Article


Content by

Goongging Thanisara

รับมือข่าวปลอมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตแบบเมียนมา? คุยกับ สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล จาก Phandeeyar

วิกฤติโรฮิงญาที่เกิดขึ้นภายในเมียนมา ไม่ได้มีแค่ฉากความขัดแย้งระหว่างกองทัพรัฐบาลเมียนมากับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม หากแต่ความรุนแรงมากมายที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ยังเกิดจากประชาชนด้วยกันเอง และเต็มไปด้วยความเกลียดชังระหว่างกัน

 

หนึ่งในนั้นคือปัญหาข่าวปลอม (Fake news) และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังได้แพร่กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากสื่อและบุคคลทั่วไป ที่ผลิตข้อความและคำชวนเชื่อต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้คนที่ต่างศาสนาและความเชื่อกลายเป็นศัตรูของกันและกันนั้น คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความขัดแย้งในเมียนมารุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลายปีที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมาพยายามคิดค้นหาวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อระงับไม่ให้ความเกลียดชังมันแพร่กระจายไปเกินกว่าที่ทำร้ายสังคมอยู่ในปัจจุบัน

สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล คือ Senior Tech for Change Manager ชาวไทยที่ทำงานกับ ‘Phandeeyar’ องค์กรที่สร้างพื้นที่ให้กับงานด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเมียนมา หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่เธอมีส่วนร่วม คือการจับมือกับองค์กรอื่นๆ ภาคประชาสังคม เพื่อหันมาแก้ปัญหาข่าวปลอมและเฮทสปีชในประเทศนี้กันอย่างจริงจัง

หลังจากมีประสบการณ์ที่ทั้งลงสนามจริง และสำรวจข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ เธอค้นพบถึงความน่ากลัวที่เกิดขึ้นเมื่อโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นเครื่องมือบ่มเพาะความเกลียดชัง และบทเรียนที่ผ่านมาหลายกรณี อาจเป็นคำเตือนและช่วยให้สังคมไทยต้องรีบหาทางป้องกัน ก่อนที่สถานการณ์อาจรุนแรงจนเกินควบคุมได้

 

คนเมียนมาเสพข่าวสารในออนไลน์เยอะแค่ไหน

มันเหมือนเขื่อนแตก สังคมเมียนมาเมื่อ 40 ปีที่แล้วถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารและถูกควบคุมด้านข้อมูลข่าวสาร จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่อินเทอร์เน็ตก้าวเข้ามาอิทธิพลอย่างมาก รัฐบาลเองก็เพิ่งเปิดเสรีให้เอกชนมาลงทุน เมื่อสังคมมันถูกปิดมานาน พอสังคมเปิดออกมา คนก็อยากเสพข่าว อยากเข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสาร

 

บริบทช่วงเลือกตั้งครั้งแรกหลังถูกปกครองโดยทหาร มันเกี่ยวข้องด้วยรึเปล่า

เกี่ยว เพราะคนเมียนมาไม่ได้เลือกตั้งมาหลายสิบปี พอมาถึงการเลือกตั้งรอบหลังสุดมานี้ ประชาชนก็เลยอยากรู้ว่าใครเป็นผู้สมัครหรือมีนโยบายอะไรบ้าง

 

ทำไมเฟซบุ๊กจึงได้รับความนิยมมากขนาดนี้

ถ้ายกตัวอย่างเมืองไทยเราก่อนที่จะมีเฟซบุ๊ก เราก็รู้จักโซเชียลมีเดียเช่นไฮไฟว์หรือเอ็มเอสเอ็น คนไทยก็เคยใช้เครื่องมือแบบนี้มาก่อน แต่คนที่เมียนมาไม่เคยได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียมามากแบบไทย ดังนั้นเมื่อกระแสอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาถึงพวกเขาพร้อมๆ กับเฟซบุ๊ก คนเมียนมาเลยถาโถมเข้าไปใช้งานเฟซบุ๊กมากเป็นตัวหลัก

เฟซบุ๊กเขาก็มีทุกอย่างในแพลตฟอร์มอันเดียวกัน ทั้งอ่านข่าว แชท หรือกระทั่งหาแฟน และซื้อของ มันเลยทำให้คนที่เคยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกถึงใช้เฟซบุ๊กได้ง่าย เขาก็เลยใช้แต่เฟซบุ๊กเป็นหลัก เรียกได้ว่าเฟซบุ๊กเท่ากับอินเทอร์เน็ตในเมียนมาเลยนะ

คือถ้าเราไปถามชาวบ้านที่เมียนมาว่า คุณใช้อินเทอร์เน็ตรึเปล่า เขาก็อาจจะตอบว่าไม่ใช่ แต่เขาใช้เฟซบุ๊ก เพราะเฟซบุ๊กสำหรับเขาคืออินเทอร์เน็ต

ที่น่าสนในคือคนจำนวนมากคิดว่า สิ่งที่เขาเห็นในเฟซบุ๊กมันคือความจริง สมมติว่าชาวบ้านที่ไม่เคยใช้สื่ออินเทอร์เน็ตมาก่อน เขาอาจจะเคยชินกับหนังสือพิมพ์ที่มันคือการนำเสนอความจริง พอเขาย้ายมาอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตก็เลยเชื่อว่าทุกสิ่งที่เขาเห็นในเฟซบุ๊กมันคือความจริงไปด้วย มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อในข่าวปลอม (fake news)

 

อาจจะเป็นเพราะว่าเฟซบุ๊กมันเข้ามาแล้ว แต่การรู้เท่าทันสื่อกับการรู้เท่าทันโลกดิจิทัลมันยังตามมาไม่ทันรึเปล่า

มันโตไม่พร้อมกัน สังคมมีเทคโนโลยีแล้วนะ แต่คนยังตามความเข้าใจต่อเทคโนโลยีไม่ทันขนาดนั้น เช่นเดียวกับการยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่าจะต้องใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้ปลอดภัย หรือยังไม่ได้คิดว่า ไม่ใช่ทุกอย่างในอินเทอร์เน็ตมันจะเชื่อถือได้ หรือจะป้องกันตัวเองผ่านการตั้งพาสเวิร์ดอย่างไรบ้าง

เวลาเราไปซื้อโทรศัพท์ที่เมียนมา คนขายโทรศัพท์ก็จะติดตั้งและสมัครเฟซบุ๊กให้ แล้วเขาก็จะมีกระดาษไว้แผ่นหนึ่งว่า พาสเวิร์ดของผู้ชื้อคืออะไร เพื่อที่วันไหนเขาทำพาสเวิร์ดหายหรือลืม เขาก็จะสามารถมาถามกับคนขายได้อีกครั้งหนึ่ง นี่คือตัวอย่างเลยว่า เขายังไม่เข้าใจว่า พาสเวิร์ดของเรานั้นไม่ควรเปิดเผยให้ใครรู้

 

Photo Credit : The Myanmar Times

 

อยากให้ยกตัวอย่างเคสกลายเป็นคดี หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นผ่านโซเชียลมีเดียในเมียนมาให้ฟังหน่อย

เริ่มจากเรื่องที่เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ซึ่งทำกันผ่านเฟซบุ๊ก คือใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือหลอกลวงกัน คนร้ายจะใช้เฟซบุ๊กเพื่อไปขอเงินเหยื่อมาแล้วแต่ก็หายตัวไป นอกจากนั้นก็มีกรณีล่วงละเมิดทางเพศผ่านเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า มันยังรวมไปถึงการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อความรุนแรงและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาและกลุ่มโรฮิงญา

 

ในฐานะคนที่เกาะติดเรื่องนี้มา คิดว่าเรื่องข่าวปลอมและเฮทสปีชในเมียนมามันรุนแรงมากแค่ไหน

รุนแรงมาก รุนแรงในระดับที่เฮทสปีชในเฟซบุ๊กมาเปลี่ยนไปเป็นการกระทำความรุนแรงต่อกัน มันไม่ใช่แค่คุยกันผ่านออนไลน์ มันนำไปสู่การเกลียดชังและความรุนแรงจริงๆ ส่วนตัวคิดว่ามันเกิดจากการสาดโคลนกันและกัน

ยกตัวอย่างการเผยแพร่ข้อมูลว่า ชาวมุสลิมในเมียนมาไม่ใช่คนเมียนมา แต่เป็นคนที่มาจากประเทศอื่น และจะเข้ามาครอบงำประเทศให้เมียนมากลายเป็นประเทศมุสลิม แล้วก็เกิดการส่งข่าวต่อๆ กันว่าชาวพุทธในเมียนมาต้องรวมตัวกัน เพื่อที่จะขับไล่ชาวมุสลิมออกไป ขณะเดียวกันชาวมุสลิมก็ได้ข่าวสารว่า ชาวพุทธกำลังจะมาฆ่าพวกเรา พรุ่งนี้พวกเขาจะถืออาวุธมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เรา ซึ่งมันก็คือข่าวที่ไม่จริงที่เกิดขึ้นในทั้งสองฝ่าย หลายคนก็เชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊กคือเรื่องจริง มันเลยเกิดการสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน

เคยเกิดคดีฆ่าข่มขืนที่มัณฑะเลย์ มีหญิงชาวพุทธคนหนึ่งถูกข่มขืนโดยชาวมุสลิม หลังเกิดเหตุขึ้น ชาวพุทธก็ส่งข้อความต่อๆ กันเป็นหมื่นกว่าครั้งในเฟซบุ๊กบอกว่า ให้ระวังดีๆ นะเพราะเดี๋ยวจะมีชาวมุสลิมมาข่มขืนผู้หญิงในเมียนมา ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นแค่เหตุการณ์เดียว แต่เขาใช้เหตุการณ์นี้สร้างข่าวให้เป็นกระแสว่า ใครมีลูกสาวต้องระวังตัวเอาไว้ เพราะอาจจะถูกชาวมุสลิมข่มขืน

 

แล้วในทางการเมือง มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอมหรือเฮทสปีชอย่างไรบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นการสาดโคลนระหว่างกัน เช่น การแต่งกายของนักการเมืองที่เป็นผู้หญิง ดิสเครดิตกัน โพสต์ภาพจริงไปตัดต่อเพื่อใส่ร้ายป้ายสีกัน สิ่งหนึ่งที่เราพอจะช่วยได้คือ พยายามให้เครื่องมือกับประชาชนว่า เวลาเห็นภาพทำนองนี้ คุณก็จะมีเว็บไซต์บางแห่งที่ช่วยได้ หรือเอารูปไปค้นหากูเกิลก็ได้ว่ารูปนี้มันคืออะไร และจริงแค่ไหน มีแคมเปญที่องค์กรภาคประชาสังคมเมียนมาทำ ชื่อว่า Think Before You Trust หรือคิดก่อนที่คุณจะเชื่อ ที่ช่วยแจกเว็บไซต์ที่ช่วยประชาชนตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

 

ใครหรือคนกลุ่มไหนสร้างข่าวปลอมและเฮทสปีชขึ้นมาในเมียนมา

ก็มีทั้งคนที่ทำโดยส่วนตัว รวมถึงกลุ่มอื่นๆ หนึ่งในกลุ่มที่ค่อนข้างชัดเจนคือกลุ่มคนที่มีจุดยืนสุดโต่งทางด้านศาสนา อาจจะเป็นคนที่เชื่อในศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากๆ ในบางกรณี กลุ่มที่เผยแพร่เฮทสปีชในเมียนมากลับเป็นพระที่มีได้รับความนิยมมากๆ ด้วยซ้ำไป

 

เมื่อเกิดปัญหาเรื่องข่าวปลอมขึ้นแล้ว ทางภาครัฐเมียนมาเข้ามาจัดการอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เป็นบทเรียนจากเมียนมาให้กับไทยได้ก็คือ เมื่อเกิดปัญหาเรื่องข่าวปลอมขึ้นแล้ว เขาไม่รอให้รัฐบาลเข้ามาจัดการ ภาคสังคมตระหนักถึงปัญหานี้แล้วก็มาร่วมมือกันแก้ไข โดยไม่ต้องให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

สิ่งที่บางองค์กรลงมือทำไปแล้ว คือหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์กรซึ่งเราทำงานอยู่ ได้ร่วมกันเขียนจดหมายไปถึงซีอีโอ เฟซบุ๊ก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ถึงเรื่องที่มัณฑะเลย์ซึ่งนำไปสู่ความเกลียดชังชาวโรฮิงญาและความขัดแย้งทางศาสนาในเวลาต่อมา

ใจความในจดหมายระบุว่าเฟซบุ๊กต้องทำอะไรสักอย่างแล้วนะ เพราะเฟซบุ๊กเข้ามาหารายได้จากเมียนมาอย่างเดียวไม่ได้ เหมือนกับว่าคุณให้เราเช่าพื้นที่ในบ้าน แล้วคุณก็ได้ผลกำไรจากมัน แต่พอมีปัญหาคุณจะมาบอกว่าฉันจะไม่รับผิดชอบไม่ได้

นอกจากนั้นยังให้คำแนะนำกับเฟซบุ๊กไปหลายอย่าง เช่น คุณต้องมีมาตรการเอาข่าวปลอมที่เป็นปัญหาออกไปจากเฟซบุ๊ก และอีกเรื่องก็คือ ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กมีคนทำงานเรื่อง fact checking ในเมียนมาน้อยมาก ข้อเสนอที่ส่งไปก็คือเฟซบุ๊กต้องเพิ่มคนให้มาดูแลงานด้านนี้ให้มากขึ้น และก็ต้องเป็นคนที่อ่านภาษาเมียนมาออกด้วย เพราะเราเข้าใจว่าเมื่อคนมีจำนวนน้อย ก็คงไม่สามารถเข้ามาดูแลเรื่องข่าวปลอมได้อย่างเต็มที่

หลังจากเราเขียนจดหมายไป มันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเฟซบุ๊กในเรื่องจัดการข่าวปลอมในเมียนมามากขึ้น เช่นการเพิ่มเจ้าหน้าที่ในเมียนมา รวมถึงส่งคนมาคุยกับคนที่ทำงานด้านภาคประชาสังคมในเมียนมาว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง และมีอะไรที่เฟซบุ๊กสามารถช่วยเหลือได้ นอกจากนั้นเฟซบุ๊กยังสัญญาว่าจะลบข่าวปลอมออกภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้มันอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่เราพอใจ แต่ก็เห็นว่าเฟซบุ๊กได้ทำอะไรบางอย่างลงไปบ้างแล้ว

เราคิดว่าถ้ารอให้รัฐบาลมาเป็นเจ้าภาพ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นหรอก มันอาจจะเริ่มต้นที่สื่อของพวกเราเองก็ได้ ว่าเรามีเครื่องมือให้ประชาชนอย่างไรในการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเองได้ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่สื่อสามารถทำได้ รวมถึงสื่อในไทยเองก็เช่นกัน ยิ่งรัฐมาทำเองมันก็ยิ่งจะอันตรายเข้าไปใหญ่

 

เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการที่ภาคประชาสังคมมาทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ได้ไหม

หลายองค์กรเห็นพ้องกันว่า เราเห็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการใชโซเชียลมีเดีย เห็นจุดแตกหักและผลลัพธ์ว่ามันนำไปสู่การฆ่าล้างและเกลียดชังกัน เรื่องนี้ก็เป็นบทเรียนให้ไทยได้เหมือนกันว่า จริงๆ แล้วเราควรจะเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้สถานการณ์มันเดินไปถึงจุดนั้นแบบเมียนมาได้

เราคิดว่ามันเป็นคลื่นใหญ่ที่เข้ามาในประเทศ หรือเป็นเขื่อนที่แตกโดยไม่ทันตั้งตัว เราเลยคิดว่าต้องมีอะไรสักอย่างมาตั้งรับกับสิ่งเหล่านี้ เราคิดว่าต้องทำอะไรกันสักอย่าง ยิ่งปล่อยไปก็ยิ่งอันตราย

โซเชียลมีเดียมันสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือหรืออาวุธที่รุนแรงมาทำร้ายกัน ซึ่งต้องมีอะไรบางอย่างมากำกับ เราไม่ควรปล่อยให้คนใช้โซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ว่ามันอันตรายยังไง

นอกจากเราเขียนจดหมายไปยังเฟซบุ๊กแล้ว เรายังทำงานในด้านให้ความรู้กับประชาชนว่า พวกเขาควรใช้เฟซบุ๊กอย่างไร และเฟซบุ๊กมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

 

Photo Credit : Phandeeyar

 

กระบวนการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร ยากหรือง่ายแค่ไหนบ้าง

จากศูนย์เป็นหนึ่งยากที่สุด แต่เมื่อนับหนึ่งได้มันก็ไม่ยากแล้ว มันอาจจะเริ่มได้จากการที่หลายๆ องค์กรร่วมมือกันว่าจะให้ความรู้กับประชาอย่างไร จะช่วยให้คนเสพข่าวที่มีคุณภาพอย่างไร

ความยากอย่างหนึ่งคือ สื่อบางสื่ออาจจะไม่สนใจมาทำเรื่องแบบนี้นะ เพราะเขาอาจจะได้ประโยชน์จากการสร้างข่าวปลอม หรือเฮทสปีช ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันได้ยอดรีชเยอะกว่าข่าวจริงด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเขาเลิกทำ เขาก็คงกลัวว่าตัวเองจะเสียผลประโยชน์ไป

 

เมื่อโจทย์และความท้าทายเป็นอย่างนี้ สิ่งที่องค์กรต่างๆ ในเมียนมาทำเพื่อแก้ไขปัญหามีอะไรบ้าง

เราทำโครงการที่เน้นให้ความรู้กับเยาวชน เรามีงานที่ให้เยาวชนจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมกิจกรรมกันเพื่อรับความรู้ไป หลังจากนั้นเยาวชนกลุ่มนี้ก็จะกลับไปหมู่บ้านของตัวเอง เพื่อนำความรู้ไปบอกต่อกับคนกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

อันดับแรกที่เราทำคือเทรนนิ่ง และการที่เราจะส่งคนไปตามหมู่บ้าน มันไม่ทั่วถึงหรอก คือเรารู้ว่าคนชอบใช้เฟซบุ๊ก เราก็ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางให้ความรู้ประชาชนกลับไปว่าการใช้โซเชียมีเดียมันมีข้อดีข้อเสียยังไง

นอกจากให้ความรู้เรื่องประโยชน์และโทษแล้ว เรายังสร้างแคมเปญขึ้นมาที่เป็นโปรแกรมชื่อว่า เทคโนโลยีสำหรับสันติภาพ เราเชื่อว่าผู้ร้ายใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางปล่อยเฮทสปีช ซึ่งเราก็รู้ว่าไม่มีทางหรอกที่เขาจะหยุด ด้วยการไปบอกว่าคุณต้องหยุดสร้างข่าวปลอมนะ เราเลยสร้างข่าวที่มันสร้างสรรค์เป็นคลื่นที่โตกลับไป

ถ้าเราหวังแต่รอเฟซบุ๊ก มันก็คงเกิดอะไรขึ้นยาก เฟซบุ๊กเองก็คงไม่ได้ตื่นตัวที่จะออกไปหาข่าวปลอมและจัดการขนาดนั้น คือรอคนแจ้งมาแล้วค่อยจัดการเป็นหลัก

ต่างจากภาคประชาสังคมที่เราต้องตื่นตัวกันเป็นพิเศษ เพราะเรารู้ว่าเว็บไซต์ไหนทำข่าวปลอมบ้าง สิ่งที่เราทำก็คือจับมือกับหน่วยงานและองค์กรภาคประชาชนต่างๆ เพื่อร่วมมือกันจัดการกับปัญหา พอเรามอนิเตอร์แล้วเจอข่าวปลอม เราก็จะแจ้งไปยังเฟซบุ๊กต่อไป เมื่อเราทำงานด้านนี้กันอย่างแข็งขัน เฟซบุ๊กเองก็จะเชื่อใจว่า กลุ่มองค์กรเหล่านี้คือพาร์ทเนอร์ที่ไว้ใจได้ และเฟซบุ๊กเองก็จะมีมาตรการจัดการได้อย่างรวดเร็ว

 

 

 

อยากให้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องข่าวที่สร้างสรรค์ให้ฟังหน่อย

เราทำงานกับกลุ่มองค์กรข่าวในเมียนมา ที่อยากจะสื่อข่าวที่สร้างสรรค์ เพราะก่อนหน้านี้ข่าวในโซเชียลมีเดียจะมีข่าวเรื่องต่อต้านโรฮิงญา หรือข่าวที่สร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนาค่อนข้างเยอะ สิ่งที่เราทำคือโยนข่าวที่สร้างสรรค์กลับไป

เราติดต่อสำนักข่าวแล้วชวนให้เขาช่วยนำเสนอเรื่องราวเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมที่อยู่บ้านติดกันแล้วก็ช่วยเหลือกัน หรือเรื่องความรักระหว่างคนที่ศาสนาต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วมันมีเรื่องราวเหล่านี้เยอะมากในท้องถนนของเมียนมา ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างที่อยู่ด้วยกันได้ เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับการนำเสนอกลับไป

 

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เห็นได้ชัดๆ คืออะไรบ้าง

มันต้องใช้เวลาในการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ว่าข้อมูลที่เราส่งไปยังสังคมมันส่งผลกระทบอะไรบ้าง แต่หนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาเรื่องที่คนเมียนมาเสพข่าวสำนักข่าวใด หนึ่งฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่างเดียวก็ลดน้อยลงบ้าง เดิมทีคนเมียนมาอ่านข่าวที่วนอยู่ในวงกลมของความขัดแย้ง แต่เมื่อเขาเข้ามาดูข่าวในวงกลมอื่นๆ เขาก็จะได้รับเรื่องราวที่ต่างมุมมองมากขึ้น เฟซบุ๊กเองก็จะฟีดข่าวให้หลากหลายมากขึ้น

 

ฟังแล้วคล้ายๆ เมืองไทยเมื่อเราเลือกข้างแล้ว เราก็จะเสพข่าวแต่ฝั่งนั้นเพียงอย่างเดียว

สิ่งหนึ่งที่เราบอกกับชุมชนเวลาลงไปพื้นที่ คือชวนลองให้เขาลองออกจากวงกลมที่เคยชินบ้าง คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเชื่อในสิ่งที่เขานำเสนอ แต่มันก็จะช่วยให้คุณเห็นอะไรอย่างอื่นบ้าง สุดท้ายแล้วเราคิดว่างานนี้ต้องทำกันเป็นระบบ มีทั้งคนที่มอนิเตอร์ข่าวปลอมและกลุ่มที่ลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชน

สิ่งหนึ่งที่เราในฐานะประชาชนทำได้ คือคิดก่อนที่จะเชื่อข่าวที่เราเห็น และพยายามออกไปจากวงกลมข่าวสารของตัวเอง ลองเสพสื่อมุมอื่นบ้าง แต่ก่อนอาจจะเชื่อทุกอย่างจากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง อาจจะต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊กด้วยว่า พอเราชอบข่าวแบบไหน เฟซบุ๊กก็จะฟีดให้เราเห็นแต่ข่าวทำนองนี้ มันเลยทำให้เรายากที่จะออกมาจากวงกลมของข่าวสารที่เราคุ้นเคย

 

แต่ฟังดูแล้วมันก็ยากเหมือนกัน

โซเชียลมีเดียมันคืออาวุธที่มองไม่เห็น ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำให้คนรู้ว่า อาวุธเหล่านี้มันมีโทษอย่างไรบ้าง ปัญหาตอนนี้คือคนไม่รู้ว่ามันเป็นอาวุธ และมีความอันตรายหลายอย่างที่เรายังไม่ได้ตระหนัก

 

จากประสบการณ์ทำงานที่เมียนมามาก่อน คิดว่าไทยควรจะเริ่มแก้ปัญหาข่าวปลอมยังไงบ้าง อะไรที่ควรจะต้องทำ

หรือหลายๆ คนอาจคิดว่ามันก็เป็นปัญหาแหละ แต่มันเป็นปัญหาที่อีกฝ่ายต้องเป็นคนแก้ ไม่ใช่ตัวเราเองที่ต้องแก้ โยนความรับผิดชอบกันไปมา

สิ่งที่ไทยควรจะมีคือองค์กรกลางที่ภาคประชาสังคม มาทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆ ภาคส่วน องค์กรนี้ก็จะสามารถสร้างแรงดันให้กับเฟซบุ๊กได้ เพราะปัญหานี้ถ้าเฟซบุ๊กไม่ทำอะไรเลย มันก็เกิดผลที่เราต้องการไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราจะรอให้เฟซบุ๊กมาทำอะไรเองก็ไม่ได้เหมือนกัน

ประชาชนทั่วไปก็ต้องตื่นตัว ตอนนี้โซเชียลมีเดียมันถูกใช้เป็นอาวุธในมือเรา แต่หลายคนยังไม่รู้ว่ามันเป็นอาวุธ ไม่คิดว่าเฮทสปีชที่เราส่งไปหาคนอื่น มันมีผลกระทบด้านอะไรได้บ้าง

อย่ามัวแต่รอให้รัฐเข้ามาแก้ไข มันน่ากลัวด้วยซ้ำ ถ้าเราให้การแก้ไขไปอยู่ในมือของรัฐ เพราะมันจะมีเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพของการแสดงออก กับเฮทสปีช คนที่จะมาตัดสินสิ่งนี้ไม่ควรจะเป็นรัฐบาล

Interviewed by Thanyawat Ipoodom