Article


Content by

Sitthikarn Theerawatanachai

หลากทัศนะเรื่องข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ประเทศไทย

“เครือข่ายองค์กรด้านข้อมูลฯ เพื่อขับเคลื่อนสังคมชี้ รัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ได้ดีขึ้นเเต่ยังไม่เป็นไปตามเป้า เลี่ยงให้ข้อมูลด้านการเมืองทั้งที่ควรเปิด โดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ นักกฎหมายย้ำ กฎหมายไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อปกปิดข้อมูลของรัฐ ด้านนักวิชาการติง โครงสร้างของรัฐไม่ออกเเบบให้เปิดเผยข้อมูล มองความลับเป็นมูลค่าเเต่ไม่ช่วยขับเคลื่อนชาติ เเนะหากอยากพัฒนาประเทศ เริ่มสร้างการมีส่วนร่วม เปิดข้อมูลให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ”

 

คำโปรยดังกล่าวคือการสรุปภาพรวมของงาน “เปิดข้อมูลรัฐสู่สาธารณะ เพื่อประชาธิปไตย” (Open Data for Democracy) ที่ถูกจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564 ได้อย่างครอบคลุม แต่เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น  ELECT จะพาทุกคนไปดูประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้ซึ่งถูกสะท้อนออกมาผ่านข้อความเห็นของวิทยากรผู้ร่วมการพูดคุยและแลกเปลี่ยนทัศนะในงานดังกล่าว

 

“การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะคือหน้าที่ซึ่งรัฐไทยทำได้ไม่ดีพอ”

 

ข้อมูลสาธารณะของรัฐ ถือเป็นเเหล่งข้อมูลสำคัญที่สามารถช่วยผลักดันให้เกิดการรับรู้ของประชาชนในวงกว้าง อันนำมาซึ่งการสร้างความโปร่งใสให้กับภาครัฐ เพราะเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลของรัฐได้เต็มประสิทธิภาพ ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐได้มากขึ้น และสร้างแรงกดดันให้รัฐต้องดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างโปร่งใส สอดคล้องกับความเห็นของวิทยากรหลายคน ดังนี้

 

“ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารเเละถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ในสังคม และการที่รัฐเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่สมบูรณ์และนำไปใช้ต่อง่ายที่สุด เพื่อให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบ และช่วยคิดช่วยทำต่อได้ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในระดับต่อ ๆ ไป คือขั้นแรกของสังคมประชาธิปไตย
– นางสาวธนิสรา เรืองเดช CEO และ Co-founder ของ Punch Up และ ELECT

 

 

 

“การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน เเละประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกเเบบประเทศ ผ่านการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การทำตามนโยบายของพรรคการเมือง การใช้งบประมาณของรัฐ”
– Mr. Lee Long Hui ผู้ช่วยบรรณาธิการ (Assistant Editor) จาก Malaysiakini ประเทศมาเลเซีย

 

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของประเทศไทยยังคงมีประเด็นปัญหาอยู่หลายประการ ซึ่งวิทยากรหลายท่านก็ได้แสดงทัศนะต่อประเด็นเหล่านี้เอาไว้เช่นกัน ทั้งในเรื่องข้อมูลของภาครัฐไทยที่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะอย่างไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ไม่ว่าจะในเชิงเนื้อหา รูปแบบ หรือระยะเวลา และโครงสร้างของภาครัฐไทยที่ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ตามความเห็นของวิทยากรหลายคน ดังนี้

 

“เว็บไซต์ภาครัฐบางแห่งอัปเดตข้อมูลช้าไปประมาณหนึ่งปี และภาครัฐไทยชอบ upload หนังสือหรือเอกสารราชการต่าง ๆ ลงเว็บไซต์ทั้งหมด โดยปราศจากการแบ่งส่วนให้สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย”
– นางสาวอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์

 

 

 

 

“ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยนำไปใช้ต่อได้ยาก แม้จะได้ไฟล์เอกสารที่เป็น PDF ก็ต้องแปลงไฟล์อีกหลายครั้งกว่าจะนำไปใช้งานต่อได้”
– ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

“จากประสบการณ์การทำงานใน ELECT พบว่าข้อมูลที่ได้ติดต่อขอทางภาครัฐไป บางอย่างใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้รับ และบางอย่างก็ไม่ได้รับการตอบกลับมา”
– นายรพี สุวีรานนท์ Co-Founder & Full-Stack Developer จาก ELECT เเละ Boonmee Lab

 

 

 

 

“โครงสร้างของระบบราชการไทยที่ไม่ออกเเบบให้รัฐเปิดเผยข้อมูล และมักโยนความรับผิดชอบไปที่ระดับปฏิบัติการ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่กล้าทำงานในเรื่องนี้ เพราะกลัวโดนลงโทษ”
– ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

“ภาครัฐไทยยังไม่มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูล (Data Governance Structure) ที่ชัดเจน และยังขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมา”
– นายอิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

 

“กฎหมายและมุมมอง คืออุปสรรคของการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ”

 

กฎหมายและมุมมองเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เนื่องจากสองปัจจัยนี้มักถูกผสานรวมกันเพื่อก่อให้เกิดการใช้อำนาจรัฐในการไม่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้เข้าถึงและรับรู้ ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิรับรู้ (Right to Know) ของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับประเด็นในทางกฎหมายนั้นมีหลายประการ ทั้งปัญหาในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ให้กับรัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และการใช้กฎหมายอื่น ๆ ของรัฐ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) เป็นเครื่องมืออ้างอิงในการไม่เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ตามความเห็นของวิทยากรหลายคน ดังนี้

 

“พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ออกแบบให้บังคับใช้ในเชิงรับ คือต้องรอเกิดกรณีที่ไปขอดูข้อมูลข่าวสารแล้วหน่วยงานรัฐไม่ยอมเปิดเผย และข้อความบางอย่างทำให้เกิดปัญหาในการตีความที่เอื้อต่อการปกปิดข้อมูล เช่น “อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 14 หรือ “จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” ตามมาตรา 15”
– นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

 

“หากรัฐอ้าง PDPA เพื่อไม่เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ในแง่เนื้อหาถือว่าผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะ PDPA มีเพื่อให้รัฐพิจารณาการคุ้มครองสิทธิของประชาชนกับการบริหารจัดการใช้ข้อมูลของรัฐ ไม่ใช่เป็นข้อยกเว้นอันนำไปสู่การปกปิดข้อมูล และในท้ายที่สุดหากจะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รัฐก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าเหตุใดจึงไม่เปิดเผย”
– ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

นอกจากประเด็นเรื่องกฎหมาย มุมมองต่อการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ซึ่งหลายครั้งรัฐมักให้น้ำหนักไปที่ความมั่นคงของรัฐมากกว่าการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลสาธารณะได้อย่างที่ควรจะเป็น ตามความเห็นของวิทยากรหลายคน ดังนี้

 

“ระบบราชการไทยมองความลับเป็นสิ่งที่มีมูลค่า และคนบางกลุ่มในสังคมมองความลับเป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐ ซึ่งไม่ควรถูกเปิดเผย”
– ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

“รัฐคือผู้ต้องทำงานเพื่อประชาชนเจ้าของประเทศ ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะจึงถือเป็นงานบริการของรัฐ และรัฐควรมีเจ้าหน้าที่เพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ”
– นายรพี สุวีรานนท์ Co-Founder & Full-Stack Developer จาก ELECT เเละ Boonmee Lab

 

 

 

 

 

“การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่ดีนำไปสู่อะไร ?”

 

หากรัฐสามารถทำให้การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลดีต่อจะส่งผลดีต่อประชาชน และภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงภาครัฐเองด้วย ตามความเห็นของวิทยากรหลายคน ดังนี้

 

“การเปิดเผยข้อมูลนั้น นอกจากจะเป็นการตรวจสอบรัฐบาลและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นสื่อว่า ต้องนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และการเปิดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเเก้ปัญหาต่าง ๆ ได้”
– นางสาวอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์

 

 

 

“การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงการวางระบบและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อมูลที่ถูกเปิดเผย จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศได้ เพราะประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้จริง”
– นายอิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

“การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะตามหลักการที่ควรจะเป็น สามารถทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนได้”
– นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

 

 

 

 

 

“หลากหลายข้อเสนอแนะเพื่อการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่ดี”

 

วิทยากรผู้ร่วมการพูดคุยและแลกเปลี่ยนทัศนะทุกคนเห็นร่วมกันว่า “การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของภาครัฐถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหลายเรื่องภาครัฐไทยยังทำได้ไม่ดีพอและต้องพัฒนาให้ดีขึ้น”  โดยแต่ละคนก็มีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

 

“การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่ดี ควรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ 3 ประการ ได้แก่ ข้อมูลต้อง Timely (ทันสมัยและทันต่อเวลา) ข้อมูลต้อง Accessible (เข้าถึงและอยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้ต่อได้ง่าย) และการเปิดเผยต้องคิดเรื่อง Data Aggregation (อยู่ในระดับที่สามารถนำข้อมูลนำไปวิเคราะห์ต่อได้)”
– นางสาวอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์

 

 

 

“รัฐต้องเริ่มออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลให้ชัดเจน และควรเปิดเผยข้อมูลสาธารณะออกมาทั้งหมด โดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ รวมถึงต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยออกมา โดยทำ Platform รับฟังความคิดเห็น เเละเมื่อประชาชนเเสดงความคิดเห็นไปเเล้ว ต้องสามารถทำให้ประชาชนติดตามได้ว่า รัฐได้ทำการรับฟังและเเก้ไขตามความคิดเห็นเรื่องนั้น ๆ อย่างไร”
– นายอิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

“รัฐต้องทำตามหลักการว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่ว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ควบคู่ไปกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวตามหลักการของ PDPA โดยอาศัยวิธีการต่าง ๆ เช่น ชั่งน้ำหนักประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล อาจแจ้งกลับไปหาเจ้าของข้อมูล เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล หรือใช้วิธีการ Anonymization เพื่อทำให้ข้อมูลส่วนตัวกลายข้อมูลเป็นนิรนาม”
– ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ควรพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 ด้าน คือประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้หรือไม่ ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้หรือไม่ เเละข้อมูลมีการเเชร์หรือบูรณาการร่วมกับข้อมูลส่วนอื่น ๆ ในประเด็นเดียวกันได้หรือไม่ ซึ่งการตกลงสร้างความเข้าใจต่อสังคมในเรื่องมุมมองต่อความมั่นคง และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลด Pain point ของรัฐ เพื่อช่วยให้ระบบเเละโครงสร้างดีขึ้น สามารถช่วยพัฒนาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลได้”
– ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“รัฐควรตั้งเป้าหมายเรื่องการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะให้ไกลกว่าเดิม เเละครอบคลุมทุกด้านมากขึ้น การเปิดเผยข้อมูลควรเกิดขึ้นในหลากหลาย Platform และ Content เนื่องจากยังมีข้อมูลอีกหลายมิติ (นอกจากด้านการเมือง) ที่คนทำข้อมูลอยากทราบ เช่น คำตัดสินของศาล ความถี่ของการเกิดอาชญากรรม หรือรายงานการประชุมของสภาที่สามารถนำไปใช้ต่อได้”
– นายรพี สุวีรานนท์ Co-Founder & Full-Stack Developer จาก ELECT เเละ Boonmee Lab

 

 

“ควรมีการแก้ไขบทบัญญัติของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ (เช่น ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14 คือเรื่องการถวายความปลอดภัย ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 คือเรื่องยุทธวิธีการรบ) รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้การตีความอย่างเกินขอบเขตโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และความต้องการของประชาชนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น”
– นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

 

 

สรุปและเรียบเรียง: สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย

 

ที่มา: ความเห็นของวิทยากรทุกคนจากงาน “เปิดข้อมูลรัฐสู่สาธารณะ เพื่อประชาธิปไตย” (Open Data for Democracy) เนื่องในวันข้อมูลเปิดสาธารณะ (International Open Data Day) ซึ่งจัดขึ้นที่ Punch up office เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14:00 – 17.30 น.