บทที่ : 1
ข้อควรรู้ก่อนเข้าคูหา

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปเลือกตั้ง

ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สะดวกไปเลือกตั้ง

เตรียมตัวให้พร้อม
ก่อนไปเลือกตั้ง

เช็คคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562ผู้มีสิทธิต้องเกิดวันที่ 24 มีนาคม 2544 หรือก่อนหน้านั้น

ต้องมีสัญชาติไทยผู้ที่โอนสัญชาติมาเป็นคนไทย ต้องได้รับสัญชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี

ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า90 วัน

ต้องไปลงคะแนนตามที่อยู่
ในทะเบียนบ้าน

ผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องไปใช้สิทธิตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน เว้นแต่ คนที่เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านไม่ถึง 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ต้องไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านเดิมที่อยู่มานานกว่า 90 วัน

หากเพิ่งย้ายทะเบียนบ้าน และต้องการใช้สิทธิในหน่วยออกเสียงตามที่อยู่ใหม่ ต้องไปลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตโดยต้องเลือกผู้สมัครของเขตเลือกตั้งตามที่อยู่เดิม

วันหย่อนบัตรพกบัตรประชาชนไปใบเดียว

หลักฐานแสดงตัวสำหรับการออกเสียงเลือกตั้ง ขอแค่บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวก็พอ ถ้าบัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุแล้ว ก็ยังใช้ได้นะ

ถ้าไม่มีบัตรประชาชน หาบัตรหรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้ ซึ่งมีรูปและหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เช่น ใบขับขี่ บัตรข้าราชการ หรือพาสปอร์ต ใช้แทนได้หมด

ขยายเวลาเปิดคูหาให้ถึงเย็น

จากเดิม
8.00 – 15.00 น.
เป็น
8.00 – 17.00 น.
ให้เวลาเพิ่มมากขึ้นอีกสองชั่วโมง!

กรณีหน่วยออกเสียงมีคนเยอะช่วงใกล้เวลาปิดหีบ ผู้ที่แสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ ก่อนเวลา 17.00 สามารถดำเนินการออกเสียงต่อไปได้แม้พ้นเวลา 17.00 น. แต่ผู้ที่มาแสดงตัวหลังเวลา 17.00 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้

คนต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

ภิกษุ สามเณรนักพรตหรือนักบวช
คนที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
คนที่ถูกคุมขังตามคำสั่งศาล
คนวิกลจริต

ตรวจสอบรายชื่อตัวเองและหน่วยเลือกตั้งของตัวเองให้ดี

กกต. จะจัดส่งเอกสารแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิไปยังเจ้าบ้านตามทะเบียบบ้าน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถตรวจสอบชื่อ และหน่วยออกเสียงที่ตัวเองต้องไปลงคะแนนได้จากหนังสือที่ส่งไปยังเจ้าบ้าน ซึ่งจะส่งไปถึงไม่เกิน 20 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง

หรือสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ในเว็บไซต์ www.khonthai.com ซึ่งจะมีการทำระบบขึ้นรองรับต่อไป

ดูให้ดี ชื่อใครหาย ชื่อใครเกิน

หากพบว่า รายชื่อตัวเองตกหล่นจากบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ หรือเจ้าบ้านสามารถนำสำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ไปแจ้งได้ที่หน่วยทะเบียนราษฎร(หน่วยออกบัตรประชาชน)ในกรณีกรุงเทพมหานครสามารถไปแจ้งได้ที่สำนักงานเขต กรณีต่างจังหวัดสามารถแจ้งได้ที่ที่ว่าการอำเภอ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หรือภายในวันที่ 14 มีนาคม 2562

กรณีพบว่า มีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่คนนั้นไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันด้วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านยื่นคำร้องขอถอดถอนรายชื่อที่เกินมานั้น ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยนำทะเบียนบ้านไปเป็นหลักฐานด้วย

เขตที่ 1
เขตที่ 2
พรรค A
พรรค B

ดูให้ดี เบอร์ผู้สมัครของพรรคเดียวกันแตกต่างกันไปตามเขต

ตามกติกาการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดียวกันที่ลงสมัครแต่ละเขตจะได้หมายเลขไม่ซ้ำกันขึ้นอยู่กับลำดับการมาสมัคร แต่ถ้ามาสมัครพร้อมกันก็จะต้องจับฉลากกติกานี้อาจสร้างความสับสนให้ประชาชนที่ไปลงคะแนนอย่างมาก ถ้าไปเห็นสื่อประชาสัมพันธ์การหาเสียงของเขตเลือกตั้งติดๆ กันแล้วจำเอามากากบาทในเขตตัวเอง อาจจะเลือกผิดคน เลือกผิดพรรคได้ ทางที่ดีก่อนเข้าคูหาตรวจสอบหมายเลขผู้สมัครที่ต้องการเลือกให้แน่ใจอีกครั้งที่บอร์ดหน้าหน่วยลงคะแนนของตัวเอง หรือถ้าชื่นชอบพรรคใดให้จำโลโก้พรรคให้แม่น

ข้อห้ามสำหรับวันเลือกตั้ง

ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ตั้งแต่หกโมงเย็นของวันก่อนเลือกตั้ง ถึงเวลาหกโมงเย็นของวันเลือกตั้งหรือตั้งแต่หกโมงเย็นวันที่ 23 มีนาคม 2562 ถึงหกโมงเย็นของ วันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ไม่ได้ห้ามการดื่มสุรา

ห้ามเผยแพร่ผลโพลในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดหีบ(17.00น.ของวันเลือกตั้ง) ห้ามเฉพาะการเผยแพร่ผล กลัวจะเป็นการชี้นำ แต่ไม่ได้ห้ามทำโพลสำรวจความคิดเห็น

ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายแล้วแต่ไม่ได้ห้ามถ่ายภาพอื่นๆ เป็นที่ระลึกเมื่อไปลงคะแนนเสียง

ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สะดวกไปเลือกตั้ง

ถ้าวันเลือกตั้งไม่ว่าง
ต้องเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตอื่น

สำหรับคนที่ไม่ว่างในวันที่ 24 มีนาคม 2562 สามารถยื่นคำขอเลือกตั้งก่อนล่วงหน้าได้ แต่จะต้องไปใช้สิทธิที่เขตอื่น ไม่สามารถเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตของตัวเองได้ เว้นแต่มีคำสั่งของราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่น แต่สามารถเลือกเขตอื่นที่อยู่ใกล้บ้านได้

สำหรับวันเลือกตั้งล่วงหน้ากำหนดไว้วันที่ 17 มีนาคม 2562 โดยต้องไปยื่นเองที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือจะยื่นทางไปรษณีย์ หรือทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ ต้องยื่นระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะถือตามวันที่ประทับตราเป็นสำคัญ

หากลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้วไปไม่ได้ จะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งทั่วไปได้ ทำให้เสียสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ไป แต่สามารถไปแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิแทนได้

ถ้าวันเลือกตั้งไม่สะดวกกลับบ้าน
ขอเลือกตั้งนอกเขตได้

ผู้ที่ไม่ได้อยู่อาศัยจริงตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเลือกตั้งตามที่อยู่ที่ตัวเองมีสิทธิ สามารถขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้ แล้วไปใช้สิทธิในพื้นที่ ที่เดินทางสะดวกแทน

โดยต้องยื่นคำขอที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือยื่นทางไปรษณีย์ หรือทางอินเทอร์เน็ตระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยการส่งทางไปรษณีย์จะถือตามวันที่ประทับตราเป็นสำคัญ

สำหรับวันเลือกตั้งนอกเขตกำหนดไว้วันที่ 17 มีนาคม 2562 หากลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้วไปไม่ได้ จะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งทั่วไปได้ ทำให้เสียสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ไป แต่สามารถไปแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิแทนได้

ถ้าอยู่ต่างประเทศ
ขอเลือกตั้งจากต่างประเทศก็ได้

ผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศระหว่างมีการเลือกตั้งสามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกราชอาณาจักรได้ที่สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลประจำประเทศนั้นๆและสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ได้ ระหว่างวันที่28 มกราคม - 19 กุมภาพันธ์ 2562

สำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 4 - 16 มีนาคม 2562 จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ผู้ที่จะใช้สิทธิในต่างประเทศต้องติดตามข่าวจาก กกต. หรือสถานทูตไทยในประเทศที่ตัวเองอาศัยอยู่

ถ้าจะไม่ไปจริงๆ
แจ้งเหตุขัดข้องก่อนนะ

สำหรับคนที่ติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถไปออกเสียงเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 สามารถไปแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิได้ที่หน่วยทะเบียนราษฎร(หน่วยออกบัตรประชาชน)ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ไปที่สำนักงานเขต ผู้มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอื่นให้ไปที่ ที่ว่าการอำเภอ ภายในเจ็ดวันก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง คือระหว่างวันที่ 17 - 31 มีนาคม

โดยพิจารณาจาก มีธุระเร่งด่วน เจ็บป่วย พิการ ทุพลภาพ ผู้อยู่ต่างประเทศ หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้ มีถิ่นอาศัยอยู่ไกล หรือตามเหตุสุดวิสัยอื่น

หากไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุหรือแจ้งเหตุแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ใช่เหตุอันควร จะเสียสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้ง สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีกำหนดครั้งละสองปีนับจากวันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไป เว้นแต่ระหว่างเวลาดังกล่าวมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น และผู้ถูกตัดสิทธิไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การตัดสิทธิจากการเลือกตั้งครั้งก่อนก็เป็นอันเลิกไป

บทที่ : 2
เข้าใจระบบเลือกตั้งก่อนตัดสินใจกา
อ่านต่อ ⇨