโนโลยีจะต้องสามารถกระจายรายได้ให้คน ต้องช่วยให้คนเข้าถึงการศึกษาที่ราคาถูก และสนับสนุนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ อันนี้คือการแก้ปัญหาแบบภาพใหญ่

 

 

Q : ถ้าดูจากการเลือกตั้งของไทยครั้งที่ผ่านมาและสถานการณ์จนถึงตอนนี้ คิดว่าเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ยิ่งจะทำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองมากขึ้นหรือเปล่า?

A : ตามความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป โลกดิจิทัลมันเป็น Echo Chamber เนื่องจากระบบข้อมูลมันคอยจัดสรรสิ่งที่เราอยากฟัง สิ่งที่เราอยากรับรู้มาให้ เราก็ไปที่ที่เราสบายใจ และไม่ต้องรับรู้ข้อมูลอะไรที่มันสะเทือนหูเท่าไหร่ ดังนั้นเราจะไม่เข้าใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอะไร และทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ เราเห็นแต่ว่าสิ่งที่เขาคิดเห็นเป็นความชั่วร้าย เป็นเรื่องไม่ดี เรื่องแบบนี้เกิดกับทั้งสองฝ่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายที่คิดว่าตัวต้องการรักษาสถาบันที่ยิ่งใหญ่ของชาติ ทั้งสองฝ่ายเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูและต้องกำจัด สิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลจากการที่ข้อมูลข่าวสารถูกปิดกั้นและถูกเลือกได้มากขึ้น

แต่ถ้าถามว่าโลกดิจิทัลและข้อมูลข่าวสารทำให้สังคมเข้าใจกันได้มากขึ้นไหม? มันก็เป็นไปได้ มีตัวอย่างของคนที่อาศัยโลกออนไลน์ในการสร้าง Narrative ใหม่ มีการตีความความหมายของการต่อสู้เพื่อศาสนาใหม่หรือความยุติธรรม เพื่อให้มีความหลากหลายในเรื่องที่เราเสพได้มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่อยู่ในโลกไซเบอร์ก็ต้องตระหนักรู้ว่ามันเป็นพื้นที่สีเทา มีดีมีชั่ว เป็นทั้งเครื่องมือและพื้นที่ที่คนมาใช้ทำอะไรก็ได้ เป็นพื้นที่ของความสมานฉันท์และความขัดแย้ง เผด็จการและประชาธิปไตย ดังนั้นมันจึงน่าสนใจตรงที่มันเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ได้อยู่ตลอดเวลา

 

Q : สิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาว่าสำคัญในสังคมยุคปัจจุบันคือ Digital Literacy เราควรจะเริ่มปลูกฝังสิ่งนี้กันอย่างไร?

A : ดิฉันคิดว่าคนไทยเป็นคนเชื่อคนง่ายและถูกหลอกง่ายมาก จะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งก็ได้ ที่มันเป็นการปลูกฝังจากการถูกปกครองลักษณะเฉพาะมาตลอดหลายสิบปี คือถูกบอกให้ฟังผู้มีอำนาจ จนติดเป็นนิสัยที่คนสยบยอมต่อข้อมูลที่ได้รับ และรู้สึกว่าใครบอกอะไรมาฉันก็เชื่อ เพราะฉะนั้น Digital literacy ที่เราจะต้องปลูกฝังง่ายๆ คือการตั้งคำถามกับข้อมูลว่าจริงไหม ต้องตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ ในชีวิต แม้ว่าจะไม่สามารถตรวจสอบความจริงได้ทั้งหมด แต่อย่าเพิ่งเชื่อ คุณจะพูดอะไรมาก็ได้ แต่ฉันก็จะเช็ค แล้วจะเชื่อไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องนี้ทำให้เวลาที่รัฐหรือใครพยายามควบคุมบงการข้อมูล จะทำได้ยากขึ้น เพราะว่าข้อมูลมันกระจายและมาจากหลายทิศทางมาก การที่จะระดมความเห็นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวมากลบเกลื่อนข้อมูลที่หลากหลายมันก็จะยากขึ้น ประกอบกับการที่โตมากับสื่อที่หลากหลายเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ก็จะทำให้คนตรวจสอบความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งกับคนที่มีอำนาจมากที่สุด

 

Q : ในสภาพปัจจุบันที่ Technological Disruption เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราในทุกๆ ด้าน อาจารย์คิดว่าคนในยุคนี้ควรมีภูมิคุ้มกันต่อชีวิตทางสังคมและการเมืองในเรื่องนี้อย่างไร?

A : ขอเริ่มด้วยประเด็นการเมือง ดิฉันคิดว่า Disruption คือการเปลี่ยนแปลงที่เร็วในทางการเมือง ระบอบและโครงสร้างทางการเมืองที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วได้ ต้องมีความยืดหยุ่น และเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสไม่ใช่ความกลัว เราถึงจะอยู่กับ Technological Disruption ได้ ระบบการเมืองที่กลัวการเปลี่ยนแปลงมันจะชนกับผลกระทบของเทคโนโลยี และเวลามันชน มันก็จะเกิดความลักลั่น คือขาหนึ่งไปข้างหน้า อีกขาอยู่ข้างหลัง

ในทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจต้องมีความยืดหยุ่น ต้องเปลี่ยนให้สอดรับกับการผลิตที่เปลี่ยนไป เรายังเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตร ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ถ้าเราอยากจะให้คนลืมตาอ้าปากจริง เราต้องอย่าให้คนพึ่งพาภาคเกษตรแบบเก่า ต้องให้คนเข้าถึงการศึกษาที่ราคาถูก คือยังคงเป็นเกษตรกร แต่เรากำลังพูดถึงภาคการเกษตรที่ยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งบริษัทใหญ่ๆ ในการทำมาหากิน ไม่รอแต่ฝนฟ้าดินน้ำอากาศ และไม่ต้องพึ่งพารัฐเสมอไป แต่ต้องสนับสนุนให้คนคิดว่าเวลาที่คุณเจอความท้าทายที่มันเปลี่ยนไปมาก ทั้งในทางที่เลวและดี คุณจะอยู่และรับมือกับมันอย่างไร คุณจะเป็นเกษตรกรที่รับมือราคาข้าวที่ตกต่ำอย่างไร เรื่องพวกนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมีโอกาสหรือไม่

ในทางสังคม ประเด็นนี้ส่งผลทางจิตวิทยาหลายอย่าง ช่วงหลังเราเห็นนักศึกษาที่มีปัญหาทางจิตมากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาการเลี้ยงดูก็ใช่ แต่ดิฉันคิดว่าสังคมของเราอยู่ในโลกเสมือนจริง (Virtual World) มากเกินไป ดิฉันเห็นประโยชน์หลายอย่างจากโลกเสมือนจริง แต่ว่าตอนนี้คนจำนวนมากเข้าใจมิตรภาพจากการที่คุณมีเพื่อนใน Facebook กี่คน มีคนมากดไลก์ Instagram กี่คน เข้าใจความสัมพันธ์กับมนุษย์บนพื้นฐานที่ว่าคุณพรีเซ็นท์รูปร่างหน้าตาและการใช้ชีวิตอย่างไรในโซเชียลมีเดีย ทั้งหมดนี้มันทำให้เกิดวิกฤตความเหงาและไม่มีที่พึ่ง เวลาที่คุณเจอปัญหาในชีวิตคุณไม่รู้จะพึ่งใคร เพราะสุดท้ายแล้วคุณไม่สามารถพึ่งคนที่มากดไลก์รูปอาหารที่คุณถ่ายได้ ฉะนั้นมันต้องมีการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตในโลกเสมือนจริงกับความเป็นจริง ต้องมีวิธีเข้าใจปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคมแบบใหม่

 

 

ในหนังสือ The Scent of Time ที่เขียนโดยนักปรัชญาชาวเกาหลี Byun Chul Han มีคำถามว่า ในโลกสมัยใหม่ เวลาของเราถูกรบกวนด้วยอะไร? แน่นอนว่าคือเทคโนโลยีที่ทำให้โลกมันเร็วขึ้น แต่ผู้เขียนมองว่าจริงๆ แล้วความเร็วเป็นผลของการที่ชีวิตเราไม่มีอะไรดึงรั้งเอาไว้เลย ชีวิตมันล่องลอย ความหมายในชีวิตเรามันเป็นเรื่องผิวเผินมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องความรัก มิตรภาพ เป้าหมายในชีวิต ไปจนเรื่องความตาย ความสุขที่ผิวเผินมันทำให้ชีวิตเราไม่หนักพอที่จะเข้าใจความหมายของชีวิตว่าตัวเองอยู่ไปเพื่ออะไร ดังนั้นการฆ่าตัวตายหลายครั้งมันเกิดจากความล่องลอยนี้

Disruption จึงเป็นคำที่น่าสนใจเพราะว่าอะไรก็ตามที่มันถูกรบกวน ถูกเขย่ามากๆ มันจะขาด ความสัมพันธ์ของคนตอนนี้มันขาด แล้วนำมาสู่ปัญหาที่ไม่ได้เป็นเหตุและผลตรงไปตรงมา มันส่งผลอย่างซึมลึกกับสังคมมนุษย์ คำถามคือทำอย่างไรให้เราอยู่กับมันได้โดยที่ไม่ล่อยลอย มีแรงโน้มถ่วงของโลกที่ตรึงเราอยู่กับพื้นได้

 

Interview by Warute Udomrut &Thanisara Ruangdej